วินาทีนี้พบเจอใครๆ ต่างก็อวยพรกันเป็นภาษาจีน “ซินเจียยู่อี่ ซินนี่ฮวดไช้” กันเป็นแถว ชาวบ้านร้านตลาดที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ต่างก็แต่งชุดแดงรับความโชคดี โดยเฉพาะแถบไชน่าทาวน์เยาวราช ยิ่งพรึ่บพรั่บไปด้วยสีแดงและสีทองสวยงามน่าดู และสำหรับผู้ที่กำลังหาที่เที่ยวในช่วงตรุษจีนปีนี้ มีหนึ่งสถานที่ ที่พลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด!!!
วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นวัดที่อยู่คู่ชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ อย่าง “เยาวราช” มาช้านาน ล่าสุด “เจ้าคุณนักการศึกษา” อย่าง “พระเทพภาวนาวิกรม” หรือที่รู้จักกันในนาม “เจ้าคุณธงชัย” ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้จัดสร้างพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยได้มือออกแบบชั้นครูอย่าง “น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น” ศิลปินแห่งชาติเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง
วัดไตรมิตรได้จัดบริเวณพื้นที่ของชั้น 2 และ 3 ของพระมหามณฑปดังกล่าวให้เป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ด้วย และเมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนิน เพื่อทรงเปิดงานตรุษจีนที่วงเวียนโอเดียน เยาวราช จากนั้นก็ได้เสด็จฯมายังวัดไตรมิตร เพื่อทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทอดพระเนตรปักกิ่งเกมส์ ที่พระราชทานให้ทางศูนย์ประวัติศาสตร์ของวัด อัญเชิญมาจัดแสดงอีกด้วย
ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับความงดงามของภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ด้วยพระราชอัจฉริยะในสมเด็จพระเทพรัตนฯ 3 ชุด รวม 40 ภาพ แบ่งเป็นภาพชุดพิธีเปิดกีฬา ชุดบรรยากาศหมู่บ้านนักกีฬา และชุดบรรยากาศเมืองปักกิ่งในช่วงจัดกีฬา และรวมไปถึงของสะสมส่วนพระองค์อันเป็นของที่ระลึกที่ทรงซื้อมาจากงานปักกิ่งเกมส์ รวมไปถึงที่มีผู้ถวาย ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตามาสคอต คบเพลิงที่ระลึก ชุดกาน้ำชาและถ้วยปักกิ่งเกมส์ บัตรห้อยพระศอเข้าชมงาน ในสมเด็จพระเทพรัตนฯ ลายพระหัตถ์จากบันทึกส่วนพระองค์ ฯลฯ
ถัดจากห้องแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ก็จะถึงส่วนนิทรรศการถาวรของศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ โดยในพื้นที่ชั้น 2 จะจัดเป็นประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยจีน เริ่มจากส่วนแรกคือ “กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของชุนชนจีนที่สำเพ็ง และการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลในสมัยรัชกาลที่1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ผ่านทางบอร์ดนิทรรศการให้อ่านกันอย่างจุใจ
เดินมาอีกนิด เป็นการจัดแสดงแบบน่าสนุก คือดัดแปลงห้องแสดงข้อมูล เป็นท้องเรือสำปั้นหัวแดง อันเป็นพาหนะการเดินทางอพยพของชาวจีนโพ้นทะเล มีทั้งตุ๊กตาอับเฉา และข้าวของประดับฉากสวยงามดูมีชีวิต ยิ่งผนวกกับภาพฝนกระหน่ำ และเชือกเสากระโดงเรือที่ถูกฉายผ่านมอนิเตอร์ที่ติดไว้บนเพดาน ยิ่งทำให้บรรยากาศใต้ท้องเรือเสมือนจริงยิ่งขึ้น
