เอเอฟพี-รัฐสภาเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบตประกาศในวันนี้(19 ม.ค.) กำหนดให้วันที่ 28 มีนาคม เป็น “วันเลิกทาส” เป็นวันพิเศษของชาวทิเบตจะได้รำลึกและฉลองการปราบปรามกลุ่มกบฏนำโดยทะไล ลามะ และ “ปลดปล่อยทาส” ในดินแดน เมื่อ 50 ปีที่แล้ว
“ในวันที่ 28 มีนาคม 1959 ทาสชาวทิเบต ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ของประชากรในดินแดน ต่างได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ หลังจากที่รัฐบาลกลางได้ขับไล่กลุ่มกบฏติดอาวุธที่มีทะไล ลามะ และกลุ่มสนับสนุนของเขาหนุนหลังอยู่” สำนักข่าวซินหัวรายงาน
ทั้งนี้ จีนได้ส่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเข้าไปยังทิเบตในปี 1959 และได้ประกาศผนวกดินแดนเป็นของจีนในปี 1951 จีนประกาศว่ารัฐบาลได้ยุติการปกครองระบอบเทวาธิปไตยพุทธศาสนา ซึ่งเป็นระบบที่กำหนดให้ชาวทิเบตทุกคนเป็นทาส ยกเว้นกลุ่มชนชั้นนำทางศาสนา และได้ปลดแอกประชาชนทั่วไปสู่อำนาจปกครองตัวเอง
กลุ่มสื่อโลกได้เผยว่าการปะทะระหว่างกองกำลังจีน และกลุ่มต่อต้านอำนาจจีนในช่วงเวลานั้น เป็นศึกนองเลือดใหญ่ครั้งหนึ่ง ที่ทหารจีนได้บุกทำลายวัดอาราม และสังหารพระ ในปี 1959 นี้เอง ทะไล ลามะก็ได้หนีออกจากทิเบต และได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย นับจากนั้นมา ก็มีขบวนการเคลื่อนไหวอิสรภาพทิเบตที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก
ดังนั้น กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในตะวันตกชี้ว่าปีนี้เป็นช่วงเวลาที่อ่อนไหวของรัฐบาลจีน โดยกลุ่มสนับสนุนอิสรภาพทิเบตอาจปลุกกระแส และโจมตีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน
กลุ่มทะไล ลามะ และชาวทิเบตหลายคน ชี้ว่าชาวทิเบตในแดนหลังคาโลกได้รับความทุกข์จากการกดขี่ทางศาสนาและการเมืองของผู้นำจีน
อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวในวันจันทร์(19 ม.ค.) ยังไม่ชัดเจนว่า “วันเลิกทาสทิเบต” จะเป็นเพียงวันรำลึกเหตุการณ์ฯ หรือ เป็นวันหยุดทำการทั่วไป
การประกาศ “วันเลิกทาส” ได้สร้างโกรธเคืองแก่สมาชิกรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นในธรรมศาลา โดย โซนัม ดักโป รัฐมนตรีกิจการระหว่างประเทศของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น สวนกลับว่า “พวกเขา(จีน) พยายามฉลอง วันเลิกทาส ( 28 มี.ค.) แต่มันก็เป็นวันที่จีนนำชาวทิเบตสู่ปฏิบัติการกดขี่”
เมื่อปีที่แล้ว ชาวทิเบตเริ่มประท้วงอย่างสันติในวันที่ 10 มีนาคม เพื่อรำลึกวาระครบรอบ 49 ปีของความล้มเหลวในการลุกฮือต่อต้านอำนาจจีน จนบานปลายเป็นจลาจลในลาซาวันที่ 14 มีนาคม ทั้งยังขยายวงไปยังชุมชนทิเบตในมณฑลข้างเคียงในจีนด้วย.