เอเอฟพี - เจ้า เสี่ยวจวิน แม้ว่าจะไม่ได้รางวัลเหรียญทองใดๆ เฉกเช่นนักกีฬาโอลิมปิก แต่สถาปนิกหนุ่มใหญ่ชาวเซี่ยงไฮ้ ผู้ที่ช่วยเนรมิตศูนย์กีฬาทางน้ำ “ลูกบาศก์น้ำ” ก็ได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในมหกรรมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้
การที่ไมเคิล เฟลป์ส ฉลามหนุ่มจากสหรัฐฯ คว้าเหรียญทองว่ายน้ำ 8 เหรียญ อีกทั้งยังทำลายสถิติโลก 7 รายการ ทำลายสถิติโอลิมปิก 1 รายการ ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติ (National Aquatics Center) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ลูกบาศก์น้ำ” (Water Cube) ซึ่งมีลักษณะภายนอกอาคารคล้ายฟองสบู่ กลายเป็นดาวเด่นขึ้นมาในทันที
“มีคนบอกผมว่า มันเป็นสระว่ายน้ำมหัศจรรย์ เพราะนักว่ายน้ำหลายคนทำลายสถิติโลกที่นี่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา” สถาปนิกวัย 41 ปีให้สัมภาษณ์
พูดถึงเจ้า เสี่ยวจวิน คำว่า "ไม่เหมือนใคร" น่าจะเป็นนิยามที่ใช้บรรยายความเป็นตัวเขาได้เป็นอย่างดี เขาดูเป็นคนเรียบง่าย และกระตือรือร้นอย่างมาก ไม่เหมือนสถาปนิกคนอื่นๆ ซึ่งนี่น่าจะเป็นเคล็ดลับเบื้องหลังความสำเร็จของเขา
บริษัท ไชน่า คอนสตรักชั่น ดีไซน์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CCDI) ที่เจ้าร่วมก็ตั้งขึ้นนั้น ได้ร่วมมือกับบริษัทออกแบบ PTW Architects ของออสเตรเลียและบริษัทวิศวกรรมของลอนดอน Arup สร้างสถาปัตยกรรมบรรลือโลกแห่งนี้ขึ้นมา
แต่การออกแบบศูนย์บนพื้นฐานความคิดแบบตะวันตกและตะวันออกก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดขึ้น เดิมทีสถาปนิกชาวออสซี่แนะนำว่า อาคารศูนย์กีฬาทางน้ำของจีนควรออกแบบหลังคาให้มีดีไซน์เป็นรูปคลื่น เพื่อสื่อความรู้สึกของน้ำที่กำลังเคลื่อนไหว ตรงข้ามกับความคิดของทีมเจ้า ที่ต้องการให้หลังคาราบ ด้วยคอนเซปของน้ำตามความเชื่อของจีน ที่ถือว่าน้ำเป็นองค์ประกอบธรรมชาติที่สำคัญ และช่วยสร้างความสงบแก่บรรยากาศ
หลังจากผ่านการถกเครียดอยู่หลายสัปดาห์ในที่สุดแนวคิดของทีมเจ้าก็ชนะ
“คอนเซปก็คือมันไม่จำเป็นต้องดูโดดเด่นเมื่อยามแรกเห็น แต่หากคุณมองเข้าไปใกล้ๆ คุณจะรู้สึกถึงความสงบ และรู้สึกถึงความงามลึกๆ” เจ้ากล่าว
ในช่วงที่กระแสกีฬากำลังมาแรง ผนวกกับรัฐบาลท้องถิ่นพยายามอวดความสำเร็จทางเศรษฐกิจของตนเอง ทำให้ทางการระดับมณฑลหลายแห่งมาทาบทามเจ้าให้รับโครงการออกแบบสนามกีฬาอีก ด้วยหวังว่าเขาจะสามารถสร้างอาคารที่เยี่ยมยอดเทียบเท่ากับลูกบาศก์น้ำ
โดยโครงการใหม่ได้แก่ สวนกีฬาโอลิมปิกจี่หนัน ในมณฑลซันตง ทางตะวันออกของจีน ซึ่งจะสร้างเพื่อการแข่งขันกีฬาแห่งประเทศจีนในปีหน้านี้ รวมไปถึงศูนย์กีฬาไท่หยวนในมณฑลซันซี และศูนย์กีฬาโฮฮ์ฮอทในมองโกเลียใน ซึ่งทั้งสองสนามล้วนแล้วแต่อยู่ทางเหนือของจีน