ดูนั่นดูนี่เพลินจนสุดท้องเรือ จะไปโผล่ที่ท่าเรือศาลเจ้าเก่าจำลอง มีการจัดแสดงหุ่นเท่าคนจริง จำลองวิถีชีวิตลูกมังกรอพยพแบบต่างๆ ในตลาดสำเพ็งสมัยรัชกาลที่ 3 มีทั้งพ่อค้าขนมจุ๋ยก้วย, หาบก๋วยเตี๋ยว, ช่างวาดโคม, ร้านข้าวต้ม และร้านขายของแห้งจำพวกเก๋ากี้ พุทราแห้ง และกระเพาะปลาที่ทางผู้จัดใช้แอบกระซิบว่า ใช้ของจริงเพื่อความสมจริงอีกด้วย
ห้องต่อมาคือ “เส้นทางสู่ยุคทอง” จัดแสดงความรุ่งเรืองยุคต้นของชุมชนชาวจีนจากตลาดสำเพ็งสู่ย่านธุรกิจสมัยใหม่ที่ถนนเยาวราช มีการแสดงโมเดลขนาดใหญ่ กินพื้นที่รอบเยาวราชในยุครัชกาลที่ 5 และรอบๆ ห้องมีการแบ่งช่องแสดงโมเดลส่วนต่างๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น โรงงิ้ว ภัตตาคาร โรงพยาบาลคนจีน โรงเรียนจีนแห่งแรก กระทั่งโมเดลชุด “หนังสือพิมพ์กำแพง” ทำให้ผู้ชมจะได้เรียนรู้ถึงวิวัฒนาการการสื่อสารผ่านหนังสือพิมพ์ยุคแรกของคนจีนในดินแดนสยาม รวมไปถึงส่วนจำลองห้อง “ค้าข้าว” ในยุคที่การส่งออกข้าวรุ่งเรืองเฟื่องฟู
ผ่านเส้นทางสู่ยุคทอง ผู้ชมจะได้ศึกษา “ตำนานชีวิต” ผ่าน Hall of Frame แสดงตำนานชีวิตชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน ทั้งที่เป็นคนเล็กๆ ที่ประกอบอาชีพต่างๆ ในย่านเยาวราช กับแนวความคิด คติความเชื่อที่แตกต่างกันไป จนถึงคนใหญ่ๆ ผู้เป็นลูกหลานมังกรโพ้นทะเล ที่ขยันทำมาหากิน ประกอบคุณงามความดี จนประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างให้แก่ชนรุ่นหลังสืบไป
และถัดมาคือ “ไชน่าทาวน์วันนี้” ที่แสดงภาพสีสันอันจัดจ้านและวิถีชีวิตอันกระตือรือร้นของชุมนุมชาวจีนแห่งนี้
ปิดท้ายด้วยความชื่นฉ่ำหัวใจของทั้งชาวไทยและชาวจีน กับพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์อันเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ในพระราชอิริยาบถขณะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์ไทย-จีน
สำหรับศูนย์ประวัติศาสตร์ชั้น 3 ของพระมหามณฑปนั้น ได้จัดเป็นนิทรรศการแสดงประวัติของ “หลวงพ่อทองคำ” มีการจำลองส่วนพระเศียรแบ่งเป็นชั้นๆ ให้เห็นภาพชัดเจนในการหล่อ ตั้งแต่การปั้นขี้ผึ้ง หล่อทอง ลงรัก และโบกปูนทับอีกชั้นเพื่อป้องกันการเผาของข้าศึกศัตรู การจัดแสดงสื่อมัลติมีเดียจำลองภาพการกว้านยกองค์หลวงพ่อทองคำจนเชือกขาด หล่นลงมาและปูนกะเทาะ จนได้ทราบความจริงว่าพระปูนองค์นี้ มีเนื้อในเป็นทองคำ รวมถึงการจัดแสดงเชือกและเศษปูนที่กะเทาะออกมาด้วย
กิจกรรมการดีๆ มีความรู้เช่นนี้ ช้าหมดอาจจะอดชมได้ เพราะทางวัดจะเปิดให้ชมฟรีๆ ไม่คิดค่าผ่านประตู ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 8 กุมภาพันธ์ เพื่อร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น จากนั้นจะปิดและเปิดอีกทีในเดือนเมษายน ภายหลังจากที่วัดทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังจากนั้น ทางวัดจะเปิดพระมหามณฑปทุกชั้น รวมถึงชั้นบนสุด ที่เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำองค์จริงด้วย