xs
xsm
sm
md
lg

"ทุนสามานย์" กับวิกฤตเมลามีนมรณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นมยี่ห้อซันลู่ สินค้าที่เปิดฉากข่าวเมลามีนฉาว จนทำหลายฝ่ายงานเข้า - เอเยนซี
เอเชีย ไทมส์ – วิกฤตเมลามีนระบาดหนัก หลังค้นพบเครื่องอุปโภคบริโภค ตั้งแต่นมยันเซ็กซ์ทอยปนเปื้อนเมาลามีน สื่อแฉวงจรทุนสามานย์ นักวิทยาศาสตร์ยันผู้ผลิต หวังแต่กำไรไม่ห่วงชีวิตคน

รายงานข่าวล่าสุดเผย เมลามีนระบาดมีส่วนเกี่ยวข้องกับบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์ หน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ระดับสูงของจีน ชี้บัณฑิตยสภาฯพบเติมเมลามีนลงในอาหาร ช่วยเพิ่มระดับโปรตีนตั้งแต่ปี 1999 บรรดานักวิทยาศาสตร์ร่วมวิจัย ฉวยโอกาสทำเงิน ขายเทคโนโลยีพร้อมผลิตภัณฑ์อาหารปนเมลามีน ฟันกำไรมาหลายปี

หลังนมปนเปื้อนเมลามีนตกเป็นข่าวฉาวเมื่อเดือนกันยายน หลังทารกซึ่งบริโภคนมเสียชีวิต พร้อมกับมีรายงานยอดผู้ป่วยอีกนับครึ่งแสน เมลามีนก็กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก และการค้นพบผลิตภัณฑ์อาหารปนเปื้อนเมลามีน ทั้งไข่ และอาหารสัตว์ก็ได้สร้างความหวาดผวาไปทั่ว

ทั้งนี้รายงานข่าวจากประเทศจีนระบุว่า เด็กจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และการบริโภคเมลามีนสามารถทำให้เกิดโรคนิ่วในไตและภาวะไตวายในเด็กได้

อย่างไรก็ตามคำเตือนที่น่าหวาดผวาที่สุด ดังมาจากศาสตราจารย์ แมเรียน เนสท์เล่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก “คุณไม่สามารถแยกโซ่อุปทานระหว่างอาหารสัตว์ กับอาหารของมนุษย์ออกจากกันได้ หากไม่แก้ปัญหาเมลามีนปนเปื้อนอาหารสัตว์อย่างรีบด่วน ไม่ช้าภาวะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์”

ทั้งนี้ทางการจีนใช้วิธีการวัดค่าไนโตรเจนในอาหาร หรือที่รู้จักกันว่าวิธีเจดาห์ล เพื่อตรวจสอบระดับโปรตีน ( Kjeldahl Nitrogen Determination) ซึ่งหมายความว่า หากวัดค่าไนโตรเจนในอาหารได้เท่าไรก็เท่ากับในอาหารมีระดับโปรตีนเท่านั้น ในประเทศจีนเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การผสมเมลามีนลงในอาหารเป็นการช่วยเพิ่มระดับโปรตีน ดังนั้นจึงมีการเติมเมลามีนเป็นปกติ และไม่มีการตรวจสอบระดับเมลามีนในอาหาร กระทั่งไม่นานนี้หลังตกเป็นข่าวฉาว ทางการจีนจึงมีมาตรการบังคับให้ตรวจระดับเมลามีนในอาหาร

บรรดาผู้บริโภคที่หวาดผวา และกราดเกรี้ยวต่างโทษผู้ผลิตและรัฐบาลที่มีส่วนปิดบังเรื่องอาหารปนเปื้อนเมลามีน กระทั่งมีผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามล่าสุดมวลชนชาวจีนเริ่มตั้งคำถามต่อนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดวิกฤตครั้งนี้

บัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์อันทรงเกียรติก็หนีไม่พ้น กระแสวิพากษ์วิจารณ์นี้

