xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องสลายนิ่วยิงคลื่นช็อคเวฟแม่นยำ ลดไตบวมช้ำ-เอ็กซ์เรย์ผู้ป่วยน้อยลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเจษฎา เปาโสภา (ขวา) และ นายวันชัย นันทไพบูลย์ ที่ร่วมกันประดิษฐ์คิดค้นเครื่องสลายนิ่วด้วยคลื่นช็อคเวฟที่ยิงถูกก้อนนิ่วแม่นยำกว่าของเดิมหลายเท่า
วิศวกรบริษัทเอกชนสวมบทนักประดิษฐ์ คิดค้นเครื่องสลายนิ่วที่มีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับตำแหน่งก้อนนิ่วได้ ช่วยให้ยิงคลื่นช็อคเวฟถูกก้อนนิ่วได้มากกว่า 90% ไตช้ำน้อยลง ผู้ป่วยไม่ต้องเอ็กซ์เรย์บ่อย อนาคตตั้งเป้าผลิตเครื่องสลายนิ่วประสิทธิภาพสูงใช้เองในประเทศ

นายเจษฎา เปาโสภา วิศวกรนักประดิษฐ์จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง คิดค้นให้เครื่องสลายนิ่วโดยใช้คลื่นช็อคเวฟ มีเซ็นเซอร์จับตำแหน่งและทิศทางของก้อนนิ่วในร่างกาย ช่วยให้ยิงตรงเป้าเข้าสู่ก้อนนิ่วได้อย่างแม่นยำ ไม่ทำให้ไตช้ำมาก และลดปริมาณการเอ็กเรย์แก่ผู้ป่วย

นักประดิษฐ์ผู้นี้อธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การสลายนิ่วโดยปรกติจะใช้เครื่องสลายนิ่วที่ยิงคลื่นช็อคเวฟไปยังก้อนนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะ เพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกสลาย เช่น สลายก้อนนิ่วขนาดราวหัวแม่มือได้ จะต้องยิงคลื่นช็อคเวฟต่อเนื่องกันราว 6,000 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยครึ่งหนึ่งยิงถูกก้อนนิ่ว อีกครึ่งหนึ่งยิงไม่ถูก

"แต่ข้อด้อยของวิธีนี้คือยิงไม่แม่น เนื่องจากการที่คนไข้ขยับตัวหรือหายใจ ทำให้ก้อนนิ่วเคลื่อนที่ ส่งผลให้ไตหรืออวัยวะส่วนนั้นบวมช้ำมากกว่าที่ควร เพราะถูกคลื่นช็อคเวฟเต็มๆ รวมทั้งอาจจำเป็นต้องเอ็กซ์เรย์คนไข้ใหม่เพื่อค้นหาตำแหน่งที่ถูกต้องของก้อนนิ่ว ซึ่งหากคนไข้ได้รับการเอ็กซ์เรย์มากเกินไปก็จะไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย" นายเจษฎา เผย

จากการทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ และเห็นปัญหานี้มานาน นายเจษฎาก็พยายามคิดหาทางออก และก็พบว่าไตและผิวหนังบริเวณหน้าท้องจะเคลื่อนที่ไปพร้อมกัน ดังนั้นหากสามารถระบุตำแหน่งของก้อนนิ่วจากบนผิวหน้าท้อง และ จับตำแหน่งการเคลื่อนที่ของไตและก้อนนิ่วจากผิวหน้าท้องได้ ก็จะรู้ได้ว่าก้อนนิ่วเคลื่อนที่ไปทิศทางไหน และช่วยเพิ่มความแม่นยำในการยิงคลื่นช็อคเวฟได้มากขึ้น

นายเจษฎาจึงดัดแปลงเครื่องสลายก้อนนิ่วด้วยคลื่นช็อคเวฟ โดยการติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงเลเซอร์ไว้กับเครื่องเอ็กซ์เรย์ และมีเซ็นเซอร์รับแสงสำหรับติดไว้บนตัวผู้ป่วย ซึ่งได้ยื่นจดสิทธิบัตรผลงานนี้แล้ว

"เมื่อเอ็กซ์เรย์หาตำแหน่งก้อนนิ่วแล้ว จากนั้นก็ติดเซ็นเซอร์ไว้บนผิวหน้าท้องผู้ป่วยที่ตรงกับก้อนนิ่ว แล้วปล่อยให้แสงเลเซอร์ตกลงบนเซ็นเซอร์รับแสงตลอดเวลาที่ใช้เครื่องสลายนิ่ว ถ้าแสงชี้ลงมายังเซ็นเซอร์รับแสงบนหน้าท้องผู้ป่วย เครื่องสลายนิ่วก็จะยิงคลื่นช็อคเวฟไปยังก้อนนิ่ว หากผู้ป่วยขยับเขยื้อนจนแสงเลเซอร์ไม่ตรงกับตัวรับแสง เครื่องก็จะหยุดยิงทันที" นายเจษฎาแจง

ทั้งนี้เขาอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ตัวรับแสงที่ประกอบด้วยเซ็นเซอร์รับแสง 5 ตัว ช่วยให้สามารถค้นหาทิศทางการเคลื่อนที่ได้ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการทำงานของระบบนี้ก็จะปรับเตียงผู้ป่วยเพื่อให้เซ็นเซอร์รับแสงกลับมาอยู่ในตำแหน่งตรงกับแสงเลเซอร์ และเริ่มยิงคลื่นช็อคเวฟอีกครั้งตามปรกติ

ทั้งนี้ เขาได้ร่วมกับแพทย์ที่โรงพยาบาลมหาสาคาม ทดลองใช้สลายก้อนนิ่วในไตของผู้ป่วยจำนวน 10 ราย พบว่าสามารถยิงคลื่นช็อคเวฟไปถูกก้อนนิ่วได้ไม่ต่ำกว่า 90% โดยที่เอ็กซ์เรย์ผู้ป่วยเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ขณะที่เครื่องสลายนิ่วที่ใช้โดยทั่วไปยิงถูกก้อนนิ่วเพียง 50% จึงทำให้เนื้อเยื่อไตของผู้ป่วยมีอาการบวมน้อยมาก และยังโดนรังสีเอ็กซ์จากการเอ็กซ์เรย์น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเครื่องสลายนิ่วแบบเดิม

นายเจษฎาวางแผนต่อไปว่า จะประดิษฐ์ชุดเครื่องสลายนิ่วแบบดังกล่าว โดยใช้วัสดุที่มีในประเทศไทย เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศและผลิตเครื่องสลายนิ่วที่มีประสิทธิภาพดีกว่า และเขายังได้นำสิ่งประดิษฐ์นี้เข้าร่วมประกวดในโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2552 สาขาการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจะมีการประกาศผลการตัดสินราวเดือน ธ.ค. ปีนี้
นายเจษฎาดัดแปลงให้เครื่องสลายนิ่วด้วยคลื่นช็อคเวฟยิงได้แม่นยำขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไตบวมช้ำน้อยลง และไม่ต้องเอ็กซ์เรย์บ่อยครั้งในระหว่างสลายนิ่ว
แบบจำลองให้เห็นหลักการติดอุปกรณ์ส่องแสงเลเซอร์ไว้กับเครื่องฉายเอ็กซ์เรย์ และติดเซ็นเซอร์รับแสงไว้บนหน้าท้องผู้ป่วย
ก้อนนิ่วแบบต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น