xs
xsm
sm
md
lg

นายกเวินชวนไต้หวันฟื้นนโยบายเชื่อมตรง 3 ทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - นายกเวิน เจียเป่า ชวนไต้หวันปรึกษาหารือในประเด็นสำคัญ อาทิ การเชื่อมโยงโดยตรง 3 ทางทั้งด้านการค้า ขนส่ง และไปรษณีย์ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างช่องแคบ ลดความบาดหมาง

เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวระหว่างเยือนประเทศลาวระบุต้องการชวนไต้หวันมาร่วมกันเจรจาหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ รวมถึงการรื้อฟื้นการเชื่อมโยงทางตรง 3 ทางทั้งด้านการค้า ขนส่ง และไปรษณีย์ ซึ่งระงับไปตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน ซึ่งนับว่าตรงกับความต้องการของ หม่า อิงจิ่ว ผู้นำคนใหม่ของไต้หวัน ที่เคยประกาศนโยบายจะผลักดันให้มีการบินตรงระหว่างจีนกับไต้หวันขึ้น

โดยเวินยังระบุด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายยังสามารถส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม และระบุว่า ฮ่องกงซึ่งรับหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างจีนกับไต้หวันมายาวนานจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยระบุว่า การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจผ่านช่องแคบไต้หวัน และระหว่างทั้งสามฝ่ายจะยิ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกง ตลอดจนเศรษฐกิจระหว่างช่องแคบไต้หวัน

ทั้งนี้ จีนเริ่มสัมพันธ์ง่อนแง่นกับไต้หวันหลังจากพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของเจียง ไคเช็คปราชัยในสงครามกลางเมืองให้กับพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี ค.ศ. 1949 และถอยไปตั้งรัฐบาลปกครองดินแดนบนเกาะไต้หวัน

ซึ่งถึงแม้ว่าต่อมาระหว่างจีนและไต้หวันได้ยอมรับในหลักการ “จีนเดียว” ภายใต้ฉันทามติปี 1992 โดยตกลงตีความคำว่า “อธิปไตย” ตามแบบของใครของมัน ทว่าการเจรจาต่อมาถูกระงับตั้งแต่ปี 1999 เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีลี เต็งฮุย ของไต้หวัน นิยามระดับความสัมพันธ์กับจีนใหม่ในลักษณะ"ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐระดับพิเศษ”

ขณะที่นโยบายเชื่อมโยง 3 ทางที่ฝันมานานก็ยังไม่บรรลุทั้งหมด เนื่องจากยังมีความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ เฉิน สุยเปี่ยน อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ผู้สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสรภาพของเกาะ อยู่ในอำนาจ

อย่างไรก็ดี ชัยชนะจากการเลือกตั้งผู้นำไต้หวันของหม่า อิงจิ่ว  ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ส่งผลให้นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันที่ดำเนินมากว่าครึ่งศตวรรษอาจถึงคราวยุติลง

ด้านโจเซฟ เจิ้ง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจากมหาวิทยาลัย ซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง มองว่า คำเชิญของเวินในครั้งนี้ถือว่ามีนัยยะสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นช่วงประจวบเหมาะกับที่ หม่า อิงจิ่ว ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำไต้หวัน “เห็นได้ชัดว่านี่เป็นความพยายามที่จะพัฒนาบรรยากาศทางการเมืองระหว่างช่องแคบไต้หวันให้ดียิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เจิ้งมองว่า “หม่า อิงจิ่วไม่ได้ต้องการเจรจาเพื่อนำไปสู่การรวมชาติ แต่เขาแค่ต้องการบรรเทาความขัดแย้งในบางประเด็น โดยเฉพาะประเด็น การเชื่อมโยงโดยตรง 3 ทาง การลงทุนและการท่องเที่ยวของชาวจีนในไต้หวันเป็นต้น” เจิ้งกล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า “ความสำเร็จในการเจรจาระหว่างจีนและหม่า อิงจิ่ว ถือเป็นใบเบิกทางชั้นยอดให้แก่รัฐบาลของเขา นี่เป็นข้อความที่เขาต้องการส่งไปยังประชาชนชาวไต้หวันทุกคน”
กำลังโหลดความคิดเห็น