xs
xsm
sm
md
lg

‘ฮิลลารี่’เตรียมชูประเด็นร้อนเจรจาจีน เตือนจีนอาจส่งจนท.ระดับล่างมาแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จับมือกับนายทาโร่ อาโสะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างที่เธอเดินทางเยือนกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนที่เธอจะเดินทางเยือนประเทศอื่นๆ อีก อาทิ อินโดนิเซีย เกาหลีใต้ และจีน - เอเอฟพี
เอเยนซี่ – ‘ฮิลลารี่’ เดินทางเยือนจีน หวังเปลี่ยนทิศทางความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไม่เน้นเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่จะนำปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาขึ้นโต๊ะเจรจาด้วย นักวิเคราะห์ระบุ หากโดนรุกหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนและทิเบต จีนอาจจะลดความสำคัญของการเจรจา

เมื่อนางฮิลลารี่ ร๊อดแฮม คลินตัน สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว เธอทำให้ผู้คร่ำหวอดเรื่องนโยบายต่างประเทศต้องกังขาด้วยการประกาศว่า ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับจีนถือว่าสำคัญที่สุดในศตวรรษนี้

ในการเดินทางเยือนจีนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นางคลินตันจะมาในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เลือกเดินทางมาเยือน 4 ชาติเอเชียเป็นแห่งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และจีน โดยนางคลินตันและเจ้าหน้าที่รายอื่นๆ ในรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ประกาศว่าต้องการเห็นความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ คืบหน้า และยังต้องการหาลู่ทางความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดคือ สหรัฐฯ และชาติเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกคือจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และด้านสิ่งแวดล้อม

ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเอเชียในมหานครนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นางคลินตันระบุว่า “บางคนเชื่อว่าประเทศจีนที่กำลังรุ่งเรืองนี้คือคู่ต่อสู้ของสหรัฐฯ หากแต่เราเชื่อว่า สหรัฐฯ และจีนต่างเอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกันอันเกิดจากความสำเร็จของทั้ง 2 ประเทศ เรามีผลประโยชน์ร่วมกันในการที่จะทำงานหนัก”

แต่ในสายตานักวิเคราะห์มองว่า ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ถึงเป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศไม่กี่อย่างของอดีตประธานาธิบดีบุชที่ประสบความสำเร็จ หากแต่นางคลินตันมองว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีบุชมีเพียงเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่ได้ครอบคลุมเนื้อหาที่กว้างกว่านั้น

เมื่อสิบสี่ปีที่แล้ว นางฮิลลารี่ คลินตัน เคยเดินทางมาเยือนจีนพร้อมด้วยนายบิล คลินตัน ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ในครั้งนั้นเธอได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมกลุ่มสตรีที่กรุงปักกิ่ง และได้กล่าวโจมตีจีนในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องสิทธิสตรี โดยเฉพาะนโยบายที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้ผู้หญิงมีลูกได้คนเดียว

เมื่อรัฐบาลจีนได้ปราบปรามชาวทิเบตที่ลุกขึ้นมาประท้วงเมื่อปีที่แล้ว เธอก็ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีบุชคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ยังได้วิจารณ์นโยบายด้านการค้าและการเงินของจีน โดยเฉพาะการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมาก ซึ่งเธอบอกว่าการกระทำเช่นนี้ของจีน ถือเป็นการกัดกร่อนอธิปไตยด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ ของรัฐบาลจีนมีมากถึง 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (245 ล้านล้านบาท) ซึ่งนักลงทุนมองว่า จีนมีศักยภาพที่จะงัดข้อกับสหรัฐฯได้หากความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเลวร้ายลง แต่เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์ในนิวยอร์กมองว่า จีนมีทางเลือกน้อยมากและจำเป็นจะต้องซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ต่อไป

เตรียมชูประเด็นร้อนมาพูดคุย

นางคลินตันมองว่า ประเด็นอันซับซ้อนที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์กับจีนนั้น จะปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐกิจดังเช่นรัฐบาลนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ปฏิบัติมาแล้วไม่ได้ แต่จะต้องปล่อยให้นักการทูตชั้นนำของประเทศทำหน้าที่นี้

สำหรับประเด็นที่นางคลินตันต้องการเปิดเจรจากับจีนในการเดินทางไปเยือน มีอาทิ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เรื่องพลังงาน เรื่องสิทธิมนุษยชน และการที่จีนกดดันทิเบต

นางคลินตันยังพยายามที่จะเร่งข้อตกลงครั้งใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถือเป็นประเด็นที่มีความยากลำบากต่อทั้ง 2 ฝ่าย นางคลินตันเพียงแค่ต้องการทำให้รัฐบาลจีนเห็นว่าเธอสนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้หวังผลสำเร็จอะไร

นายจิน ฉานหรง รองผู้อำนวยการศูนย์กลางอเมริกันศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยประชาชน ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า สุนทรพจน์ของนางคลินตันคงไม่ส่งผลต่อทัศนคติของผู้นำจีนที่มีต่อเธอ“ประชาชนเข้าใจดีว่า การใช้วาทศิลป์เพื่อการปราศรัย กับการปฏิบัติตามนโยบายของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการนั้น บางครั้งก็ไม่เหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม นายชู ซู่หลง ยังบอกอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ก็เริ่มต้นได้ไม่ค่อยดีนัก ด้วยข้อกล่าวหาจากนายไกธ์เนอร์ ว่าจีนทำการแทรกแซงค่าเงิน ตามมาด้วยร่างกฎหมายแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีข้อกำหนด “ซื้อสินค้าอเมริกัน” ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ซึ่งก็ได้สร้างความกังวลให้แก่จีนเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ว่าสหรัฐฯ จะเดินหน้ากีดกันทางการค้าเป็นอันดับต่อไป

เตือนเจรจาเรื่องอ่อนไหวอาจไม่บรรลุผล

ด้าน นายดริว ทอมป์สัน นักวิเคราะห์จากศูนย์การศึกษานิกสัน กล่าวว่า นางคลินตันเสี่ยงเกินไปที่จะหยิบยกประเด็นที่เต็มไปด้วยการถกเถียงมาเจรจากับจีน เพราะทางรัฐบาลจีนอาจจะลดความสำคัญของการเจรจา โดยไม่ส่งรองนายกรัฐมนตรีมาเจรจาด้วยแต่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่มีบทบาทตัดสินใจมาแทน

แม้ว่าที่ผ่านมาจีนพยายามจำกัดบทบาทของตนในเวทีต่างประเทศ แต่ภายใต้ความกดดันจากชาติตะวันตก จีนดูเหมือนจะปรับทิศทางในเรื่องนี้ โดยเห็นได้จากการที่จีนมีอิทธิพลต่อรัฐบาลซูดานในการยุติวิกฤตการณ์ในกรุงดาฟู และเหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจแก่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คือปฏิบัติการเมื่อปีที่แล้ว ที่จีนระดมกำลังจากกองทัพเรือเพื่อต่อสู้กับการปล้นสะดมเรือในน่านน้ำของโซมาเลีย

“หากนางคลินตันประสบความสำเร็จในการเจรจาให้จีนร่วมมือมากขึ้น ก็ถือว่าเธอได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไว้ในประวัติศาสตร์” นายทอมป์สันระบุ.
ฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ - ทาโร่ อาโสะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น