เมื่อเดือนตุลาคม บล็อกเกอร์ชาวจีนเผยว่า ราวปี 1999 บัณฑิตยสภาฯได้โฆษณาอาหารเสริมสำหรับปศุสัตว์ซึ่งมีชื่อเรียกว่า อาหารเสริมโปรตีนเข้มข้น ดีเอช (DH Composite High-protein Fodder Supplement) โดยข้อความโฆษณานั้นระบุว่า เทคโนโลยีอาหารเสริมนี้ทำให้สามารถผลิตอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ด้วยการใช้ไนโตรเจนและตัวเร่งพิเศษ

เทคโนโลยีนี้ถูกนำออกมาขายโดยสถาบันเทคโนโลยีเพื่อครัวเรือน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์ สนนราคาอยู่ที่ 10,000 หยวน และมีค่าอบรมการใช้อีก 5,000 หยวนต่างหาก ทั้งนี้ผู้คนจำนวนมากที่ได้ทราบข่าวนี้ ต่างเชื่อว่า อาหารเสริมโปรตีนเข้มข้น ดีเอช ผลิตจากเมลามีนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามทางบัณฑิตยสภาฯ ได้รีบออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยโฆษกของบัณฑิตยสภาฯระบุว่า จากผลการสืบสวน อาหารเสริมดังกล่าวไม่ได้ผลิตจากเมลามีน และเทคโนโลยีที่โฆษณาไปนั้นก็ไม่สามารถผลิตเมลามีนได้

ทว่าการป่าวประกาศดังกล่าวแทบไม่มีผลอะไร เนื่องด้วยการสืบสวนดังกล่าวกระทำโดยบัณฑิตยสภาฯฝ่ายเดียว ปราศจากผู้ร่วมสังเกตการณ์ นอกจากนี้ทางโฆษกก็มิได้อธิบายว่า เมื่ออาหารเสริมดังกล่าวไม่ได้ผลิตจากเมลามีนแล้ว อาหารเสริมนี้มีอะไรเป็นส่วนประกอบสำคัญ ดังนั้นประชาชนจึงยิ่งกังขาไปใหญ่

ทั้งนี้ทางบัณฑิตยสภาฯยังสร้างความกังขาให้กับประชาชน ด้วยการไม่ยอมเปิดเผยชื่อผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยีอาหารเสริมดังกล่าว โดยทางบัณฑิตยสภาฯปฏิเสธว่า เกา อิ๋นเซียง ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในโฆษณาอาหารเสริมนั้น ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีนัยหมายความว่า เกาไม่ได้เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้

อย่างไรก็ตามในการให้สัมภาษณ์สื่อ เกากลับระบุว่า เขามีส่วนร่วมในวิจัย และทางสื่อยังระบุว่า เกาเคยดำรงตำแหน่งเป็นนักชีววิทยาและผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีเพื่อครัวเรือน

ข้อความที่ไม่ตรงกันนี้จึงทำให้หลายฝ่ายสงสัย และเรียกร้องคำอธิบายจากทางบัณฑิตยสภาฯ
คนงานในเซี่ยงไฮ้กำลังจะทำลายนมเมลามีน - เอเอฟพี
ขายกันเกลื่อนตลาด

ทั้งนี้สินค้าประเภท “โปรตีนสกัด” หรือสารผสมซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับโปรตีนในอาหารวางขายกันอย่างเกลื่อนกลาดในจีน

เฉิน จวินซือ นักวิจัยจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบุว่า “ส่วนผสมหลักของโปรตีนสกัดพวกนี้คือเมลามีน และทางการจีนก็เริ่มสั่งห้ามการซื้อขายโปรตีนสกัดพวกนี้ หลังจากมีข่าวเมื่อปีที่แล้วว่า สัตว์ในอเมริกาตายเนื่องจากบริโภคอาหารปนเปื้อนเมลามีน”

