xs
xsm
sm
md
lg

ผู้รู้แนะจีนทุ่มเงินภาคสังคม สร้างหลักประกันเศรษฐกิจโตระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเชียน วอลล์ สตรีต เจอร์นัล – ผู้เชี่ยวชาญชี้ รัฐบาลจีนต้องลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ หากหวังผลเศรษฐกิจเติบโตระยะยาว แนะรื้อการจัดสรรการใช้จ่ายในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 4 ล้านล้านหยวน (581,000 ล้านดอลลาร์) เสียใหม่ โดยเน้นความสำคัญด้านสวัสดิการสังคม เพื่อลดภาระของประชาชน

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลดังกล่าวมุ่งไปที่การก่อสร้างทางรถไฟ,สนามบิน และสิ่งสาธารณูปโภคอื่น ๆ เป็นหลัก แต่กลับเจียดเงินแค่ร้อยละ 1 สำหรับการดูแลภาคสังคม ซึ่งนายคาหลิด มาลิก หัวโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศจีน มองว่า หากรัฐบาลช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการให้สวัสดิการด้านการศึกษา, การรักษาพยาบาล และสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ผู้บริโภคก็จะนำเงินออมออกมาใช้จ่ายกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออก โดยเมื่อประชากรมีสุขภาพและการศึกษาดีขึ้นย่อมหมายถึงอำนาจการผลิตของประเทศ ที่มากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ถึงแม้ว่า การก่อสร้างถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจจีน ซึ่งขณะนี้ชะลอตัวอย่างมาก ทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินสำหรับการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่การดูแลประชาชนด้านสวัสดิการสังคมต่างๆ ก็ไม่ควรจะถูกละเลย
อาสาสมัครเข้าไปสอนหนังสือให้เด็กๆ ในชนบท
รัฐบาลจีนตั้งเป้าว่า ภายในปี 2543 จะใช้จ่ายเงินร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สำหรับการศึกษาของประชาชน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย โดยในปีที่แล้ว มีการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาทั้งสิ้นร้อยละ 2.8 ของจีดีพี

“เรามิได้ขาดแคลนเป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมาย สิ่งที่เราขาดแคลนก็คือมาตรการและนโยบายเฉพาะสำหรับบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น” เจ้า เตี้ยนกั๋ว ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงแห่งสังคมชนบทของกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงแห่งสังคมกล่าวต่อที่ประชุมยูเอ็นเมื่อเร็ว ๆ นี้

ในประเทศสหรัฐอเมริกา การขยายโครงการด้านสังคมถือเป็นมาตรการสามัญธรรมดาในการต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยรัฐสภาสหรัฐฯ เพิ่งพิจารณาอนุมัติการเพิ่มเงินสงเคราะห์และสิทธิพิเศษต่าง ๆ สำหรับคนตกงาน และว่าที่ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ยังให้สัญญาจะบรรจุมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมอีกด้วย โดยกำลังมีการถกเถียงกันว่าจะงัดมาตรการใดมาใช้ เช่นเพิ่มการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลสำหรับครอบครัวผู้มีรายได้ลดลง, ขยายการออกบัตรอาหาร และให้เงินช่วยเหลือการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มงบประมาณด้านสังคมกลับกลายเป็นเรื่องลำบากยากเย็นอย่างน่าพิศวงบนแผ่นดินมังกร เนื่องจากไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดของรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินและดำเนินโครงการ ทั้งนี้เนื่องจาก จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ และมีการกระจายอำนาจการปกครองไปยังท้องถิ่นในหลายระดับ

รัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่ง แทบไม่มีคำสั่งโดยตรงเกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านสังคมในท้องถิ่นมานานหลายสิบปีแล้ว โดยปล่อยให้คณะผู้ปกครองท้องถิ่นจัดการกันเอง

ฝ่ายพวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ก็มักให้ความสนใจส่งเสริมโครงการภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มพูนรายได้การจัดเก็บภาษี มากกว่าขยายโครงการด้านสังคม ซึ่งมีแต่ต้องจ่ายเงินออก

