xs
xsm
sm
md
lg

Review รีวิวสินค้าไอที สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก

x

slideshare l บทพิสูจน์แห่งองค์ความรู้ ที่ยิ่งให้...ก็ยิ่งได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ มองไปทางไหนก็มีแต่เรื่องให้น่าค้นหา คนที่มีความรู้สูงถึงขั้นเป็นศาสตราจารย์ก็ยังต้องทำตัวเป็นนักเรียนอยู่ตลอดเวลา เพราะ "ความรู้" ไม่มีการหยุดนิ่ง และใหม่สดเสมอ

แต่ก็น่าจะเป็นไอเดียที่ดีหากมีศูนย์กลางแห่งความรู้ ที่ใครก็ได้สามารถเข้าไปสร้าง และบริโภคความรู้ได้ฟรีๆ อีกทั้งความรู้นั้นยังคั้นและกลั่นกรองเฉพาะเนื้อหาสำคัญๆ มาให้เราอีก ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะวิ่งเข้าหามากกว่าหมูหันตัวโตๆ

เราขอแนะนำ slideshare (สไลด์แชร์) เว็บไซต์ที่เป็นชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับใครก็ได้ที่จะเข้ามาแบ่งปัน "ผลงานพรีเซ็นเทชัน" ของตัวเองให้โลกได้รับรู้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ได้ต่อไปอีกว่า "สไลด์แชร์" ก็คือ "ยูทูบแห่งโลกพาวเวอร์พอยต์" หรือที่เว็บไซต์แห่งนี้ใช้คำแทนว่า "สไลด์" นั่นเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อปลายปีที่แล้วผู้เขียนได้แนะนำเว็บไซต์ Scribd (สคริปต์) ยูทูบแห่งไฟล์เอกสาร กรุยทางห้องสมุดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจุดแตกต่างที่สำคัญระหว่าง สคริปต์ และ สไลด์แชร์ ก็คือ สไลด์แชร์ จะเน้นเฉพาะการแสดงผลในรูปแบบของพรีเซ็นเทชัน หรือสไลด์เท่านั้น ไม่เน้นเอกสารยาวๆ เป็นหน้าๆ เหมือนสคริปต์ (แต่ก็สามารถอัปโหลดไฟล์เอกสารได้) จึงทำให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูลเฉพาะจุดที่เป็นหลักใหญ่ใจความ เพื่อการย่อย และนำไปใช้ประโยชน์ได้รวดเร็วที่สุด

สไลด์นี้จะแนะนำให้คุณรู้จักสไลด์แชร์มากยิ่งขึ้น




ประโยชน์จากการใช้งานเว็บสไลด์แชร์

ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการใช้งานเว็บสไลด์แชร์ก็คือทุกคนบนโลกนี้ โดยแบ่งอย่างกว้างๆ ได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ผู้เผยแพร่สไลด์ และ ผู้อ่านสไลด์

ผู้เผยแพร่สไลด์: ยิ่งให้ ยิ่งได้

* ชื่อเสียงโด่งดัง : ถ้าสไลด์ของคุณมีเนื้อหาที่น่าสนใจก็จะมีคนเข้ามาอ่าน ให้ความเห็น และโหวตให้กับสไลด์ของคุณมากมาย ซึ่งก็จะทำให้คุณดังได้ในชั่วข้ามคืน

* น่าเชื่อถือ : ทุกคนที่เป็นสมาชิกจะมีตัวตนออนไลน์ และมีที่อยู่ส่วนตัวที่จะเข้าถึงประวัติการใช้งานของเว็บสไลด์แชร์ได้ เช่น http://www.slideshare.net/rashmi

* สะดวกสบาย : หมดยุคการแนบไฟล์ใหญ่ๆ ผ่านอีเมลแล้ว แค่อัปโหลดขึ้นไปเก็บไว้ที่นี่ อยากส่งให้เพื่อนก็แค่ส่งเป็นลิงก์สะดวกกว่า หรือจะนำสไลด์ไปติดที่บล็อกของตัวเองเสียเลยก็ย่อมได้