แม้จะไม่สามารถหาข้อเท็จจริงได้อย่างแน่ชัดว่า ทางบัณฑิตยสภาฯเป็นผู้ค้นพบเรื่องเมลามีนเพิ่มโปรตีนจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามข่าวคราวที่แพร่ไปตอนนี้ก็ได้อ้างโฆษณา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบัณฑิตยสภาฯว่า เป็นผู้ค้นพบและจำหน่ายเทคโนโลยีดังกล่าว

ทั้งนี้ธุรกิจผลิตอาหารเสริมจากสารเคมี เป็นธุรกิจที่สร้างกำไรได้อย่างงาม แหล่งข่าววงในระบุว่า เมลามีนมีราคาถูกมากอยู่ที่ 600-800 หยวนต่อตัน ทว่าราคาอาจพุ่งขึ้นถึง 500% เป็น 4,000 หยวนต่อตัน หากเมลามีนถูกนำไปทำเป็นอาหารเสริมโปรตีน

หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ระบุว่า “เมลามีนเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมปุ๋ยและพลาสติก ทว่าบริษัทที่ผลิตเมลามีนกลับขายเมลามีนให้ใครก็ได้ที่ต้องการซื้อ และบรรดาผู้ซื้อนี้ก็มักนำเอาเมลามีนไป ทำเป็นผงผสมในนมและอาหารสัตว์ เพื่อให้อาหารเหล่านั้นมีปริมาณโปรตีนสูงจนผ่านระดับการทดสอบ”

ทั้งนี้ข้อความจากบล็อกของวอชิงตัน โพสต์ หัวข้อ “คณิตศาสตร์ของเมลามีน” ได้นำข้อความจาก Chemistry world ซึ่งเป็นวารสารของราชบัณฑิตสมาคมด้านเคมี แห่งสหราชอาณาจักร มาตีพิมพ์โดยระบุว่า “เมลามีน 1 ตัน มีราคาแพงกว่านม 1 ตัน อยู่ที่ 1,200-1,800 หยวน แต่การผสมเมลามีนลงในนมทำให้ได้กำไรอย่างงาม เพราะเพียงแค่เติมเมลามีน 1 กรัมต่อนม 1 กิโลกรัม ระดับโปรตีนในนมที่น้อยกว่า 27 กรัม/กิโลกรัม ซึ่งนับว่าเป็นนมเกรดต่ำสุด ก็จะเพิ่มเป็นมากกว่า 31 กรัม/กิโลกรัมซึ่งเป็นนมเกรดสูงสุดและราคาดี ดังนั้นยิ่งเพิ่มเมลามีน และลดปริมาณนมให้เจือจางลงมากเท่าไหร่ กำไรก็จะยิ่งงามมากขึ้น”

กำไรที่เย้าตายวนใจนี้ ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างแข่งขันผลิตอาหารเสริมโปรตีน ที่มีส่วนผสมจากเมลามีน เพื่อออกจำหน่าย

เจิง ซือเสวียน ประธานกรรมการ บริษัทกว่างตง เยี่ยว์ไฮ่ ฟ็อดเดอร์ กรุ๊ป ระบุว่า “สารสกัดโปรตีนถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างน้อย 5 ปีแล้ว" ทั้งนี้ทางองค์กรสาธารณสุขระดับสากลได้ออกเตือนตั้งแต่ปี 1994 ว่า การบริโภคเมลามีนอาจทำให้เกิดภาวะไตวาย

นอกจากเกา อิ๋นเซียง แล้วนักวิทยาศาสตร์รายอื่นก็ตกเป็นข่าว มีส่วนพัวพันเกี่ยวกับเมลามีนด้วย นอกจากนี้องค์กรในสังกัดบัณฑิตยสภาฯอีกแห่งหนึ่งก็ตกเป็นข่าวฉาวว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง

แม้ขณะนี้ยังไม่มีการตรวจสอบ ยืนยันที่น่าเชื่อถืออย่างแน่ชัดว่า ทางบัณฑิตยสภาฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตเมลามีนนี้แค่ไหน ทว่าระบบการตรวจสอบที่เชื่อถือได้จำต้องเกิดขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต มิเช่นนั้นวิกฤตอาหารจีนปนเปื้อนคงไม่จบลงง่ายๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น