xs
xsm
sm
md
lg

ทิเบตพลัดถิ่นประชุมใหญ่ ตัดสินยุทธศาสตร์สู่จีนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Samdhong Rinpoche นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ในการประชุมซึ่งจะตัดสินยุทธศาสตร์ใหม่สู่จีน การประชุม 6 วันนี้ จัดขึ้นที่ธรรมศาลา อินเดีย เริ่มในวันที่ 17 พ.ย. -เอเอฟพี
เอเจนซี-- การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประมาณหนึ่ง ดูจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับโลกของชาวทิเบตบนแดนหลังคาโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตปกครองตัวเองของจีน กระแสนักท่องเที่ยวชาวจีนที่แห่เข้าไปยังทิเบตในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรหลายรายก็ดัดแปลงบ้านเก่าเป็นเกสท์เฮ้าส์ อารามหลายแห่งได้สร้างอาคารใหม่ๆขึ้นหนาตา

บางทีแนวทาง “สายกลาง” ที่ดีกว่านี้ ของท่านทะไล ลามะผู้นำจิตวิญญาณและผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต อาจจะไม่มี

ผู้สื่อข่าวได้ชะโงกหน้าไปถามความเห็นคนขับรถในทิเบตนายทาชิ ซึ่งติดภาพภาพทะไล ลามะไว้ที่หน้ารถ แม้จีนจะห้ามรูปทะไล ลามะก็ตาม “พวกเราไม่ต้องการความวุ่นวาย” นายทาชิ กล่าวสั้นๆ

ทว่า ขณะนี้ ผู้คนต่างลุ้นกันว่า ความวุ่นวายจะเข้าก่อกวนชีวิตในทิเบตอีกหรือไม่? มันขึ้นอยู่กับผลการประชุมครั้งหลักหมายของกลุ่มทิเบตพลัดถิ่น 6 วัน ซึ่งเปิดม่านประชุมขึ้นในวันจันทร์(17 พ.ย.) ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เพื่อตัดสินยุทธศาสตร์ใหม่ของแนวทางสู่จีน ซึ่งจะลงรากถึงโคนมากกว่าที่เป็นมา

ทะไล ลามะได้เรียกประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้ยอมรับว่าความพยายามเจรจาเรื่องอำนาจปกครองตัวเองที่สูงขึ้นกับจีนนั้น หมดหวังแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้แถลงถึงการเจรจาครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นรอบที่ 8 ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-5 พ.ย. ที่ผ่านมา ไร้ความคืบหน้า โดยจีนยืนยันไม่มีวันประนีประนอม

ทั้งนี้ จีน-ทิเบตเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2002 และได้ชะงักงันไปหลายปี ฝ่ายจีนประณามทะไล ลามะ เคลื่อนไหวลัทธิแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ทะไล ลามะกล่าวจุดยืนว่าต้องการอำนาจปกครองตัวเองที่สูงขึ้นเท่านั้น จนเกิดศึกรุนแรงระหว่างกลุ่มสนับสนุนอิสรภาพทิเบตกับกองทหารที่จีนส่งไปควบคุมสถานการณ์ในลาซาวันที่ 14 มีนาคม หลังจากนั้นก็เกิดกระแสประท้วงจีนไปทั่วโลก พร้อมกดดันให้จีนมาขึ้นโต๊ะเจรจากับทิเบต และก็จบลงด้วยความล้มเหลวในต้นเดือนพฤศจิกายน

ก่อนการประชุมครั้งใหญ่นี้ ทะไล ลามะได้มอบหมายให้ผู้เข้าประชุม 500 คน พิจารณาทางเลือกนโยบายสู่จีนใหม่ นอกจากนี้ โฆษกของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ยังบอกว่าพวกเขาได้ปรึกษากับชาวทิเบต 17,000 คน ที่อยู่ในดินแดนจีนด้วย โดยไม่เปิดเผยว่ารวบรวมความเห็นมาอย่างไร

