xs
xsm
sm
md
lg

ทิเบตตัดสิน “ทางสายกลาง” เจรจากับจีน ทะไล ลามะเตือน”อันตรายใหญ่หลวง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทะไล ลามะระหว่างแถลงแก่ผู้สื่อข่าวในวันที่ 23 พ.ย. เตือน ชาวทิเบตเผชิญ“อันตรายใหญ่หลวง”  หลังที่ประชุมทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่สู่จีนของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ตัดสินนโยบาย “ทางสายกลาง”
เอเจนซี--ทะไล ลามะ เตือนชาวทิเบตกำลังเผชิญ “อันตรายใหญ่หลวง” หลังจากที่ประชุมใหญ่ตัดสินเลือก “ทางสายกลาง” ในการดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่สู่จีน

ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณ และรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เตือนชาวทิเบต ระหว่างประชุมกับคณะผู้แทนทิเบตจากทั่วโลก ร่วม 600 คน ในวันอาทิตย์(23 พ.ย.) ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย โดยกล่าวว่า “ความเชื่อใจรัฐบาลจีนของฉันเหลือน้อยลงทุกที และใน 20 ปีข้างหน้า หากเราไม่ระมัดระวังในการวางแผนและเคลื่อนไหว ชุมชนทิเบตก็จะเผชิญอันตรายใหญ่หลวง ดังนั้น เราจึงต้องคิดหนทางใหม่ๆ เพื่อธำรงชนชาติทิเบต”

การแถลงของทะไล ลามะเป็นการแถลงปิดการประชุมใหญ่ 6 วัน ของคณะผู้แทนทิเบตเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ในการเจรจาอำนาจปกครองตัวเองที่ “มีความหมายมากขึ้น” เหนือดินแดนทิเบตบนหลังคาโลก ซึ่งหนึ่งในเป็นเขตปกครองตัวเองของจีน การประชุมเสร็จสิ้นไปเมื่อวันเสาร์(22 พ.ย.) คณะผู้แทนได้ตกลง ดำเนินนโยบาย “ทางสายกลาง” ในการเจรจากับรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของทะไล ลามะ

การตัดสินดังกล่าวสร้างความผิดหวังแก่กลุ่มหนุ่มสาวทิเบตจำนวนมาก ที่ต้องการพลิกนโยบายเคลื่อนไหวสู่อิสรภาพอย่างสมบูรณ์

Karma Chophel โฆษกรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตเผยว่า เสียงส่วนใหญ่ยังคงเห็นด้วยกับ
การประนีประนอม ดำเนินนโยบายทางสายกลาง แต่ผู้แทนจำนวนมากกล่าวว่า หากทางสายกลางนี้ ไม่นำไปสู่มรรคผลใดๆในอนาคตอันใกล้ ประชาชนก็จะถูกดดันให้เปลี่ยนนโยบายมาเคลื่อนไหวอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ หรือกระแสเรียกร้องการตัดสินอนาคตของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมก็เกรงว่าการเคลื่อนไหวอิสรภาพ จะทำให้ทิเบตสูญเสียแรงสนับสนุนจากนานาชาติ และยิ่งยั่วยุผู้นำในปักกิ่ง

ด้านทะไล ลามะยืนยันว่า ท่านมิได้กดดันการสนับสนุนการปกครองตัวเองของที่ประชุม และการที่ท่านไม่เข้าร่วมประชุมระหว่าง 6 วันที่ผ่านมา เพราะต้องการให้ผู้แทนแสดงความเห็นอย่างอิสระ สำหรับการที่ท่านเรียกประชุมครั้งนี้ เพียงต้องการหลักชี้นำเนื่องจากการเจรจากับจีนไร้ความคืบหน้า

“นโยบายของท่าน สอดคล้องกับการปฏิบัติจริง” พระทิเบต วัย 29 ปี ในที่ประชุม บอกกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี

การตัดสินของที่ประชุมได้สร้างความผิดหวังแก่กลุ่มหนุ่มสาวทิเบตที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก อาทิ Lhadon Thethorg ประธานกลุ่มนักศึกษาเพื่ออิสรภาพทิเบตในนิวยอร์ก ซึ่งร่วมประชุมใหญ่ครั้งนี้ด้วย เผยว่าหลายเสียงต้องการอิสรภาพ และยอมรับว่าเธอผิดหวังที่การประชุมไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างสำคัญ

Tendon Dahortsang วัย 28 ปี ประธานสมาคมกลุ่มหนุ่มสาวทิเบต (Tibetan Youth Association) ที่เคลื่อนไหวในยุโรป บอกว่า “เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเจรจากับจีน ไม่มีประโยชน์ เราไม่อาจรอให้จีนเปลี่ยน เราจะต้องเป็นผู้ผลักดันมัน”

