xs
xsm
sm
md
lg

ชาผู่เออร์ จาก"ทองคำที่ดื่มได้"ถึงยุคฟองสบู่เเตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาผู่เออร์ชั้นดี 1 ก้อน (นน.ประมาณ 357กรัม) อาจมีราคาสูงกว่า 5,000 บาท
เอเจนซี -ถ้าหากประเทศซาอุดิอาระเบียมีน้ำมัน แอฟริกาใต้มีเพชร ความมั่งคั่งในประเทศจีนก็เกิดขึ้นได้ จาก ใบชา ที่ปกคลุมไปทั่วทิวเขาในอำเภอเมิ่งไห่ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ ชาผู่เออร์ มีชื่อเสียงกว้างไกล จนทำให้เกษตรกรสามารถซื้อรถคันเล็กๆได้ ผู้ผลิตชาหลายรายกลายเป็นเศรษฐี ชาวจีนหลายคนก็มีเงินเก็บสะสมเพิ่มขึ้นจากการซื้อขายเพาะปลูก ชาผู่เออร์

แต่หลังจากการล่มสลายของตลาดชา ที่ทำให้เกษตรกรและผู้ค้าชาจนลงอย่างฉับพลัน และทำให้ประเทศจีนต้องเรียนรู้บทเรียนอันเจ็บปวด ที่สะท้อนถึงถึงความโง่เขลา, ความโลภ และอันตรายของการเก็งกำไรในตลาดแบบฟองสบู่

“พวกเราเจ๊งกันถ้วนหน้า” ฝู เว่ย ผู้ค้าชาวัย 43 ปีที่รอดมาได้จากการแตกสลายของตลาดชาผู่เออร์ กล่าว

ด้วยกลิ่นรสอันหอมหวน และสรรพคุณช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล และบรรเทาอาการเมาค้าง ทำให้ ชาผู่เออร์ กลายเป็นเครื่องดื่มที่คอชา ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความมั่งคั่งของตน และบางคนก็ซื้อเก็บไว้เป็นการลงทุนอีกด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปี 2007 ราคาชาผู่เออร์ ที่หมักโดยตำรับสมัยราชวงศ์ถัง ได้เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว โดยชาผู่เออร์ชั้นดีที่สุด อาจมีราคาสูงถึง 150 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 ปอนด์

ด้วยเหตุนี้เอง เกษตรกร, ผู้ค้าชา และชาวจีนจำนวนมาก ต่างทุ่มเงินไปในธุรกิจชาผู่เออร์ จนทำให้ตลาดขยายตัวเป็นฟองสบู่ และเห็นถึงหายนะอยู่เลือนๆ แต่นักลงทุนส่วนมากก็ยังหลงเชื่อว่า ราคาชาผู่เออร์จะมีแต่ขึ้นไปเรื่อยๆ

“มีแต่คนบอกว่า ลงทุนเก็บชาผู่เออร์ ดีกว่าเก็บเงินสด ทุกคนคิดแต่ว่าจะรวยเเน่แล้ว” หวัง รั่วหยู ผู้ค้าชาในเขตสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ซึ่งเป็นแหล่งปลูกชาชั้นยอด กล่าว

ใบชา กลายเป็นการลงทุนแบบหนึ่งในจีนที่เฟื่องฟูขึ้นมาในยุคฟองสบู่ ไม่ต่างจากชนชั้นกลางที่ลงทุนในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ จนฉุดให้ราคาพุ่งสูงลิบลิ่ว ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกจะซัดเข้าจีน จนทำให้การส่งออกตกต่ำลง และกำไรหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ มลายหายไปในช่วงปีที่แล้ว

ในมณฑลหยุนหนาน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกชาผู่เออร์ ผู้ค้าชาและเกษตรกรต่างเจ็บปวดกันเป็นทิวแถว ภายหลังฟองสบู่ตลาดชาแตก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 1ใน3 ของผู้ผลิตชาที่มีกว่า 3,000 รายต้องปิดกิจการในไม่กี่เดือนนี้ เกษตรกรก็หันไปปลูกข้าวและข้าวโพดแทน ส่วนที่อำเภอเมิ่งไห่ ศูนย์การค้า 6 ชั้น ที่เคยเป็นศูนย์รวมของผู้ค้าชาหลายร้อยร้าน กลับกลายเป็นที่ที่เงียบเหงาที่สุด

“มีพวกเราไม่กี่คนที่รอดมาได้” คุณฝู พ่อค้าชาอายุ 43 ปี ที่มาเปิดร้านในศูนย์การค้าดังกล่าวบอก ซึ่งตอนนี้ศูนย์การค้ามีแทบจะว่างเปล่า ตู้เก็บชาผู่เออร์เริ่มมีใยแมงมุมเกาะเเล้ว ตอนนี้บรรดาผู้ค้าชาและเกษตรกรต่างขายชาไม่ออก วันๆได้แต่นั่งเล่นไพ่ สูบบุหรี่ และดื่มชาแบบไม่อั้น

การขึ้นและลงของราคาชาผู่เออร์ สะท้อนให้เห็นการขาดช่องทางลงทุน และความหละหลวมของรัฐบาลมณฑลหยุนหนาน

