xs
xsm
sm
md
lg

หนังสือ 101 Stories for Foreigners to Understand Chinese People/คอลัมน์หิ้งหนังสือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


Yi S. Ellis เป็นสาวจีนแท้ๆ เกิดที่เซี่ยงไฮ้ ก่อนอพยพตามครอบครัวไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่ออายุ 13 ขวบ เรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์และโคลัมเบีย ขณะที่ช่วงชีวิตส่วนใหญ่ของเธออยู่ในสังคมอเมริกันที่เมืองนิวยอร์กและโคโลราโด นอกจากนี้เธอยังแต่งงานกับชาวอเมริกัน Bryan D. Ellis ก่อนที่ทั้งคู่จะย้ายครอบครัวมาทำงานที่เซี่ยงไฮ้ บ้านเกิดของเธอเมื่อ 4 ปีก่อน

ด้วยความที่ Yi และสามีชาวอเมริกันเติบโตและคุ้นเคยอยู่กับวัฒนธรรมของชาวอเมริกัน และ วัฒนธรรมของชาวยุโรป (สามีของเธอทำงานอยู่กับบริษัทเยอรมัน) มาค่อนชีวิต ทำให้เมื่อเธอและสามีต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมจีนจึงรู้สึกประหลาดใจไม่น้อย (หรือบางครั้งเกือบจะเป็น Culture Shock) ต่อพฤติกรรม ธรรมเนียมปฏิบัติ และวัฒนธรรมหลายๆ ประการของชาวจีนในปัจจุบัน

แน่นอนว่าความคุ้นเคย ธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวจีนในศตวรรษที่ 21 นี้ย่อมมีความผิดแผกแตกต่างจาก ธรรมเนียม-วัฒนธรรม-ประเพณีที่ชาวจีนโพ้นทะเลเคยรู้จัก หรือ ตำรา “วัฒนธรรมจีน” ที่อยู่ในห้องสมุดหรือวางขายอยู่ตามร้านหนังสือทั่วไปไม่น้อย

หนังสือ 101 Stories for Foreigners to Understand Chinese People หรือในชื่อภาษาจีนคือ 在同一世界:面对中国人101题 รวบรวมเอาคำถามและคำตอบต่างๆ ที่เกิดจากความสงสัยของ Yi และสามีที่มีต่อสังคมจีนในยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น

- เมื่อได้รับมอบภารกิจ ทำไมชาวจีนชอบกล่าวคำว่า “ผมจะพยายามให้ดีที่สุด! (我会尽力的!)” แทนที่จะตอบว่า ผมจะทำให้ได้ หรือ ตอบปฏิเสธว่าผมทำไม่ได้ ดังเช่นที่ชาวตะวันตกคุ้นเคย?
- ทำไมชาวจีนชอบแซงแถว?
- ทำไมชาวจีนต้องแย่งกันจ่ายค่าอาหาร?
- ทำไมคนจีนไม่เสิร์ฟ น้ำเปล่า-น้ำเย็นให้แขก?
- ทำไมบริกรชาวจีนเสิร์ฟอาหารให้แก่ผู้ชายก่อนผู้หญิง?
- ทำไมคนจีนชอบตะโกนเรียกบริกรเสียงดังลั่นร้าน?
- ทำไมร้านอาหารหรือภัตตาคารจีนต้องมีผ้าคลุมที่พนักเก้าอี้ทุกตัว?
- ทำไมคนจีนบางคนชอบดื่มไวน์แดง ผสมสไปรท์กับน้ำแข็ง?
- ทำไมคนจีนชอบสีแดง?
- ทำไมประธานในงานแต่งงานต้องมาที่หลังและกลับก่อน?
- ทำไมห้ามให้นาฬิกาเป็นของขวัญกับคนจีน?
และอีกหลาย ทำไม ทำไม ทำไม และทำไมที่ผู้เขียนช่างตั้งคำถามและช่างสรรหาคำตอบ (ซึ่งบางคำตอบก็ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง แต่เป็นข้อสันนิษฐาน คำอธิบาย หรือคำบอกเล่าจากมิตรสหายของผู้เขียนมากกว่า)

