เอเจนซี่-ก่อนถึงวันครบรอบ 50 ปี ของการลุกฮือต่อต้านอำนาจจีนของชาวทิเบตในแดนหลังคาโลกสัปดาห์หน้า ทางการจีนก็แถลงเตือนนานาชาติ ไม่ควรอนุญาตทะไล ลามะผู้นำจิตวิญญาณทิเบต เข้ามาใช้ดินแดนเคลื่อนไหวการแบ่งแยกดินแดนทิเบตออกจากจีน
“ประเทศใดๆที่ต้องการรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน ไม่ควรอนุญาตทะไล ลามะเดินทางเข้าประเทศ และเคลื่อนไหวอิสรภาพทิเบต” รัฐมนตรีต่างประเทศจีน นาย หยาง เจี๋ยฉือ แถลงเมื่อวันเสาร์(7 มี.ค.)
ในสัปดาห์หน้าเป็นวาระครบรอบ 50 ปีที่ ทะไล ลามะ ได้หนีออกจากทิเบตหลังจากที่กลุ่มลุกฮือต่อต้านอำนาจจีนพ่ายแพ้แก่กองทัพจีน (ปี 2502) ที่เข้ามายังทิเบตตั้งแต่ปี 2493 และจีนก็ได้ประกาศผนวกดินแดนทิเบตเป็นเขตปกครองตัวเองภาคใต้การนำของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน หลังจากที่ทะไล ลามะ ลี้ภัยไปยังอินเดียก็มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตในธรรมศาลา ประเทศอินเดีย จากนั้น ก็เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวอิสรภาพทิเบตที่มีฐานในกลุ่มประเทศตะวันตก
แม้ปัจจุบัน ทะไล ลามะ ยืนยันว่าท่านต้องการเพียงอำนาจปกครองทิเบตที่มีความหมายมากขึ้นเท่านั้น ในการแถลงเมื่อวันเสาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ก็กล่าวว่า “ทะไล ลามะ ยังยึดมั่นในการจัดตั้ง “เขตทิเบตใหญ่” ในดินแดนที่เป็นหนึ่งในสี่ของดินแดนจีน ต้องการที่จะขับกองกำลังจีนออกจากดินแดนจีน และต้องการให้กลุ่มที่ไม่ใช่ชนชาติทิเบตทั้งหมดย้ายออกจากพื้นที่ บุคคลเช่นนี้ จะเรียกได้เป็นบุคคลแห่งศาสนาหรือ?”
นายหยาง เจี๋ยฉือ ยังกล่าวต่อว่า “ เยอรมนี ฝรั่งเศส หรือชาติใดๆ ที่ยอมรับการแบ่งแยกดินแดนดังกล่าว ก็จงจดจำไว้ในใจว่าจีนนั้นสนับสนุนการรวมดินแดนเยอรมนีเสมอ”
ในปีที่แล้ว จีนได้โต้ตอบแดนน้ำหอม โดยยกเลิกการประชุมซัมมิตจีน-อียู อย่างกะทันหัน โต้ตอบที่ประธานาธิบดีนิโคลัส ซาร์โกซี พบปะกับทะไล ลามะ ผู้ซึ่งรัฐบาลจีนประณามเป็นกลุ่มลัทธิแบ่งแยกดินแดน
ในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้เป็นวาระครบรอบ 50 ปี ของการลุกฮือต่อต้านอำนาจจีน และทะไล ลามะออกจากทิเบตแล้ว ยังเป็นวาระครบรอบ 1 ปี ของเหตุการณ์จลาจลในลาซาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งเป็นการปะทะระหว่างกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพทิเบตและกองกำลังปราบความวุ่นวายในจีน เหตุการณ์ดังกล่าวได้ขยายไปยังชุมชนทิเบตในดินแดนจีนทั้งในชิงไห่ เสฉวน และหยุนหนัน (ยูนาน) ฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่นชี้มีผู้เสียชีวิต ทั้งสิ้น กว่า 200 คน ขณะที่รัฐบาลจีน ระบุเพียง 21 คน
ในวันศุกร์(6 มี.ค.) “Tibet Culture Net” www.tibetcul.com เว็บไซต์ข้องทิเบตภาษาจีนยอดนิยม ก็ถูกปิด โดยระบุว่าเป็นการปิดซ่อมแซมประมาณหนึ่งสัปดาห์ สำหรับเว็บดังกล่าวเสนอข่าวของสื่อรัฐจีน เนื้อหาด้านวัฒนธรรมและศาสนาพุทธทิเบต
หนังสือพิมพ์ในเยอรมนี Frankfurter Rundschau ฉบับวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็ได้อ้างคำกล่าวของทะไล ลามะ ว่าขณะนี้ในทิเบตตึงเครียดมาก และอาจเกิดความรุนแรงทุกเมื่อ
กลุ่ม อินเตอร์เนชั่นนัล แคมเปญ ฟอร์ ทิเบต International Campaign for Tibet เผยว่ามีการจับกุมหญิงชนชาติทิเบตสองคนเมื่อวันพฤหัสฯ(5 มี.ค.) โดยคนหนึ่งเป็นแม่ชี และถูกกักตัวในการ์ซี เมืองชุมชนทิเบตในเสฉวน ในความผิดแตกใบปลิวเรียกร้องการกลับมาของทะไล ลามะ
คลิกอ่าน : สู่ ‘เอกราช’ ทิเบต! ฝันที่(ไม่)เป็นจริง?