xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตเศรษฐกิจเปิดโอกาสทองแก่เซี่ยงไฮ้

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ผู่ตง เขตพัฒนาเศรษฐกิจเปิดแห่งใหม่ในเซี่ยงไฮ้ เขตนี้เริ่มก่อร่างมาในทศวรรษที่ 1990 เป็นศูนย์กลางพาณิชย์และการเงินของประเทศจีน เป็นที่ตั้งเขตการค้าและการเงินลู่เจียจุ่ย โดยอาคารตึกสูงระฟ้า ได้แก่ ตึกไข่มุกตะวันออก (Oriental Pearl Tower), ตึกจินเม่า,  และเซี่ยงไฮ้ เวิร์ลด์ ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์ หรือ SWFC สะท้อนบทบาทมหานครเซี่ยงไฮ้ และการพัฒนาที่รวดเร็วของจีน-ภาพวิกิพีเดีย
ก่อนหน้าผู้คนที่หวังสร้างอนาคตความมั่งคั่ง ต่างดิ้นรนไขว่คว้า “ฝันอเมริกัน” และ วอลสตรีท ศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลก ก็เป็นแหล่งขุดทองที่เย้ายวนที่สุดสำหรับกลุ่มผู้มีความรู้ความสามารถทั่วโลก เหล่ายอดฝีมือหัวกระทิจำนวนไม่น้อยของจีน ต่างก็หลั่งไหลเข้ามาสร้าง “ฝันอเมริกัน” กันที่นี่เช่นกัน

ขณะที่ศูนย์กลางการเงินในมหานครเซี่ยงไฮ้ พยายามดึงดูดบุคลากรมีฝีมือ เข้ามาช่วยผลักดันภาคการเงินการธนาคารและตลาดให้เจริญก้าวหน้า โดยมีรัฐบาลกลางช่วยออกมาตรการกวักเรียกมันสมองจีนกลับบ้านมาหลายปี แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจนัก

แล้วโอกาสในการดึงมันสมองจีนกลับบ้านก็มาถึง ในต้นปี 2007 เมื่อวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา เริ่มสำแดงเดช จากนั้นปฏิกิริยาโดมิโน ก็ผลักบรรษัทข้ามชาติรายใหญ่ ทยอยซวนเซและล้มครืน ปลดพนักงานกันเป็นเบือ โดยขณะนี้ ร้อยละ 20 ของพนักงานในวอลสตรีท ต้องตกงาน และยังมีแนวโน้มว่ากลุ่มที่กินตำแหน่งใหญ่อีก 40,000 คน จะถูกเลิกจ้าง และถ้าบวกกับพนักงานในภาคบริการของโครงสร้างการเงินในวอลสตรีทด้วยแล้ว ตัวเลขผู้ตกงานในวอลสตรีท อาจมากถึง 120,000 คน

สืบเนื่องกฎหมายแดนอินทรีนั้น ให้การคุ้มครองสิทธิการทำงานหลักประกันชั้นหนึ่งแก่พลเมืองอเมริกันและกลุ่มผู้อาศัยถาวร ดังนั้น กลุ่มพนักงานที่จะถูกโละเป็นอันดับต้นๆได้แก่ กลุ่มชาวต่างแดน ที่ถือ วีซ่า HIB(วีซ่าทำงานระยะสั้น) พวกที่รอการอนุมัติกรีนการ์ด และชาวต่างชาติอื่นๆ

TedHong ผู้อำนวยการบริษัท Beyondbond ชาวจีนโพ้นทะเล ที่ทำงานและประสบความสำเร็จในวอลสตรีทมานานถึง 20 ปี เล่าว่ากลุ่มผู้จัดการชาวจีนเป็นเป้าหมายปลดออกจากงานอันดับแรกๆ “ชาวจีนที่สามารถไต่ขึ้นมาถึงระดับผู้จัดการได้นั้น น้อยอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตสั่นคลอนการเงินขึ้น กลุ่มผู้จัดการชาวจีนจะพากันหนาวๆร้อนๆ เนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม และภูมิหลังของประเทศบ้านเกิด ที่เข้ากับฝรั่งไม่ค่อยได้