* เก็บผลงานออนไลน์: คุณสามารถสร้างให้สไลด์แชร์ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งพอร์ตโฟลิโอส่วนตัวของคุณได้ เพราะไม่มีการจำกัดพื้นที่ และสามารถเปิดให้ชมได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน

ผู้อ่านสไลด์: อ่าน โหวต โหลด และเก็บความรู้

* หาความรู้ได้ไม่รู้จบ : แค่กดปุ่มเมนู Browse คุณก็จะพบสไลด์นับแสนๆ เรื่องในหมวดหมู่ต่างๆ กัน ยิ่งคลิกลงลึกมากเท่าไหร่ ความรู้ที่ได้ก็จะทวีคูณ

* สมัครเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนเพื่อรับสไลด์ใหม่ๆ จากคนที่คุณชื่นชอบได้ อัปเดตตัวเองในเรื่องที่คุณสนใจเฉพาะได้ตลอดเวลาที่ Community

* เก็บ โหวต และโหลดสไลด์ที่เราชอบได้ จะเก็บไว้บนเว็บ หรือดาวน์โหลดลงไปไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ได้

* ค้นหาความรู้ใหม่ได้แค่คลิก: ลองเริ่มต้นการค้นหาง่ายๆ แค่พิมพ์คำที่ต้องการ ก็จะมีการดึงเอาสไลด์ที่มีป้ายกำกับ (Tags) ที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหาของเรามาโชว์ทันที

เริ่มต้นใช้งานเว็บสไลด์แชร์แค่ 4 ขั้นตอน

1. สำหรับผู้ที่ต้องการจะเผยแพร่สไลด์ ควรสมัครเป็นสมาชิกของเว็บก่อน ที่นี่ (แต่จะไม่สมัครก็ได้) ส่วนผู้ที่อยากเข้าไปอ่านเนื้อหาก็เข้าไปอ่านได้ฟรี โดยไม่ต้องสมัครสมาชิกก็ได้ แต่จะดาวน์โหลดไม่ได้ (อยากโหลดต้องสมัครสมาชิกก่อน)

2. อัปโหลดไฟล์ โดยนามสกุลของไฟล์ที่รองรับกับการอัปโหลดขึ้นไปที่เว็บสไลด์แชร์มีดังนี้

* ไฟล์พรีเซ็นเทชัน: PowerPoint- ppt, pps, pot; OpenOffice- odp, pdf; Apple Keynote- upload as zip or pdf.

* ไฟล์เอกสาร และตาราง: ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ- doc, rtf, xls; OpenOffice- odt, ods, pdf.

โดยทุกไฟล์จะต้องขนาดใหญ่ไม่เกิน 100 เมกะไบต์ และสามารถอัปโหลดได้หลายไฟล์ในครั้งเดียว

3. ตั้งชื่อไฟล์ (Title) กำหนดป้ายกำกับ (Tags) ที่ใช้สำหรับการค้นหา เขียนคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับสไลด์นี้ (Description) กำหนดได้ว่าจะให้สไลด์นี้ดูได้เฉพาะเราเองหรือทุกคนก็ดูได้ที่ Privacy ระบุภาษาของไฟล์นั้นๆ และสุดท้ายคือเลือกหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับไฟล์ (Category)

4. หลังจากอัปโหลดเสร็จะมีลิงก์ให้ดูสถานะการแปลงไฟล์ของเรา ซึ่งก็จะอยู่ที่หน้า My Slidespace

นอกจากสไลด์แสดงภาพธรรมดาๆ แล้ว คุณยังสามารถสร้างสไลด์พร้อมเสียง หรือที่เรียกว่า "slidecast" ได้อีกด้วย เพื่อความชัดเจนในการนำเสนองานมากยิ่งขึ้น ดูวิธีการทำงานอย่างละเอียดได้ที่นี่