ก่อนที่ที่ประชุมทิเบตตัดสินยุทธศาสตร์ในวันเสาร์ ในวันศุกร์ฝ่ายจีนได้แถลงกล่าวหาทะไล ลามะ คิดแผนการเคลื่อนไหวอิสรภาพ โดยในบทแสดงความคิดเห็นของสำนักข่าวซินหัว ระบุว่า จีนไม่อาจยอมรับสิ่งที่ทะไล ลามะยืนยันว่าท่านต้องการอำนาจปกครองตัวเองอย่างมีความหมายมากขึ้น “เพราะเมื่อเงื่อนไขสุกงอม พวกเขาก็จะรุกคืบสู่อิสรภาพอย่างสมบูรณ์”

จีนและผู้แทนทิเบต ได้เจรจากันเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติมาตั้งแต่ปี 2002 และได้ชะงักงันไป โดยจีนกล่าวหาทะไล ลามะเคลื่อนไหวลัทธิแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ทะไล ลามะยืนยันต้องการเพียงอำนาจปกครองตัวเองอย่างมีความหมายมากขึ้น ทั้งสองได้กลับมาเจรจากันอีกครั้งหลังจลาจลนองเลือดในลาซาวันที่ 14 มี.ค. สืบเนื่องจากจีนส่งกองกำลังเข้าปราบปรามกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพ จนเกิดกระแสประท้วงทั่วโลก พร้อมกดดันให้จีนเจรจากับทิเบตอย่างสันติ

สำหรับเจรจากันครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นรอบที่ 8 ระหว่าง วันที่ 29 ต.ค.-3พ.ย.ที่ กรุงปักกิ่ง ฝ่ายจีนแถลงถึงการเจรจาว่า ล้มเหลว พร้อมยืนยันไม่มีวันประนีประนอม ด้านทะไล ลามะ ก็แถลง สิ้นหวังก่อนการประชุม และได้ยืนยันหลังการประชุมว่า การเจจรจากับจีน ไร้ความคืบหน้า

ทั้งนี้ จีนได้ส่งกองกำลังไปยังทิเบตในปี 1950 ตามด้วยการประกาศผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ชาวทิเบตได้ลุกฮือต่อต้านอำนาจจีน และจบลงอย่างนองเลือด ทะไล ลามะ ได้หนีออกจากทิเบตในปี 1959 จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในธรรมศาลา ประเทศอินเดีย

สำหรับการประชุมใหญ่ของคณะผู้แทนทิเบตครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของการประชุมนโยบายทิเบตนับจากทะไล ลามะหนีออกจากทิเบตมายังอินเดียในปี 1959 โฆษกรัฐบาลพลัดถิ่นยังบอกว่า ก่อนการประชุม พวกเขาได้ปรึกษาความเห็นกับชาวทิเบตในดินแดนจีน 17,000 คน โดยไม่เผยถึงวิธีการรวบรวมความเห็นดังกล่าว

ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีชาติอำนาจเดียวคืออังกฤษ ได้รับรอง “สิทธิเจ้าเหนือดินแดนทิเบตของจีน” (suzerainty) ซึ่งเป็นการบั่นทอนอำนาจการเจรจากับจีนของฝ่ายทิเบต แต่ก่อนการเจรจาครั้งรอบ 8 อังกฤษได้ยกเลิกการรับรองดังกล่าว.

อ่าน: สู่ ‘เอกราช’ ทิเบต! ฝันที่(ไม่)เป็นจริง?
ทะไล ลามะระหว่างแถลงแก่ผู้สื่อข่าวในวันที่ 23 พ.ย. หลังการประชุมใหญ่ที่ธรรมศาลา
Samdhong Rinpoche นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตแถลงในวันสุดท้ายของการประชุม 22 พ.ย.
กลุ่มผู้แทนทิเบตพลัดถิ่นระหว่างระหว่างพักการประชุมในวันสุดท้ายของการประชุม 22 พ.ย.
กลุ่มผู้แทนทิเบตพลัดถิ่นเข้าร่วมการประชุมวันสุดท้าย 22 พ.ย.
กลุ่มนักเรียนชาวทิเบตในธรรมศาลามองดูผู้แทนทิเบตที่หลั่งไหลมายังที่ประชุมในธรรมศาลาวันที่ 22 พ.ย.
ชาวทิเบตกำลังสวดมนต์หน้าวังที่ประทับของทะไล ลามะในธรรมศาลา วันที่ 22 พ.ย.
ชาวทิเบตพลัดถิ่นหมุนกงล้อสวดมนต์นอกวังที่ประทับของทะไล ลามะในธรรมศาลา วันที่ 22 พ.ย.
ชาวทิเบตพลัดถิ่นหมุนกงล้อสวดมนต์นอกวังที่ประทับของทะไล ลามะในธรรมศาลา วันที่ 22 พ.ย.
หญิงชราทิเบตถือลูกประตำ สวดมนต์ หน้าวังที่ประทับของทะไล ลามะในธรรมศาลา วันที่ 23 พ.ย.
พระทิเบต วิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วันที่ 23 พ.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น