โจว หมิง ชาวจีนโพ้นทะเล ที่คร่ำหวอดในวอลสตรีทมา 8 ปี ประสบความสำเร็จเป็นที่อิจฉาของเพื่อนๆ รายรับต่อปีสูงถึง 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ ในตำแหน่งที่ปรึกษาระดับสูงของ 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ธนาคารเพื่อการลงทุน แบร์ สเทิร์น เมื่อแบร์ สเทิร์น ล้ม “มันเหมือนกับฝันร้าย แม้จะย้ายมาอยู่ที่ JP Morgan Chase ได้นั่งในตำแหน่งเดียวกับบรรษัทเดิม แต่ผมก็ยังอิจฉาเพื่อนๆที่กลับบ้านเกิดในปีสองปีที่ผ่านมา”

“ในเมื่อรู้ว่าเรือใกล้จะจมอยู่แล้ว ทำไม่ไม่เปลี่ยนเรือเสียล่ะ? ใน 2-3 ปี ข้างหน้าจีดีพีของอเมริกาก็ยังคงอยู่ในแดนลบ” โจวหมิงกล่าวด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล

เวลานี้ จีน ดูจะเป็นที่กำบังหลบพายุของกลุ่มหัวกระทิจากวอลสตรีท เนื่องจากสถานการณ์ด้านมหภาคที่ยังดูมีเสถียรภาพมากกว่า CEO “เหรินเหรินกงหว่าง” (仁人成功网 Rr-success.com ) นาย หลิว อู่ ชี้กระแสความเชื่อทั่วไปว่า จีนมีความสามารถพอที่จะฝ่าพายุร้ายครั้งนี้ กระทั่งกลุ่มสื่อต่างแดนหลายรายต่างก็เห็นพ้องกันในจุดหนึ่งว่า จีนจะเป็นฝ่ายได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากวิกฤตครั้งนี้

เกจิการเงิน จิม โรเจอร์ ปลุกกระแสเซี่ยงไฮ้

“ทุกครั้งที่โลกทุนนิยมเผชิญวิกฤต เซี่ยงไฮ้มักเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์” เกจิด้านการเงินแห่งอังกฤษ จิม โรเจอร์ กล่าว

ปัญหาขาดแคลนบุคลากรเสมือนหนอนบ่อนไชรากฐานความเจริญก้าวหน้าในภาคการเงินมหานครเซี่ยงไฮ้มาตลอด ขณะที่กลุ่มผู้บริหารสูงสุดของเซี่ยงไฮ้พยายามมานานในการดึงดูดผู้มีฝีมือความสามารถแต่ก็ได้ผลไม่มากนัก

เมื่อวิกฤตการเงินเปิดฉากขึ้น เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ได้หวนนึกถึงประวัติศาสตร์วิกฤตเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาก้าวหน้าของเซี่ยงไฮ้ และคำพูดของ นาย จิม โรเจอร์ “ทุกครั้งที่โลกทุนนิยมเผชิญวิกฤต เซี่ยงไฮ้มักเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์”

ระหว่างเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (Great Depression) ระหว่างปี ค.ศ. 1929-1933 ทุนก้อนใหญ่ก็ได้ไหลเข้ามายังเซี่ยงไฮ้ นักผจญภัยต่างแดนก็เริ่มทะลักเข้ามายังเซี่ยงไฮ้ ตึกไหว้ทัน ตึกเหอผิง และตึกจิ่นเจียง ต่างก็ได้ผุดขึ้นในเวลานั้น

ต่อมาในปี ค.ศ.1980-1982 เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก เซี่ยงไฮ้ก็ได้ตะลุยบุกเบิกโครงการใหม่ๆ ทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าสู่มหานครแห่งเซี่ยงไฮ้ไม่หยุดหย่อนในช่วงนั้น

ปีค.ศ. 1997 ขณะที่ภูมิภาคเอเชียเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ จีนสามารถรักษาเสถียรภาพเงินเหรินเหมินปี้ไว้ได้ เวลานั้น ทุนต่างชาติยิ่งทบทวี และได้สร้างจุดเปลี่ยนการพัฒนาผู่ตง สถานภาพเขตการเงินลู่เจียจุ่ยได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง ก็ในช่วงนี้