และความสามารถล่าสุดของสไลด์แชร์ ที่ถือว่าเป็นการย้อนเกล็ดโปรแกรมอมตะของค่ายไมโครซอฟท์ คือ การนำสไลด์แชร์ไปผสานกับการทำงานของโปรแกรม ไมโครซอฟท์ พาวเวอร์พอยต์ 2007 ด้วยการติดตั้งปุ่มเพื่ออัปโหลดไฟล์พรีเซ็นเทชันที่กำลังทำงานอยู่ในคอมพิวเตอร์ขึ้นไปแสดงบนเว็บของสไลด์แชร์ได้ทันที อีกทั้งยังสามารถเปิดดูไฟล์เก่าที่คุณเคยนำไปโพสไว้ที่สไลด์แชร์ และดาวน์โหลดลงมาเพื่อแก้ไข แล้วอัปโหลดขึ้นไปใหม่ก็สามารถทำได้ อ่านรายละเอียด และดูวิธีการทำงานได้ที่นี่

ลิขสิทธิ์ของแต่ละสไลด์ จะมีวิธีจัดการอย่างไร?

เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาบนโลก Copy & Paste นั้นค่อนข้างจะปวดหัว แต่สำหรับสไลด์แชร์ทำได้ดีระดับหนึ่งด้วยการนำเอาระบบดูแลลิขสิทธิ์สำหรับสินค้า หรือชิ้นงานที่เก็บไว้อยู่บนโลกออนไลน์ หรือ ครีเอทีฟ คอมมอนส์ (Creative Commons) มาใช้ ซึ่งผู้เผยแพร่สไลด์สามารถเลือกลิขสิทธิ์แบบต่างๆ ให้กับแต่ละสไลด์ของตนได้ โดยสามารถตั้งค่ารูปแบบลิขสิทธิ์งานของคุณได้ที่ My Slidespace > คลิก Edit แต่ละไฟล์ > Choose a license > เลือกแบบลิขสิทธิ์ที่คุณต้องการ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ และคลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับ ครีเอทีฟ คอมมอนส์ ประเทศไทย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้งานสไลด์แชร์


* ไม่ต้องสมัครสมาชิกก็สามารถอัปโหลดไฟล์ได้ที่นี่  โดยจะได้ชื่อสมาชิกทดลองชั่วคราวเช่น guest123abb2 เป็นต้น แต่จะใช้งานฟีเจอร์ได้ไม่ครบเหมือนการสมัครสมาชิก

* มิใช่ว่าเมื่อคุณตั้งค่าสไลด์แบบดูคนเดียวแล้วจะไม่สามารถแบ่งปันสไลด์นี้ให้คนรู้จักทราบ คุณยังสามารถแบ่งสไลด์ให้คนอื่นดูได้ เพราะทุกไฟล์จะมีลิงก์ลับส่วนตัว (Secret URL) ที่ถ้าคุณไม่ส่งไปบอกใคร ก็จะไม่มีใครสามารถเข้าถึงสไลด์นี้ได้

หรืออีกวิธีคือการสร้างรายชื่อเพื่อนในกลุ่มที่จะแบ่งปันสไลด์ใดสไลด์หนึ่งได้กับหลายๆ คนพร้อมกัน โดยการเข้าไปที่ My Slidespace > กดที่ My Contact > สร้าง Contact List โดยการเลือก Create Lists of Friends > ตั้งชื่อกลุ่ม > ค้นหาชื่อเพื่อนที่เป็นสมาชิกสไลด์แชร์ และกดเพิ่มชื่อเขาลงในกลุ่ม

* ควรเลือกใช้แบบตัวอักษรปกติที่มีมาจากในเครื่องคอมพิวเตอร์ จะลดปัญหาการอ่านบางข้อความไม่ได้ หรือถ้าหากต้องการความสวยงามเหมือนต้นฉบับเวลาแสดงผลบนเว็บก็ควรส่งเป็นไฟล์ PDF เพื่อทำการอัปโหลด

