เอเจนซี-เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานวางแผนพัฒนาชนบทจีน เผยยอดว่างของกลุ่มแรงงานอพยพ จะสูงถึง 20 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถึง 3 เท่า
นาย เฉิน ซีเหวิน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานพัฒนาชนบทแถลงต่อที่ประชุมข่าวในกรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์(2 ก.พ.) ว่าสถานการณ์ว่างงานจีนดูยิ่งเลวร้าย สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมีแนวโน้มว่าแรงงานอพยพจากเขตชนบท ประมาณ 20 ล้าน จะตกงาน หรือไม่ก็ไม่อาจหางานใหม่หลังจากถูกปลดออกจากงาน คนกลุ่มนี้ จะต้องกลับบ้านอย่างไม่มีทางเลือก
ตัวเลขการว่างงานนี้ สูงกระฉูดมากกว่าตัวเลขยอดว่างงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติประมาณการณ์ไว้ในเดือนที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านคน
เฉินกล่าวเสริมว่าตัวเลขยอดคนตกงาน 20 ล้านคนนี้ คำนวณจากการสำรวจของกระทรวงเกษตรเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากหมู่บ้าน 150 แห่ง ในมณฑลต่างๆ 15 มณฑล
ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้อาศัยในเขตชนบท เกือบ 130 ล้านคน ได้ออกมาหางานทำในเขตเมืองต่างๆ ในแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก และขณะนี้ ตลาดส่งออกรุ่นดั้งเดิมของจีน ได้แก่ ยุโรป และอเมริกาเหนือ กำลังตกอยู่ในภาวะถดถอย ความต้องการจากตลาดเหล่านี้ดิ่งเหว ส่งผลให้โรงงานจีนปิดตัวกันระเนระนาด
ขณะเดียวกัน ผู้นำจีนเตือน ปี พ.ศ. 2552 นี้ จะเป็นปีที่จีนเผชิญความยากลำบากในการปฏิรูปชนบทมากที่สุด โดยขณะนี้ ชนบทจีน นอกจากตกอยู่สภาพล้าหลังกว่าเขตเมืองแล้ว ยังมีปัญหาอัตราว่างงานสูง
คำเตือนดังกล่าว ซึ่งระบุไว้ในเอกสารนโยบายอย่างกว้างขวางฉบับแรกของจีน ที่คณะมุขมนตรี และคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยสำนักข่าวซินหัวนำออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์(1 ก.พ.)
“การพัฒนาเขตชนบทและภาคเกษตรกรรมในปี 2552 นี้ มีความสำคัญมาก เนื่องจากเขตชนบทมีประชากรมากถึง 800 ล้านคน” ซินหัวอ้างรายงานฯ
ก่อนหน้ารัฐบาลกลางออกนโยบายมุ่งปฎิรูปภาคชนบท โดยผลักดันแผนประกันสังคม ขยายการคุ้มครองสิทธิการใช้ที่ดินแก่เกษตรกรและสิทธิการทำงานของแรงงานอพยพ เอกสารดังกล่าวยังเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นออกมาตรการสร้างงาน และเพิ่มรายได้แก่ชนบท ทั้งนี้ ทั้งประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ได้กำหนดให้การลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท เป็นภาระอันดับต้นๆของรัฐบาล
ทั้งนี้ ปัญหาว่างงานจะสร้างความเสี่ยงในการจุดชนวนความวุ่นวายทางสังคมมากที่สุด รัฐบาลจีนพยายามรักษาอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่ำร้อยละ 8 มิฉะนั้น จะมิอาจกระตุ้นการจ้างงานแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ขณะที่การเศรษฐกิจไตรมาสสี่ โตร้อยละ 6.8 โดยการเติบโตทั้งปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 9.