มาถึงวิกฤตการเงินเที่ยวนี้ กลุ่มผู้บริหารจัดการจำนวนมากที่กำลังแสวงหา “มันสมองนอก” ก็ได้ปลุกผู้ปกครองมหานครเซี่ยงไฮ้ “ขณะนี้ ตะวันตกกำลังเผชิญวิกฤต ธนาคารปิดกิจการ แต่เงินในมือของเอกชนยังมีอยู่มาก และควรจะดึงออกมาใช้ ทุกสายตาได้มองมาที่ตะวันออก และหลักประกันที่จะพึ่งได้มากที่สุดก็คือจีน ในปีค.ศ. 2010 เซี่ยงไฮ้จะเป็นเจ้าภาพจัดเวิรล์ด เอ็กซ์โป ผมคะเนว่า ตอนนี้ตะวันตกกำลังช่วงชิงเข้ามาหาโอกาสในเซี่ยงไฮ้ นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดอีกครั้งสำหรับเซี่ยงไฮ้ที่จะได้แสดงศักยภาพของตัวเอง”

ทว่า โอกาสได้มาถึงแล้วจริงหรือ? กลุ่มผู้จัดการในเมืองชี้ว่าโอกาสที่ว่านี้ มิใช่เพียงทุนเท่านั้น คือความสามารถคนด้วย

จากนั้น กลุ่มผู้บริหารมหานครและเขตผู่ตงใหม่ก็เริ่มเดินไปตรวจสอบสถานการณ์ในลอนดอน นิวยอร์ก ดูการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มภาคการเงิน และเตรียมการสำหรับแผน “ช้อปปิ้งความสามารถคน”

เดินสายช้อปปิ้งบุคลากร

เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ประกาศจัดตั้งทีมเดินสายรับสมัครงาน ไม่นาน กลุ่มสถาบันองค์กรในภาคการเงินของมหานครเซี่ยงไฮ้ 27 ราย ก็ตอบรับอย่างรวดเร็ว ก่อนออกเดินทาง พวกเขาได้หน่วยรับสมัครตำแหน่งงาน 170 หน่วย ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและจัดการความเสี่ยง การจัดการสินทรัพย์ และตำแหน่งงานเฉพาะด้านของผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆอีก 15 ประเภท โดยแบ่งกลุ่มไปยังมหานครลอนดอน ชิคาโก และมหานครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 5-14 ธันวาคม 2008

ในสนามรับสมัครงานก็เต็มไปด้วยผู้คนเกือบ 2,000 คน ผู้ที่มาสมัครงาน ไม่เพียงแต่ชาวจีน ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่ที่รู้ภาษาจีนมากรอกใบสมัครมากอย่างเกินความคาดหมาย”

หลี่ว์ หง ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ประจำChina Union Pay ได้เล่าถึงความประทับใจเมื่อครั้งที่ออกบู๊ทรับสมัครงานที่นิวยอร์ก “วันนั้น เป็นวันที่หนาวมากที่สุดวันหนึ่ง จุดที่รับสมัครงานก็ไกลจากใจกลางเมือง พวกเราคิดว่าบู๊ทรับสมัครงานจะเงียบเหงา แต่ในวันที่สองกลับมีผู้คนถึง 1,000 คน เข้าแถวยาว หลายคนต้องขับรถ 2-3 ชั่วโมงมายังที่นี่”
ภาพมุมสูง เซี่ยงไฮ้ เวิร์ลด์ ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์(SWFC) ท่ามกลางนครผู่ตง  เซี่ยงไฮ้ทุ่มทุน 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนรมิตอาคารสูง 101 ชั้นที่สูงที่สุดในจีนขึ้นมา และเพิ่งเปิดใช้เมื่อปีที่แล้ว อาคารสถาปัตยกรรมล้ำสมัยแห่งนี้ เป็นสัญลักษณ์ประกาศศักดาความรุ่งโรจน์แห่งยุคศตวรรษที่ 21 ของจีน ที่มีมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นหัวใจภาคการเงิน -ภาพเอเอฟพี
"ฝันจีน” ...ใกล้เข้ามา

ขณะนี้ เซี่ยงไฮ้กำลังพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างธุรกิจแห่งนวัตกรรม และกองทุนระดับสากล โดยสิ่งที่จะต้องบรรลุอันดับแรกคือ ดึงบุคลากรจีนกลับมายังจีน

