เอเชียไทม์ – ขณะที่จีนก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการสำรวจอวกาศ แต่ผู้นำในสหรัฐอเมริกากำลังสงสัยว่าจีนขโมยความลับทางเทคโนโลยีอวกาศ และมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นสายลับให้จีนไปหลายรายแล้ว
เหยื่อผู้ต้องสงสัยรายล่าสุดคือ นาย สู ฉวนเชิง นักฟิสิกส์และผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทในมลรัฐเวอร์จิเนีย ถูกจับกุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยนายสู ถูกอาจถูกตัดสินจำคุกสิบปี และปรับหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐฯ ในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมการส่งออกอาวุธ สองข้อหา นอกจากนี้เขายังอาจจะได้รับโทษจำคุกเพิ่มเติมอีกห้าปี และปรับอีก250,000 เหรียญฯ ในข้อหาขายความลับให้ต่างชาติ รวมเป็นโทษจำคุก 25 ปี โดยคดีของเขาจะถูกตัดสินในเดือนเมษายนปีหน้า
เอกสารข่าวของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อ้างว่า ตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2007 นายสูขายข้อมูลเรื่อง การออกแบบและพัฒนาระบบเชื้อเพลิงสำหรับจรวดอวกาศให้ประเทศจีน โดยข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้ในศูนย์วิจัยอวกาศของจีนที่ มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ)
มณฑลไห่หนาน เป็นพื้นที่ซึ่งทางการจีนเพิ่งสร้างฐานยิงจรวดอวกาศริมชายฝั่งแห่งแรก ที่ใช้ชื่อว่า ศูนย์ส่งดาวเทียมเวิ่นฉาง เนื่องจากที่นี่มีพื้นที่กว้างใหญ่และอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะทำให้ดาวเทียมขนาดใหญ่ถูกยิงเข้าสู่วงโคจรได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อเดือนมกราคม ปี 2007 ทางการจีนได้ให้สัมปทานโครงการระบบเชื้อเพลิงไฮโดรเจรเหลวที่ศูนย์เวิ่นฉาง มูลค่าสี่ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่บริษัทฝรั่งเศส ที่นายสูเป็นผู้ยื่นเสนอโครงการ
ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์พีเพิ่ลเดลี่ รายงานว่าการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการศูนย์ส่งดาวเทียมเวิ่นฉางได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนแล้ว และจะเริ่มก่อสร้างในเร็ววัน โดยทางการจีนตั้งเป้าให้ศูนย์แห่งนี้เปิดกว้างรับความร่วมมือจากนานาชาติ และพัฒนาเป็นศูนย์ส่งดาวเทียมชั้นนำหนึ่งของโลก
กระทรวงยุติธรรมแห่งสหรัฐฯ อ้างว่า “นายสูให้ความช่วยเหลือรัฐบาลจีนในการพัฒนาศักยภาพด้านการสำรวจอวกาศและเทคโนโลยีดาวเทียม โดยให้ข้อมูลด้านเทคนิคด้านต่างๆ โดยเฉพาะเทคนิคการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลวในการส่งจรวด นอกจากนี้นายสูยังจัดแจงให้เจ้าหน้าที่จีนเข้าเยี่ยมชมศูนย์ยิงจรวด และศูนย์ผลิตไฮโดรเจนหลายแห่งในยุโรป”
นายสู เป็นชาวจีน ที่แปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน โดยดำรงตำแหน่งประธาน เลขา และเหรัญญิกของบริษัท AMAC อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีสำนักงานใหญ่ในรัฐเวอร์จิเนีย ของสหรัฐฯ และมีสาขาในประเทศจีน นอกจากนี้เขายังเป็นกรรมการในสถาบันหล่อเย็นนานาชาติ (International Institute of Refrigeration) และเป็นรองประธานโครงการแอพพลาย ซุปเปอร์คอนดักทิวิตี้ ของสหรัฐฯ, (US Applied Superconductivity Conference)
ในเว็ปไซต์ของบริษัท AMAC ระบุว่า “ให้บริการเทคโนโลยีล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ โดย AMACได้รับเงินอุดหนุนการวิจัยจำนวนสองล้านเหรียญจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และองค์การนาซ่า AMAC ยินดีที่จะให้คำปรึกษาด้านเทคนิค รวมทั้งเข้าบริหารโครงการให้กับหน่วยงานต่างๆ”
