เอเจนซี –เผยทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต และผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตในธรรมศาลา อินเดีย ทรงกำลังพิจารณาพลิกเปลี่ยนนโยบายสู่จีน หลังจากที่ทรง “สิ้นหวัง” กับการเจรจาเรื่องอำนาจปกครองตัวเองทิเบต กับฝ่ายจีน ทั้งนี้ จากการแถลงในวันจันทร์(27 ต.ค.) ของ Tenzin Taklha โฆษกรัฐบาลพลัดถิ่นแห่งทิเบต
อย่างไรก็ตาม โฆษกรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ชี้ว่า แม้หมดหวังกับความคืบหน้าในการนั่งโต๊ะเจรจากับจีน ฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่นก็ยังคงเคลื่อนไหวอย่างสันติ
“พระองค์ทรงหมดหวังในการบรรลุข้อตกลงกับผู้นำจีนชุดนี้ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว ฝ่ายจีนก็ไม่อยากแก้ปัญหา ดังนั้น พระองค์จึงอยากหาทางเลือกอื่นๆ ซึ่งจะเผยบนโต๊ะเจรจากับจีนในเดือนพฤศจิกายน” โฆษกทิเบตแถลง พร้อมยืนยันว่า ทะไล ลามะวัย 73 ปี ซึ่งเพิ่งผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ยังไม่มีความคิดที่จะปลดเกษียณในเร็วๆนี้
สืบเนื่องจากจลาจลนองเลือดระหว่างที่กองกำลังของรัฐบาลจีนเข้าปราบปรามกลุ่มสนับสนุนอิสรภาพทิเบตในลาซาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนเกิดกระแสประท้วงจีนร้อนแรงไปทั่วโลกในช่วงก่อนโอลิมปิก ปักกิ่ง รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตในธรรมศาลาประเทศอินเดีย และผู้แทนจีนก็ได้กลับมานั่งโต๊ะเจรจากันอย่างสันติ และมีกำหนดเจรจากันอีกในเดือนหน้า โดยมีประเด็นใจกลางคือ การขยายอำนาจปกครองตัวเองอย่างสำคัญแก่ทิเบต เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย ซึ่งเจรจากันมาแล้ว 7 รอบ ขณะที่ผู้นำในปักกิ่งกล่าวหาองค์ทะไล ลามะว่าเป็นผู้เสี้ยมความวุ่นวายในลาซา เพื่อทำลายเสถียรภาพประเทศ และสนับสนุนอิสรภาพทิเบต
ทั้งนี้ ทะไล ลามะ ได้เสด็จลี้ภัยมายังอินเดียในปี ค.ศ. 1959 หลังจากลุกฮือต่อต้านอำนาจปกครองจีนในลาซา นับจากนั้นมา ก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพทิเบตมาตลอด รายงานข่าวทั่วไปชี้ว่า ในระยะหลังๆที่ผ่านมา ทะไล ลามะทรงยึดถือนโยบาย “ทางสายกลาง” พระองค์เพียงทรงต้องการอำนาจปกครองตัวเองที่มีความหมายมากกว่าที่เป็นอยู่สำหรับทิเบต มิใช่อิสรภาพเต็มที่ อย่างที่กลุ่มเคลื่อนไหวรุ่นหนุ่มสาวเรียกร้อง.