เอเชียน วอลล์สตรีท – หุ้นสายการบินไต้หวัน อีว่า แอร์เวย์ กับไชน่า แอร์ไลน์พุ่งรับความเป็นไปได้ เปิดบินตรงระหว่างช่องแคบ นักวิเคราะห์เตือน หลังเปิดบินตรงอาจไม่สร้างผลกำไรอย่างที่คิด คาดในที่สุดหุ้นจะตกเพราะปัจจัยต่างๆรุมเร้า
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นไชน่า แอร์ไลน์ กับอีว่า แอร์เวย์ พุ่งรับข่าวความเป็นไปได้สำหรับการเปิดบินตรงระหว่างช่องแคบ ทว่านักวิเคราะห์ชี้ว่า ภาวะเฟื่องฟูดังกล่าวอาจไม่ยั่งยืนอย่างที่คิด เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยรุมเร้า โดยเฉพาะหลังเปิดบินตรงจริงด้วยราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งไม่ยั้ง แถมหากเปิดบินตรงสายการบินแผ่นดินใหญ่ ก็จะกระโจนเข้าร่วมแย่งตลาด ทำการแข่งขันดุเดือด บั่นทอนตลาดของสายการบินยักษ์ใหญ่ของไต้หวันทั้ง ไชน่า แอร์ไลน์ กับอีว่า แอร์เวย์
“จากการคำนวณของเรา การเปิดบินตรงระหว่างช่องแคบ จะทำให้มูลค่าหุ้นสายการบินไชน่า แอร์ไลน์ กับอีว่า แอร์เวย์ เพิ่มขึ้นเพียง 1 ดอลลาร์ไต้หวันต่อหุ้น นอกจากนี้การเปิดบินตรง ยังทำให้ไต้หวันต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสายการบินจีน โดยเฉพาะเส้นทางฮ่องกง แถมสายการบินไต้หวันยังมีปัญหาภายใน จากการใช้สินทรัพย์ไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่” พอล ดิวเบอรี จากเมอริล ลินซ์ ระบุในรายงาน
ไมเคิล อู๋ นักวิเคราะห์ของฟิตซ์ เรตติ้งส์ ประมาณว่า ชาวไต้หวันราว 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) แถบบริเวณเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทไต้หวัน
เนื่องจากจีนกับไต้หวันยังไม่ได้เปิดบินตรงระหว่างช่องแคบ การเดินทางจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฉางเจียงไปยังไต้หวัน จึงต้องผ่านการเดินทางไปเปลี่ยนเครื่องที่อื่นก่อนเช่น ฮ่องกง, เมาเก๊า และ เกาหลีใต้ การเดินทางระหว่างจีนกับไต้หวันจึงต้องใช้เวลารวม 6 ชั่วโมง ทว่าหากมีการเปิดบินตรงข้ามช่องแคบไต้หวัน ระยะเวลาจะลดลงเหลือ 90 นาที
ตั้งแต่พรรคกั๋วหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) พ่ายสงครามการเมืองหนีมาปักหลักที่ไต้หวันเมื่อปี 1949 จีนกับไต้หวันก็ไม่ได้เปิดบินตรงระหว่างกัน ทว่าชัยชนะของหม่า อิงจิ่ว ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ส่งสัญญาณแง่บวกต่อความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ จนหลายฝ่ายคาดว่า อาจจะมีการเปิดบินตรงขึ้นเร็วๆนี้ ตามที่หม่าเคยประกาศไว้
ปัจจุบันในช่วงวันหยุดประจำเทศกาลสำคัญเช่นตรุษจีน ทั้งสองฝ่ายจะเปิดให้มีการบินตรงเช่าเหมาลำ โดย 6 สายการบินจาก 2 ฝากฝั่ง ทว่าการบินตรงดังกล่าวก็ยังไม่ใช่บินตรงอย่างแท้จริง เนื่องจากเครื่องบินต้องบินผ่านน่านฟ้าฮ่องกง
หม่า อิงจิ่ว ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน อย่างเป็นทางการวันที่ 20 พ.ค. สัญญาว่า จะเปิดให้มีการบินตรงแบบเช่าเหมาลำช่วงสุดสัปดาห์ภายในเดือน ก.ค., บินตรงเช่าเหมาลำรายวันภายในสิ้นปี และสุดท้ายจะเปิดให้มีการบินตรงประจำแบบปกติภายในปีหน้า