* ไม่ควรตั้งชื่อไฟล์เป็นภาษาไทย (Title) ทั้งตอนก่อนที่จะอัปโหลด และตอนที่อัปโหลดเสร็จแล้ว แต่สามารถใช้คำอธิบายสไลด์ (Description) และ ป้ายกำกับ (Tags) เป็นภาษาไทยได้

* เมื่อนำโค้ดของแต่ละสไลด์ไปติดที่บล็อก คุณสามารถปรับแต่งขนาดของแต่ละสไลด์ได้ที่โค้ด โดยสังเกตตรงเลขหลังคำว่า width และ height แล้วแก้ตัวเลขตามที่ต้องการ

* สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ระบบแมค สามารถส่งไฟล์คีย์โน้ตขึ้นเว็บได้ โดยการ คลิกขวาที่ไฟล์คีย์โน้ต เลือก Compress "ชื่อไฟล์" จะได้เป็นนามสกุล .zip อัปโหลดไฟล์ .zip นี้ไปยังสไลด์แชร์ได้เลย

ข้อดี

* มีการเก็บสถิติผู้อ่านสไลด์ของเรา โดยบอกอย่างละเอียดว่ามีคนมาดูสไลด์นี้กี่คน ทั้งจากทางหน้าเว็บ สไลด์แชร์เอง และจากที่เรานำโค้ดไปติด (embeds) ที่เว็บ หรือบล็อกต่างๆ

* เลือกรูปแบบลิขสิทธิ์สำหรับแต่ละสไลด์ได้

* ถ้าอัปโหลดไฟล์นามสกุลพาวเวอร์พอยต์ขึ้นไป จะมีการแสดงรายละเอียดของเนื้อหาทั้งหมดในสไลด์ที่ด้านล่างของหน้าเว็บสไลด์นั้นๆ ในหมวดของ "Presentation Transcript" แต่ถ้าอัปโหลดเป็น PDF ก็จะไม่มีการแสดงในส่วนนี้

* โน้ตที่เราใส่ไว้ท้ายของแต่ละสไลด์ เมื่ออัปโหลดไปสไลด์แชร์แล้วยังสามารถแสดงโชว์บนเว็บได้ในด้านล่างของแต่ละสไลด์ ที่เขียนว่า "Note on Slide"

ข้อเสีย

* การโหลดสไลด์ที่มีหลายหน้าอาจจะใช้เวลานานสักหน่อย

* ใช้งานกับภาษาไทยได้ แต่อาจจะไม่สมบูรณ์ 100% มีปัญหาเรื่องการตัดคำ และบางสระตกหล่น แต่ก็ถือว่าอ่านได้เข้าใจ (เพื่อป้องกันปัญหานี้ควรแปลงไฟล์พาวเวอร์พอยต์ให้อยู่ในรูปของไฟล์ PDF เสียก่อน)

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสไลด์แชร์

เว็บไซต์ที่มีผู้ใช้ทั่วโลกนี้ มีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน มีการเปิดชมเว็บไซต์กว่า 10 ล้านครั้ง/เดือน และกว่า150 บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งยุโรป และอเมริกาเลือกใช้บริการของที่นี่

สไลด์แชร์มีผู้อยู่เบื้องหลังรั้งตำแหน่งซีอีโอ คือ ดร.หญิงชาวอินเดีย ชื่อ "รัศมี" โดยเธอดูแลหน้าที่ของการออกแบบเว็บและชุมชน ส่วนตัวเธอชื่นชอบอาหารไทยมาก