บริษัทของเจ้านั้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างรวดเร็ว จากที่มีพนักงาน 200 คนปัจจุบันกลายเป็นไม่ต่ำกว่า 1,800 คน ขณะที่รายได้ก็เติบโต 80% ต่อปี และคาดว่าผลประกอบการปีนี้จะพุ่งเป็น 800 ล้านหยวน (120 ล้านเหรียญสหรัฐ)
เจ้าเล่าว่า ทางบริษัททุ่มเทเพื่อโปรเจ็ก Water Cube เป็นอย่างมาก โดยตามรายงานระบุว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณไปถึง 1,350 ล้านหยวน ซึ่งเงินส่วนใหญ่ได้มาจากเงินบริจาคของชาวจีนโพ้นทะเล แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทขาดทุนกับโปรเจ็กดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเขายังได้สิ่งตอบแทนกลับมาทางอื่น
“ชื่อเสียงของลูกบาศก์น้ำได้ช่วยดึงดูดผู้มีความสามารถมาทำงานกับเรา อีกทั้งประสบการณ์การทำงานในโปรเจ็กใหญ่ขนาดนี้ช่างประเมินค่ามิได้” เจ้ากล่าว
“มันเป็นใบเบิกทางชั้นยอดสำหรับธุรกิจนี้” เจ้ากล่าว พร้อมเสริมว่า “แม้แต่คู่แข่งของคุณก็รู้ว่ามันยากและลำบากแค่ไหนกว่าคุณจะบรรลุเมกะโปรเจ็กนี้ได้” และกระบวนการอนุมัติการสร้าง Water Cube นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
กล่าวคือส่วนประกอบสำคัญของศูนย์กีฬาลูกบาศก์น้ำก็คือ เยื่อหุ้มอัดลมทำจากเทฟลอนชนิด ETFE ซึ่งมีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแกร่งคงทนมาก โดยต้องใช้ถึง 3,065 ชิ้นมาคลุมโครงสร้างเหล็ก
โดยเทฟลอน ETFE นั้นเป็นวัตถุดิบที่เบากว่าแก้วถึง 100 เท่า ขณะเดียวกันก็ยอมให้แสงเข้าได้มากกว่าและป้องกันความร้อนได้ดีกว่า โดยก่อนที่จะนำมาใช้กับ Water Cube นั้น เทฟลอน ETFE เคยเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากเมื่อครั้งที่ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสร้างโดมจัดแสดงพันธุ์ไม้ ในโครงการอีเดน ศูนย์สิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ ในเมืองคอร์นวอลล์ของอังกฤษ
แต่เพื่อให้คณะกรรมการของจีนเชื่อว่าการติดตั้งพลาสติกไว้ภายนอกอาคารนั้นสามารถทนทานต่ออากาศทีแปรปรวนในปักกิ่งได้ บริษัทของเจ้าต้องทุ่มเทอย่างหนักเพื่อทดลองประสิทธิภาพของวัสดุ
ส่วนภายในก็ถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันโดยคำนึงถึงนักกีฬาว่ายน้ำเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญตั้งแต่เรื่องอุณหภูมิภายใน ไปจนถึงเรื่องฟองอากาศในสระน้ำ
ปัจจุบันศูนย์กีฬาแห่งนี้มีที่นั่งทั้งสิ้น 17,000 ที่ แต่หลังจากโอลิมปิกจบ จะมีการปรับปรุงที่นั่งให้ลดลงเหลือเพียง 6,000 ที่นั่งเท่านั้น โดยพื้นที่ส่วนเกินจะถูกปรับเป็นศูนย์สันทนาการชุมชน เจ้ากล่าว