นอกจากนี้หม่ายังลั่นวาจาว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่ เข้ามามากขึ้นเป็น 3,000 คนในปีนี้ และจะดันเป็น 10,000 คนในปี 2012 เพิ่มจากยอดปัจจุบันที่มีเพียง 1,000 คน
แถลงการณ์ของหม่าเป็นปัจจัย ที่ดันให้หุ้นไชน่า แอร์ไลน์ กับ อีว่า แอร์เวย์ ทะยานขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามปัจจัยความเป็นจริงต่างๆควรถูกนำมาคำนวณด้วยว่า หลังผลทางจิตวิทยาจางหายไป อุตสาหกรรมการบินไต้หวันจะได้หรือเสีย
เตือนนักลงทุน-ผู้ประกอบการอย่าตั้งความหวังสูง
เคอ เหวินหลิง ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของอีว่า แอร์เวย์ชี้ว่า การแจกจ่ายเส้นทางการบินระหว่างสายการบินต่างๆเป็นปัจจัยสำคัญ ที่กำหนดว่าใครจะได้กำไรมากน้อยเท่าไร แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน
ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับ เดเมียน ฮอร์ท จาก ยูบีเอส ซีเคียวริตี้ส์ที่ชี้ว่า “ในระยะสั้นสายการบินไม่น่าทำกำไรได้มากนัก เพราะการแข่งขันจะดุเดือดมาก”
มาร์ค เวบบ์ จากเอชเอสบีซี ระบุว่า การแบ่งเส้นทางการบินจะขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย เมื่อมีการเปิดบินตรง การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินจะดุเดือดขึ้น จนกำไรหดหาย
แม้คิดในแง่บวกว่า ผู้โดยสารเส้นทางระหว่างช่องแคบ อาทิไต้หวัน-ฮ่องกงจะเพิ่มจำนวนถึง 2 เท่าเป็น 16 ล้านคนต่อปี เริ่มตั้งแต่ปี 2012 ไชน่า แอร์ไลน์ กับอีว่า แอร์เวย์ก็จะได้ส่วนแบ่งการตลาดมากสุดแค่คนละ 20% เนื่องจากต้องแข่งขันกับสายการบินอื่นจากแผ่นดินใหญ่ และกำไรที่เพิ่มขึ้นนี้ ก็ไม่พอชดเชยค่าดำเนินการ ที่ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อปี 2007 ไชน่า แอร์ไลน์ กับอีว่า แอร์เวย์ สูญเสียกำไรจำนวนมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เฉพาะไชน่า แอร์ไลน์แห่งเดียวต้องรับภาระค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 43% ของค่าดำเนินการทั้งหมด จากสัดส่วนเดิมซึ่งอยู่ที่ 22% ในปี 2002
ด้านสายการบินแผ่นดินใหญ่ก็ไม่น่าได้อานิสงค์อะไร จากการเปิดบินตรงมากนัก ฮอร์ท ระบุว่า แอร์ ไชน่า, ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ และ ไชน่า เซาท์เทิร์น แอร์ไลน์ น่าจะทำกำไรได้ระดับเดียวกับไชน่า แอร์ไลน์ และ อีว่า แอร์เวย์
นอกจากนี้สายการบินบางแห่งอาจต้องสังเวยรายได้ ไปกับการเปิดเส้นทางบินตรง คาเธย์ แปซิฟิก แอร์เวย์ ของฮ่องกง และแอร์ มาเก๊า ของมาเก๊า ซึ่งทำรายได้ราว 60% จากการเป็นทางผ่าน เปลี่ยนเครื่องก่อนเข้าสู่แผ่นดินใหญ่และไต้หวัน ย่อมเผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรง
นักวิเคราะห์ประมาณว่าผู้โดยสารราว 70% ของเส้นทางบินไต้หวัน-ฮ่องกง มีเป้าหมายเดินทางไปยังแผ่นดินใหญ่ หากมีการเปิดบินตรง พวกเขาจะมีทางเลือกมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องบินผ่านฮ่องกง หรือใช้บริการของคาเธย์ แปซิฟิก แอร์เวย์ อีกต่อไป