หนังสือเล่มนี้แบ่งหมวดหมู่คำถาม และ เรื่องราว 101 เรื่อง ออกเป็น 12 บท ประกอบไปด้วย
บทที่ 1 การทักทายในจีน (First Encounters : Greeting in China)
บทที่ 2 ความถ่อมตนของชาวจีน (Chinese Modesty)
บทที่ 3 ธรรมเนียมและมารยาทในร้านอาหาร (Restaurant Etiquette)
บทที่ 4 ธรรมเนียมและมารยาทในชีวิตประจำวัน (Everyday Etiquette and Customs)
บทที่ 5 ความเชื่อ (Beliefs)
บทที่ 6 อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Drink)
บทที่ 7 การชอปปิ้ง และ การให้ของขวัญ (Shopping and Gift-giving)
บทที่ 8 ทำความเข้าใจกับครอบครัวจีน (Understanding the Chinese Family)
บทที่ 9 สิ่งที่คนจีนพูด และ ความหมายที่แท้จริงของคำพูด (What They Say vs. What They Mean)
บทที่ 10 การทำธุรกิจในจีน (Doing Business in China)
บทที่ 11 การเลี้ยงลูกในเมืองจีน (Raising Children in China)
บทที่ 12 สุขภาพ และ ยา (Health and Medicine)

101 Stories for Foreigners to Understand Chinese People เป็นหนังสือที่อ่านสนุก และอ่านง่าย เพราะแต่ละตอนนั้นเป็นเรื่องราวสั้นๆ ที่บอกเล่าด้วยศัพท์แสงภาษาอังกฤษที่ไม่ได้ปรุงแต่งอะไรมากนั้น ทั้งผู้เขียนยังมีพรสวรรค์ไม่น้อยในการเล่าเรื่องราวเล็กๆ ให้สนุกสนานได้

ทว่าระหว่างอ่านผู้อ่านชาวไทยก็ต้องพึงสังวรไว้ด้วยว่า ทัศนะของผู้เขียนในบางตอน บางเรื่องก็เป็นทัศนะที่สุดโต่ง เพราะเป็นทัศนะของคนที่เติบโตในตะวันตกแล้วหันกลับไปมองจีน

หนังสือเล่มนี้ หากอ่านอย่างผิวเผินแล้วหลายคนคงรู้สึกเหมือนกับว่าสามีภรรยาชาวอเมริกันคู่นี้กำลังถือโอกาสต่อว่าหรือด่าทอชาวจีนแบบอ้อมๆ ผ่านตัวหนังสือ แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ และคิดให้มากแล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงบอกเล่าความเป็นจริงและความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต ความคุ้นเคย วัฒนธรรม และประเพณีปฏิบัติของสังคมจีนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนค่านิยมบางอย่างของชาวจีนที่เปลี่ยนไปแล้วและกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่อีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว ผู้รีวิวหนังสือเชื่อว่ายังมีคนไทยที่สามารถเขียนหนังสือทำนองนี้ได้ดีไม่แพ้ Yi S. Ellis แน่นอน

รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ 101 Stories for Foreigners to Understand Chinese People
สำนักพิมพ์ Liaoning Education Press
ผู้เขียน Yi S. Ellis และ Bryan D. Ellis
ISBN 978-7-5382-8109-5
พิมพ์ครั้งแรก 2550
ราคา 49.80 หยวน

หมายเหตุ : หน่วยงาน/บุคคลใดที่ต้องการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับจีนในรูปแบบหนังสือ สามารถส่งหนังสือมาได้ที่ “โต๊ะจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 102/1 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200” กรุณาวงเล็บด้วยว่า “(คอลัมน์หิ้งหนังสือ)”
Yi S. Ellis และ Bryan D. Ellis สองสามีภรรยาผู้เขียนหนังสือ
กำลังโหลดความคิดเห็น