เอเจนซี-ทางการจีนเปิดเผยเกี่ยวกับการเจรจากับผู้แทนจากรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตของทะไล ลามะ ไร้ความคืบหน้า ฝ่ายจีนยืนยันไม่มีการประนีประนอมเรื่องสถานภาพเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบตบนแดนหลังคาโลก
“การเจรจาและทำข้อตกลงต่างๆระหว่างเรา ไม่มีความคืบหน้าเลย พวกเขา(คณะผู้แทนของทะไล ลามะ) จะต้องรับผิดชอบเต็มที่ต่อเรื่องนี้ และเราจะไม่มีวันยอมอ่อนข้อ ” อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ก็ได้ระบุว่า “แม้ในการเจรจา เราจะมีทัศนะที่แตกต่างกัน บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างจริงใจและเปิดเผยต่อกัน”
ทั้งนี้ จากการสรุปแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เรื่องการเจรจากับผู้แทนทิเบต โดยนาย จู เหวยฉิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายบริหารของฝ่ายการแนวร่วมกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน (United Front Work Department) แถลงในวันนี้ (10 พ.ย.)
นายจูยังเผยถึงสาระในการพูดคุยอีกว่า “มุ่งเน้นไปที่ทะไล ลามะ และนโยบายของท่าน เราเพียงแต่คุยกันว่าทะไล ลามะ ควรจะเลิกแสดงความคิดเห็นในแนวทางลัทธิแบ่งแยกของท่านอย่างสิ้นเชิง และหันมาดำเนินแนวทาง ทำความเข้าใจอำนาจส่วนกลาง และประชาชนชาวจีนทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหา”
ฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตเผยว่าผู้แทนของทะไล ลามะ ได้แก่ Lodi Gyaltsen Gyari, Kelsang Gyaltsen และที่ปรึกษา 3 คน ได้มาถึงกรุงปักกิ่งในวันที่ 30 ตุลาคม เพื่อเจรจากับจีน และได้ประชุมเจรจากันอย่างเป็นทางการในวันอังคาร(4 พ.ย.) เป็นเวลา 2 วัน โดยสิ้นสุดในวันพุธ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนยังได้พาผู้แทนทิเบตที่มาเยือนครั้งนี้ ไปดูงานที่เขตปกครองตัวเองมุสลิมในหนิงเซี่ย เพื่อแสดงการปกครองชนชาติส่วนน้อย
ทั้งนี้ ปมความขัดแย้งจีนและทิเบต เกิดขึ้นเมื่อจีนส่งกองกำลังเข้าไปยังทิเบตในปี ค.ศ. 1950 และประกาศผนวกดินแดนในปีถัดมา ต่อมา เกิดศึกลุกฮือต้านอำนาจจีนของชาวทิเบต ที่จบลงด้วยการนองเลือดและความพ่ายแพ้ของชาวทิเบต ด้านทะไล ลามะก็ได้เสด็จหนีออกจากลาซา มาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในธรรมศาลา อินเดีย จากนั้น ก็มีขบวนการรณรงค์อิสรภาพทิเบต ทั้งสองปะทะรุนแรงกันครั้งล่าสุดเมื่อมีนาคมปีนี้ และจุดชนวนการประท้วงจีนไปทั่วโลกก่อนโอลิมปิก ปักกิ่ง
นานาชาติได้กดดันจีนให้กลับมาเจรจากับฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่นอย่างสันติ ซึ่งได้ชะงักงันไปนาน รายงานข่าวทั่วไปชี้ว่า ทะไล ลามะ มีจุดยืนเรียกร้อง "อำนาจปกครองตัวเองอย่างมีความหมายมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่" แต่ฝ่ายจีนบอกว่าทะไล ลามะต้องการเอกราชทิเบต ซึ่งเป็นแนวทางลัทธิแบ่งแยกดินแดน ที่ไม่อาจยอมรับได้อย่างสิ้นเชิงบ
สำหรับการเจรจาครั้งนี้ นับเป็นรอบที่ 8 โดยก่อนหน้าการเจรจาไม่กี่วัน โฆษกของฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เผยว่า ทะไล ลามะ สิ้นหวังในการเจรจากับฝ่ายจีน และกำลังพิจารณาทางเลือกอื่น.