ไม่เพียงประเทศจีน ขณะนี้ ทั้งญี่ปุ่น และอินเดีย ต่างก็จ้องแสวงหามือดีจากวอลสตรีท แต่การค้นพบบุคคลากรที่มีความสามารถสูงไม่ใช่เรื่องง่าย

เรื่องค่าตอบแทนไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ “ผู้ที่มีสมัครงานส่วนใหญ่ ไม่พูดถึงค่าตอบแทน พวกเขาหวังระดับเงินเดือนตามมาตรฐานประเทศจีน

ซือไห่หนิงผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานดูแลภาคการเงินเขตผู้ตงใหม่นครเซี่ยงไฮ้ ชี้ว่า “ความต้องการบุคลากรระดับสูง หรือระดับล่างนั้น ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นคนทำงานระดับทั่วไป คุณสามารถไปอเมริกา หางานเงินเดือน 3,000 เหรียญสหรัฐฯ ปีหนึ่งๆสามารถส่งเงินกลับบ้าน 2 แสนหยวน แต่สำหรับบุคลากรระดับสูง หากคุณอยู่ในอเมริกา ก็สามารถเป็นได้อย่างมากที่สุดก็ตำแหน่งนักวิเคราะห์ทั่วไป หรือไม่ก็ผู้บริหารระดับกลาง และต่ำลงมา แต่เมื่อกลับบ้าน ปรับตัวทำงานได้ดี ก็สามารถไต่ขึ้นมาเป็นผู้จัดการองค์กร อย่างน้อยก็สามารถเป็นผู้จัดการกองทุน เงื่อนไขก็ไม่ด้อยไปกว่าในอเมริกา คุณจะเลือกอะไร?”

“ความหนาวเหน็บ” ในวอลสตรีทยังคงอยู่อีกนาน ช่วงที่หฤโหดที่สุดยังมาไม่ถึง

ก่อนหน้า วิกฤตสินเชื่อจำกัดอยู่เพียงภายในระบบธนาคาร ไม่ลามมาถึงบริษัท “ราวเดือนกรกฎาคม สิงหาคม เมื่อปีที่แล้ว กองทุนเพื่อการลงทุนโลกจำนวนหนึ่ง ได้หยุดเคลื่อนไหว ? แต่โดยทั่วไป ระยะพักตัวของพวกเขาจะอยู่ที่ 1 ปี ไม่มีทางเกินกว่า 2 ปี ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่าทุนเพื่อการลงทุนจากต่างแดนจะขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2009 นี้ “นี่คือโอกาสแรกของจีน” ซือ ไห่หนิงชี้

เมื่อเงื่อนไขแรกเกิดขึ้นแล้ว โอกาสที่สองก็จะปรากฏ ระหว่างทัศนศึกษาในสหรัฐฯ ซือไห่หนิงพบว่า องค์กรแห่งนวัตกรรมหลายแห่งที่นั่น เมื่อเกิดความเสี่ยงในการลงทุนระยะแรกแล้ว ก็จะไม่ได้รับทุนในระยะที่สอง “แต่สำหรับจีน องค์กรแห่งนวัตกรรมใหม่ในจีน เมื่อพัฒนาไปแล้ว ก็จะไม่หยุด นอกจากนี้ เนื่องจากกองทุนระหว่างประเทศอาจไหลเข้าจีน ดังนั้น องค์กรนวัตกรรมในต่างแดนที่ล้มละลาย ก็จะมาตามทิศทางลม เข้ามายังจีนด้วย”

ส่วนโอกาสประการที่สาม คือการดึงดูดบุคลากรด้านการเงิน “จากที่ได้ไปเห็นสภาพการณ์สมัครงานที่นิวยอร์ก ลอนดอน และชิคาโก อย่างเช่น ที่วอลสตรีท มีบุคลากรกลุ่มใหญ่ ที่ก่อนหน้ายังไม่มั่นใจที่จะกลับมายังจีน อยากจะรอดูก่อน แต่ตอนนี้ คนจำนวนมากอยากกลับบ้าน แน่นอนการดึงดูดความสามารถคน และบรรลุเป้าหมายนั้น เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ต้องอาศัยเวลานาน แต่ใน 3 ถึง 5 ปี ก็จะเห็นผลชัดเจน” ซือ ไห่หนิงกล่าว.

แปลเรียบเรียงจากหนันฟางเดลี่
กำลังโหลดความคิดเห็น