อู๋ ซีตวน เลขาธิการสมาพันธ์์การตลาดชาแห่งประเทศจีน เล่าถึงสภาพของตลาดชาที่ถูกปั่นกลายเป็นฟองสบู่ว่าเกิดจากบรรดาผู้ค้าส่งชาที่ไปเที่ยวโปรโมทว่า ผู่เออร์เป็นเหมือน “ทองคำที่ดื่มได้” และรับซื้ออย่างไม่อั้น บางครั้งให้ราคาสูงถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่เเล้ว

ข้างฝ่ายเกษตรกร ก็ปลูกชาเพิ่มขึ้นมาก โดยปริมาณการผลิตชาจากปี 2006 ถึงปี 2007 เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเป็น 100,000 ตัน ผู้ค้าชาบางรายขนส่งชามาจากมณฑลอื่น แล้วตีตราว่าเป็น “ชาผู่เออร์” เพื่อให้สามารถโก่งราคาขายได้หลายเท่า

แต่เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อจีน โดยการส่งออกลดลงอย่างคาดไม่ถึง ผู้ซื้อชาก็แทบจะหายไปจากตลาดเลยทีเดียว

ความจริงแล้ว ชาผู่เออร์ก็มีคุณสมบัติที่เหมาะกับการเก็งกำไร เพราะเป็นเครื่องดื่มที่องค์จักรพรรดิโปรดปรานและยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย ชาผู่เออร์ถูกคิดค้นขึ้นมา โดยพ่อค้าเร่บนหลังม้า ที่นำใบชาแห้งมาอัดเป็นก้อนเพื่อให้สะดวกต่อการขนส่ง ชาผู่เออร์จึงแตกต่างจากชาอื่นๆ เพราะยิ่งเก็บนานยิ่งรสดี โดยชาผู่เออร์ที่เก็บมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อาจขายได้ราคาสูงถึงหลายพันเหรียญสหรัฐฯต่อก้อน

หลายสิบปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมค้าชาได้พัฒนาไปจนคล้ายกับกระแสคลั่งไคล้ไวน์ในตะวันตก คนขายชาเริ่มคัดสรรใบชา โดยต้องเลือกพื้นที่ที่ปลูกชา กระบวนการหมัก การอัดเป็นก้อน บางครั้งอาจเลยเถิดไปถึงว่าดูว่าเป็น ชาที่เก็บในฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูร้อน (เชื่อกันว่า ชาที่เก็บในฤดูใบไม้ผลิจะมีรสชาติดีกว่า)

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจนในการตีราคาชา ผู้ค้าชาจำนวนมากก็ถูกหลอกได้ง่ายๆ

“ถึงแม้คุณจะศึกษาเกี่ยวกับชาผู่เออร์มาทั้งชีวิต ก็อาจไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ถูกต้องเสมอไป ผมถึงบอกกับผู้คนว่า ให้ซื้อชาที่ดื่มแล้วชอบในรสชาติ ไม่ต้องสนใจเรื่องอื่น"

สำหรับชาวบ้านที่อำเภอเมิ่งไห่ ชาผู่เออร์ สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างมาก พวกเขาสร้างบ้านสองชั้นพร้อมทีวีและตู้เย็น บางคนมีเงินจนไปเที่ยวปักกิ่งได้เป็นครั้งแรกในชีวิตก็เพราะการปลูกชา แต่ตอนนี้เรื่องกลับตาลปัตร ราคาชาผู่เออร์ ตกลงจนต่ำกว่า 1 ใน 10 ของช่วงที่ราคาสูงสุด ชาวบ้านบอกว่า ในยุครุ่งเรืองนั้น พ่อค้าจากมณฑลกว่างตงจะเดินทางมายังหมู่บ้านและรับซื้อผลผลิตชาทั้งหมด แต่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว พ่อค้าก็หายหน้าไปจนหมด

ส่วนที่ศูนย์ค้าชา ในเมิ่งไห่ เฉิน หลี่ เล่าว่า เขาซื้อชาไว้เป็นมูลค่ากว่า 580,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยก่อนที่ฟองสบู่ตลาดชาจะแตก โรงแรม ร้านอาหาร ธนาคารที่เมิ่งไห่ ต่างแออัดไปด้วยคนที่ทำธุรกิจค้าชา

“ตอนนั้นคุณจะเห็นคนเข้าแถว 4 - 5 ชั่วโมงที่ธนาคารเพื่อถอนเงินไปซื้อชา บางคนทะเลาะกันเพื่อเเย่งซื้อชา แม้แต่คนขับแท็กซี่ยังมีตัวอย่างชาไว้เสนอขายกับลูกค้า” เฉิน หลี่ เล่าย้อนบรรยากาศ

เฉิน หลี่ อาจเป็นคนโชคดี เพียงแค่ไม่กี่คน เพราะเขายังคงมีธุรกิจร้านอาหารของครอบครัวในต่างประเทศ ทำให้เขายังสามารถมองโลกในแง่ดีได้ว่า สักวันหนึ่งราคาชาผู่เออร์ ต้องกลับมาสูงขึ้นอีก เพราะตอนนี้ เกษตรกรเริ่มเลิกปลูก และหยุดเก็บชาแล้ว

ข้อดีของชาผู่เออร์ ก็คือ ยิ่งเก็บนาน ราคาก็ยิ่งมากขึ้น” เฉิน หลี่ กล่าวพร้อมรอยยิ้ม
กำลังโหลดความคิดเห็น