ยกตัวอย่าง เช่น โครงการเงินประกันค่าครองชีพขั้นต่ำ หรือ “ตีเป่า” ไปถึงมือผู้มีสิทธิ์ได้รับน้อยเหลือเกิน และยังไม่มีการขยายการขึ้นทะเบียนเท่าใดนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกรุงปักกิ่งมักไร้หนทางในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในท้องถิ่น ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญของภารกิจมีความแตกต่างกัน

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมักบ่นเรื่องที่ไม่ได้รับมอบหมายอำนาจในการใช้จ่ายเงินสำหรับโครงการใหม่ ๆ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางกลับวิตกกว่า เงินใด ๆ ก็ตาม ที่ส่งไปยังท้องถิ่นมักจะสูญเปล่า

“รัฐบาลกลางมีอุปสรรคใหญ่หลวงในการตรวจสอบการใช้จ่ายของคณะผู้ปกครองท้องถิ่น” มาร์ก วิลเลียมส์ แห่งสถาบันวิจัยแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ในกรุงลอนดอนกล่าว

การขาดหลักประกันความมั่นคงด้านสังคมเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนต้องรัดเข็มขัด โดยครอบครัวในเมืองออมเงินจากเงินรายได้มากถึงกว่า 1 ใน 4 และกำลังออมเงินกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวเอง

ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจระบบตลาดเสรี สถาบันที่เกี่ยวข้องกับงานบริการสาธารณของจีนมากมายต้องล่มสลาย และส่วนใหญ่แล้ว ไม่มีการตั้งองค์กรอื่นมาทดแทน

ทุกวันนี้ จีนมีสวัสดิการให้น้อยมากสำหรับคนยากจน นอกจากนั้นเงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ และระบบประกันสุขภาพของรัฐและเอกชนก็ช่วยเหลือประชาชนได้เพียงเล็กน้อย

ด้วยเหตุนี้เอง ครอบครัวชาวจีนจึงต้องเป็นฝ่ายควักกระเป๋าจ่ายค่าเล่าเรียน,ค่ารักษาพยาบาล และค่าเลี้ยงดูบิดามารดาที่สูงอายุ ผิดกับในยุโรป และสหรัฐฯ ที่รัฐเป็นผู้จ่ายค่าสวัสดิการสังคมเหล่านี้ให้

ทว่าก็มีผู้มองในแง่ดีว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดสร้างโครงการด้านสังคมขึ้นมาหลายโครงการ เช่นให้การศึกษาชั้นประถมฟรี, ขยายสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการและการรักษาพยาบาลแก่คนยากจนในในชนบท

แม้ปัจจุบัน โครงการเหล่านี้ยังมีน้อยมาก แต่โครงการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นย่อมหมายความว่าขณะนี้ รัฐบาลอาจสามารถทำตามสัญญา ที่ให้ไว้ได้มากขึ้น

รัฐบาลจีนระบุว่า การยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นงานสำคัญอันดับต้นในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว โดยรัฐบาลสัญญาว่าจะเพิ่มเงินบำนาญของรัฐ และจ่ายค่าสวัสดิการให้แก่คนยากจนในเมืองและชนบท

นอกจากนั้น ยังจัดเงินก้อนใหม่จำนวน 4,800 ล้านหยวนสำหรับช่วยเหลือคลินิกหลายพันแห่งในท้องถิ่นชนบทยากจนอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่เงินมากมายอะไร หากเทียบกับแผนใช้จ่ายด้านอื่น แต่มันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี

ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยเหลือผู้บริโภคได้โดยตรงขึ้น จึงคาดว่าบรรดาผู้นำจีนคงจะมีมาตรการใหม่ ๆ ออกมาอีกในเร็ววัน

ทว่าสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนในการแบ่งงานกันระหว่างรัฐบาลกลาง และคณะผู้ปกครองท้องถิ่น อันนับเป็นงานยุ่งเหยิง ที่ต้องใช้เวลาสะสางกันนานทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น