เอเจนซี – ธุรกิจอาหารไต้หวันฉวยจังหวะคู่แข่งจีนถูกปัญหานมปนเปื้อนเมลามีนรุมเร้า ลืมตาอ้าปากเรียกศรัทธาจากผู้บริโภคท้องถิ่นอีกครั้ง หลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่สินค้าจีนที่ไหลทะลักเข้าสู่ไต้หวันมานาน
หลิว ลี่เจี้ยน ผู้ผลิตพลับตากแห้งในไต้หวันเล่าถึงช่วงที่ธุรกิจประสบปัญหาหลังจากไต้หวันยกเลิกข้อจำกัดนำเข้าสินค้าจีนว่า ในปี 2004 เพื่อเป็นการทำตามกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ไต้หวันได้ยกเลิกข้อห้ามนำเข้าสินค้าจากแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีมายาวนาน ทำให้สินค้าด้อยคุณภาพและราคาถูกไหลทะลักเข้ามาในไต้หวัน ไม่เว้นแม้แต่ลูกพลับ
จากตัวเลขสำนักงานศุลกากรแสดงให้เห็นว่า ยอดนำเข้าพลับแห้งจากจีนพุ่งขึ้นเป็น 1,009 ตันเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มจาก 919 ตันเมื่อปี 2005
“แม้ว่าทางผู้นำเข้าจะอ้างว่าลูกพลับแห้งจากจีนพวกนี้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยด้านอาหารจากรัฐบาลไต้หวันแล้วก็ตาม แต่ผมก็ยังสงสัยเรื่องคุณภาพของสินค้าพวกนี้อยู่ดี” หลิวกล่าว
เขาเล่าว่าปัญหาอยู่ที่ราคา “ผู้ผลิตท้องถิ่นต้องใช้ต้นทุนอย่างน้อย 80 เหรียญไต้หวันในการผลิตพลับแห้งครึ่งปอนด์ (2 ขีดกว่า) แต่สำหรับลูกพลับแห้งของจีนแล้วใช้ต้นทุนน้อยกว่านี้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว”
เพราะความที่ราคาถูก จึงทำให้จำนวนผู้ผลิตพลับตากแห้งรายเล็กในเมืองซินผู่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของไต้หวันลดลงเหลือเพียง 17 รายจาก 25 รายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกสวนพลับก็ประสบผลกระทบด้วยเช่นกัน
ชาวสวนในเมืองฟั่นลู่ของไต้หวันปลูกพลับสดได้ประมาณ 10,000 ลูกต่อปี ซึ่งคิดเป็น 30% ของพลับทั้งหมดที่ไต้หวันผลิตได้
โดยหลิน เหวินชิง จากสมาคมเกษตรกรเมืองฟั่นลู่ให้สัมภาษณ์ว่า รายได้ของเกษตรกรลดลงเนื่องจากสินค้าที่จีนผลิตไหลทะลักเข้ามา “สินค้าของจีนสร้างความลำบากแก่ผู้เพาะปลูกมาก เนื่องจากราคาขายใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตของเรามาก”
อย่างไรก็ตามเมฆหมอกที่ปกคลุมอุตสาหกรรมอาหารไต้หวันก็เริ่มคลี่คลาย เมื่อมีข่าวว่าเด็กไต้หวัน 3 ราย และหญิงสาว 1 คนมีอาการนิ่วในไต หลังจากดื่มนมปนเปื้อนสารเมลามีนของจีน ขณะที่ฝั่งจีนก็มีข่าวพบเด็กทารกเสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย และป่วยด้วยอาการนิ่วในไตนับหมื่นคน
สถานการณ์เรื่องความไม่ปลอดภัยในอาหารจากจีนยิ่งลุกลามรุนแรงขึ้น ส่งผลให้มีการโละผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมของจีนออกจากร้านค้าทั่วโลก ขณะที่ชาวไต้หวันเองก็เริ่มหันมาระมัดระวังสินค้าจากจีนมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตในไต้หวันเริ่มใจชื้นเพราะข่าวนมเมลามีนครั้งนี้กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าไต้หวันมากขึ้น
“เมื่อก่อนเวลาซื้อของผมไม่เคยสนใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นผลิตขึ้นที่ไหน แต่หลังจากเกิดเรื่องนมเมลามีนขึ้นมา ผมก็ไม่คิดซื้ออะไรที่มาจากจีนอีก โดยเฉพาะอาหาร” ชายหนุ่มแซ่หลิน ซึ่งมาเยี่ยมสวนพลับของหลิวกล่าว
เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไต้หวัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยประสบวิกฤต ก็กล่าวว่า ธุรกิจกำลังฟื้นตัว โดยยอดขายเพิ่มขึ้น 250 ตันต่อวัน โดยรวมเพิ่มขึ้นราว 20% นับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา
ทั้งนี้ จีนและไต้หวันเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาร่วม 60 ปี หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์นำโดยประธานเหมา เจ๋อตงคว้าชัยชนะในสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1949 และเข้าปกครองจีน ในขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งนำโดยเจียง เคเช็กในขณะนั้นต้องถอยร่นมาตั้งรัฐบาลใหม่ที่เกาะไต้หวัน
แต่หลังจากที่ประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว ขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมปี 2008 ความสัมพันธ์ระหว่างสองดินแดนก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ เนื่องจากรัฐบาลของหม่าเชื่อว่าการเป็นมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่จะเป็นหนทางแก้พิษเศรษฐกิจภายในไต้หวันได้
ตรงข้ามกับชาวไต้หวันที่หวั่นเกรงว่าความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งขึ้นนั้นจะนำมาซึ่งผลร้ายมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการที่อัตราว่าจ้างงานลดลง เนื่องจากภาคการผลิตส่วนใหญ่ย้ายฐานไปยังประเทศจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานราคาถูกนั่นเอง