เหตุการณ์ที่จุดประกายให้เธอมาสร้างเว็บศูนย์รวมพาวเวอร์พอยต์ ก็คือตอนที่เธอไปพรีเซ็นต์งาน แล้วใคร ๆ ก็อยากได้สไลด์จากเธอ จึงพากันเอาธัมป์ไดรฟ์ หรือสื่อบันทึกข้อมูลขนาดพกพามาให้เธอ เธอจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีสักที่ในโลกออนไลน์ที่ทำตัวเป็นศูนย์กลางให้ทุกคนเข้าถึงสไลด์ดีๆ ได้ เธอและพรรคพวกจึงสร้างสรรค์ www.slideshare.net ขึ้นมา เมื่อปีที่ผ่านมาทางทีมงานได้ทำการสรุปภาพรวมของการใช้เว็บไซต์นี้ พบว่า โดยเฉลี่ยสไลด์ทั่วไปจะมี 21 หน้า แต่ก็มีคนทำสูงสุดถึง 1162 หน้า

นอกเหนือจากการใช้สไลด์แชร์เป็นอีกหนึ่งห้องสมุดสุดอินเทรนด์แล้ว ถือเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย เพราะทุกครั้งที่มีการบรรยายใดๆ ผู้ชมทั่วโลกสามารถเข้าร่วมฟังได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องปริ้นท์เอกสารใดๆ ออกมาอีก เหมาะมากสำหรับอาจารย์ที่นำไปประกอบเล็กเชอร์ของตัวเอง ที่ใช้ได้ทั้งก่อนเรียน (ได้ทราบภาพรวมเนื้อหา) และหลังเรียน (ทบทวนบทเรียน) ที่สำคัญหากคุณกำลังมองหาโปรแกรมสร้างพรีเซ็นเทชันดีๆ ฟีเจอร์หรูๆ แบบไม่มีลิขสิทธิ์ ก็สามารถใช้ 280slides ที่เราเคยแนะนำไปก่อนหน้านี้ได้

ร่วมสร้างองค์ความรู้ภาษาไทยได้ ได้โดยการเลือกเพียงคนละ 1 สไลด์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ เพื่อมาแบ่งปันไว้ที่สไลด์แชร์ตั้งแต่วันนี้
โฮมเพจของเว็บสไลด์แชร์ www.slideshare.net
เมื่อกดปุ่มเมนู Browse ก็จะเจอสไลด์แบ่งตามหมวดหมู่ต่างๆ ให้คุณเลือกอ่านเสริมความรู้
หน้าจอขณะอัปโหลดไฟล์
หลังจากอัปโหลดไฟล์เสร็จแล้วก็จะต้องมีการใส่รายละเอียดของไฟล์นั้นๆ เช่น ชื่อไฟล์ ป้ายกำกับสำหรับการค้นหาทีหลัง รายละเอียดของไฟล์ การกำหนดการเข้าถึงไฟล์แบบส่วนตัวหรือสาธารณะ และการเลือกหมวดหมู่ของไฟล์
แต่ละสไลด์ผู้อ่านสามารถดาวน์โหลด ส่งต่อ และแสดงความเห็นกับสไลด์ได้
เมื่อดูแต่ละสไลด์ จะมีการแสดงผลสไลด์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสไลด์นี้ คำที่เกี่ยวข้องกับสไลด์นี้ ผู้อ่านจะได้คลิกอ่านเพื่อเปิดโลกความรู้ต่อได้ไม่รู้จบ
คุณสามารถเก็บสไลด์ใดๆ ก็ได้ไว้ในบัญชีส่วนตัวของคุณเอง หรือจัดเข้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องได้
มีการแสดงสถิติการเปิดชมแต่ละสไลด์ไว้อย่างละเอียด
แต่ละสไลด์ที่อัปโหลดจากไฟล์พาวเวอร์พอยต์ จะมีการแสดงรายละเอียดเนื้อหาของสไลด์นั้นๆ ไว้ที่ด้านล่างด้วย
ผู้สร้างสไลด์สามารถกำหนดลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันให้กับแต่ละสไลด์ได้
ตัวอย่างหน้าเพจของการอัปโหลดไฟล์เอกสารประเภทเวิร์ด
บางครั้งภาษาไทยก็มีปัญหาในการแสดงผลบนสไลด์แชร์
กำลังโหลดความคิดเห็น