“ชาวทิเบต 8,000 คน บอกว่าจะยึดถือตามที่ทะไล ลามะ ตัดสิน และอีก 5,000 คน บอกว่าควรเปลี่ยนแปลงนโยบายทางสายกลาง และรัฐบาลพลัดถิ่นควรมุ่งเคลื่อนไหวอิสรภาพอย่างสมบูรณ์” T.T. Kharma Chophel แห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต กล่าว

สำหรับชาวทิเบตพลัดถิ่น ซึ่งรับรู้มาว่ากองกำลังจีนได้สังหารเพื่อนร่วมชนชาติในแดนหลังคาโลก มากกว่า 200 คน ระหว่างการปะทะรุนแรงเมื่อเดือนมีนาคม ชี้ว่าความรุนแรงดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันว่า ชาวทิเบตจะต้องตัดสินยุทธศาสตร์ใหม่ และถึงรากถึงโคนกว่านี้ “มันเป็นหนทางเดียวของการอยู่รอด”

รอบบี้ บาร์เน็ตต์ นักวิชาการเรื่องทิเบต ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ชี้ถึงการประชุมนี้ว่า เป็นฟอรัมที่ทะไล ลามะ ได้เปิดขึ้นสำหรับเพื่อนร่วมชนชาติที่คับข้องใจ และมีแนวคิดรากหญ้ามากกว่า ได้แสดงความเห็น แต่ในที่สุด ท่านก็จะพยายามโน้มน้าวสนับสนุนแนวทางสันติ และยึดทางสายกลางต่อไป

ก่อนการเจรจาระหว่างผู้แทนทะไล ลามะ กับจีนครั้งล่าสุด รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศ ยกเลิกการรับรอง “ความเป็นเจ้าเหนือดินแดนทิเบตของจีน” (suzerainty) ซึ่งเป็นสถานภาพที่บ่งชี้ถึงการปกครองตัวเองอย่างแท้จริง อังกฤษได้รับรองความสัมพันธ์ดังกล่าว มาถึง 94 ปี ซึ่งกลุ่มเคลื่อนไหวทิเบต ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของอังกฤษซึ่งเป็นเพียงชาติอำนาจเดียวที่รับรองความสัมพันธ์ดังกล่าว ได้ลดทอนอำนาจต่อรองของคณะผู้แทนของทะไล ลามะ และส่งเสริมให้จีนยึดถือแนวทางสายเก่า

ความขัดแย้งทิเบตเป็นหนามใหญ่ทิ่มตำอกผู้นำคอมมิวนิสต์จีนมาหลายสิบปี หลังจากที่ส่งกองทัพปลดแอกเข้ามาในทิเบตปี 1950 กระทั่งศึกลุกฮือต่อต้านอำนาจจีนของทิเบตล้มเหลว และจบลงอย่างนองเลือดใน 9 ปีต่อมา ทะไล ลามะได้หนีจากลาซา มาจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดีย

ด้านรัฐบาลจีนพยายามสนับสนุนเศรษฐกิจทิเบต ซึ่งในปี 2007 มีจีดีพี มูลค่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จัดเป็นอัตราต่ำที่สุดเทียบกับเขตอื่นๆในจีน.

อ่าน: สู่ ‘เอกราช’ ทิเบต! ฝันที่(ไม่)เป็นจริง?

Samdhong Rinpoche (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต มาถึงที่ประชุม ซึ่งจะตัดสินยุทธศาสตร์ใหม่สู่จีน การประชุม 6 วันนี้ จัดขึ้นที่ธรรมศาลา อินเดีย เริ่มในวันที่ 17 พ.ย. -เอเอฟพี
ที่ประชุมกลุ่มรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ธรรมศาลา อินเดีย เมื่อวันที่ 17 พ.ย.-เอเอฟพี
กลุ่มผู้แทนทิเบตพลัดถิ่นในการประชุมครั้งหลักหมายเพื่อตัดสินยุทธศาสตร์ใหม่สู่จีน วันที่ 17 พ.ย.-เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น