เอเอฟพี - กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจีนเผย ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศยังคงรุนแรง จี้รัฐบาลท้องถิ่นใช้มาตรการกดดันผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษไม่เพียงพอ
ความพยายามของทางการในการดำเนินการเอาผิดทางกฏหมายกับผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมเช่น อากาศ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำต่างๆ ยังไม่ครบอคลุมทั่วประเทศ จาง ลี่จวินรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมจีนระบุเมื่อวันอังคาร( 23 ก.พ.)
"ปัญหาของสถานการณ์สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้" จาง กล่าวในการประชุมการควบคุมมลพิษซึ่งจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้
จางกล่าวว่า ในปีที่แล้วสำนักงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินงาน ทว่าการบังคับใช้ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ยังขึ้นต่อรัฐบาลแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ทั่วประเทศจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกดดันกับผู้ประกอบการเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รัฐบาลท้องถิ่นบ่อยครั้งที่หน้ามืดเพราะผลประโยชน์ที่ได้รับส่วนใหญ่ล้วนมาจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
จากข้อมูลของกลุ่มสังเกตการณ์รายงานว่า เกือบร้อยละ 15 ของแม่น้ำสายหลักในประเทศจีนเช่นแม่น้ำแยงซีเกียง หรือแม่น้ำเหลือง(ฮวงโห) มีคุณภาพน้ำแย่ที่สุดในระดับ 6 ตามมาตรฐานจีน และเกือบร้อยละ 40 ของแหล่งน้ำในทะเลสาบสำคัญ 28 แห่ง ในประเทศ ก็กำลังแย่ลงในระดับเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพน้ำในจีนสกปรกเกินกว่าที่นำมาใช้ในระบบชลประทาน ยิ่งกว่านั้นแหล่งน้ำและน้ำประปาในเขตเมืองร้อยละ 90 ก็ถือว่าปนเปื้อน
ขณะเดียวกัน ค่าเฉลี่ยของคุณภาพอากาศจาก 2 ใน 5 ส่วน ของเมืองสำคัญ 320 เมืองภายในประเทศก็กำลังเข้าสู่ขั้นรุนแรง อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจในเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 สำนักข่าวซินหัวรายงาน
กรณีล่าสุดแหล่งน้ำในเมืองเหยียนเฉิง มณฑลเจียงซูทางภาคตะวันออกของประเทศ ก็ได้รับผลกระทบแหล่งน้ำเน่าเสีย ซึ่งเกิดจากความมักง่ายของโรงงานเคมีแห่งหนึ่งในท้องถิ่นที่ปล่อยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม กรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2548 โรงงานปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำซงฮวา ซึ่งไหลผ่านมณฑลเฮยหลงเจียง และนับเป็นอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุด ที่ทำให้ประชาชนนับล้านคนล้มป่วยเพราะบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าว