เอเจนซี – นิตยสาร Food Control ระบุ ผลิตภัณฑ์นมผงของเด็กทารกส่วนใหญ่ในจีนปนเปื้อนสารเบนโซอิก(สารกันบูด) ในระดับหนึ่ง นักวิชาการหวั่นเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว
นิตยสารต่างประเทศ Food Control ฉบับล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ตีพิมพ์ผลการศึกษาของนักวิชาการชี ผิง จากสถาบันควบคุมความปลอดภัยของอาหารประจำกว่างโจว(กวางเจา) ซึ่งระบุว่าจากการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมจากร้านค้าและซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไปในเมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 – เดือนมกราคม 2550 จำนวน 142 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบไปด้วยนมยูเอชที 45 ตัวอย่าง, นมพาสเตอร์ไรส์ 24 ตัวอย่าง, และนมผง 31 ตัวอย่าง พบว่ามี 109 ตัวอย่างในจำนวนดังกล่าวมีการปนเปื้อนสารเบนโซอิก (สารกันบูด) หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 76.8 %
จากผลการศึกษาของชี ผิงระบุว่า นมแบบพาสเจอไรส์มีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งจาก 24 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของสารกันบูดเพียง 11 ตัวอย่าง หรือมีปริมาณอยู่ที่ 0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะที่นมยูเอชทีและนมผงของทารกมีปริมาณการปนเปื้อนของสารกันบูดที่ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งท้ายที่สุดผลสรุปของการศึกษากรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์นมผงและนมแบบยูเอชทีที่ผลิตในประเทศจีนมีการปนเปื้อนสารเบนโซอิกอย่างแพร่หลาย แต่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ
กระนั้น คณะผู้วิจัยแสดงความเห็นว่า ถึงแม้ผลการศึกษาจะแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของจีนมีปริมาณสารกันบูดในเกณฑ์ต่ำ และไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป แต่สำหรับผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กทารกที่มีปฏิกิริยาตอบรับไวกว่าผู้ใหญ่จึงเกรงว่าหากบริโภคระยะยาวจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก กระทบต่อการเจริญเติบโต และเรียกร้องให้ทางการดำเนินการตรวจสอบต่อไป
อย่างไรก็ตามคณะผู้วิจัยไม่ได้เปิดเผยถึงยี่ห้อสินค้าที่นำมาทำการศึกษาในครั้งนี้ต่อผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ กรดเบนโซอิก หรือ สารกันบูดเป็นสารเคมีที่พบได้ในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งใช้เพื่อป้องกันอาหารเน่าเสีย แต่สำหรับในอุตสาหกรรมนมนั้น องค์การอาหารและยาของจีนกำหนดห้ามใช้เป็นส่วนผสม ถึงแม้ว่าจะมีความปลอดภัยระดับหนึ่งเมื่อเติมลงในอาหาร ทว่าในผลิตภัณฑ์นมซึ่งเป็นอาหารหลักของทารกนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งเกินกว่าสุขภาพของทารกจะรับได้