AMAC มีความตั้งใจที่จะบุกเบิกธุรกิจในจีน โดยได้ระบุในเอกสารข่าวของบริษัทว่า “AMAC ได้เปิดแผนกบริการนานาชาติ เพื่อรุกธุรกิจในประเทศเอเซีย โดยขณะนี้ AMAC เป็นผู้แทนให้กับบริษัทมากกว่า 17 แห่ง และยินดีที่จะเปิดรับลูกค้าใหม่ๆ ทั้งนี้ AMAC ได้เปิดสำนักงานในกรุงปักกิ่ง ซึ่งจะช่วยให้บริการกับลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น”
ริก ฟิชเชอร์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุทธศาสตร์นานาชาติ (International Assessment and Strategy Center) ที่วอชิงตัน ดี ซี อ้างว่าข้อมูลที่นายสูให้กับทางการจีน มีส่วนช่วยเหลืออย่างมากสำหรับโครงการยานขนส่งทางอวกาศฉางเจิง CZ-5
“มันเป็นความจริงว่า เทคโนโลยีที่นายสูขายให้ทางการจีนนั้นมีส่วนช่วยเหลือโครงการสร้างสถานีอวกาศ และการส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ของจีน” ฟิชเชอร์ กล่าว
นักวิจัยสหรัฐฯ อ้างว่า จรวดขนส่ง CZ-5 เป็นจรวดขนาดใหญ่ ทำให้ขนส่งทางรถหรือรถไฟได้ลำบาก แต่สำหรับศูนย์เวิ่นฉาง ที่อยู่ริมทะเลนั้น ทำให้ปัญหานี้หมดไป
ในคำฟ้องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยังอ้างถึงหน่วยงานที่มีส่วนรับรู้ในการลักลอบส่งข้อมูลลับครั้งนี้ เช่น หน่วยปรมาณูของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน รวมทั้ง สถาบันวิจัย 101 ในสังกัดของสภาวิชาการด้านเทคโนโลยีขนส่งแห่งชาติจีน (the China Academy of Launch Vehicle Technology) แต่ที่สุดแล้ว กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯชี้ไปยัง คณะกรรมมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศจีน ว่าเป็นตัวการใหญ่ที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด
“เมื่อเดือนมกราคม ปี 2007 นายสู เป็นนายหน้าในการทำสัญญาระหว่างสถาบันวิจัย 101 ของจีน กับบริษัทฝรั่งเศสแห่งหนึ่ง เพื่อจัดสร้างเครื่องกลั่นไฮโดรเจนกำลังผลิต 600 ลิตรต่อชั่วโมง ซึ่งเครื่องกลั่นไฮโดรเจนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระบบส่งจรวดอวกาศ นอกจากนี้บริษัท AMAC ของนายสู และบริษัทฝรั่งเศสดังกล่าวยังได้รับสัมปทานโครงการอีก 5 โครงการ ซึ่งทั้งหมดใช้ในฐานยิงจรวดที่ไห่หนาน” กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุ
ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อ้างว่า เทคโนโลยีข้างต้นเป็นข้อมูลลับทางการทหาร
ข้างฝ่าย กระทรวงการต่างประเทศจีน โดย นายฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่ว่าจีนจารกรรมความลับ โดยบอกว่า “ไม่มีมูลความจริง” และ "เป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้น"
ไบรอัน วีดอน ที่ปรึกษาด้านเทคนิคของมูลนิธิความมั่นคงแห่งโลก (Secure World Foundation) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองควิเบก ให้ความเห็นว่า “นายสูไม่ได้ ขโมย เทคโนโลยีของอเมริกัน ไปให้จีน แต่เขาช่วยให้จีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ตามขั้นตอนทางธุรกิจทั่วไป ซึ่งทั้งนี้อาจมีการติดสินบน หรือฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาวุธได้”
นายวีดอน ยังให้ความเห็นว่าสื่ออเมริกันตีข่าวนี้ให้ใหญ่โตเกินควร “สหรัฐฯกลัวว่าฝ่ายจีนจะครอบครองเทคโนโลยีที่อาจนำไปให้ต่อกรทางทหารกับสหรัฐฯ ทั้งๆที่การทำธุรกิจซิกแซกแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก และเกิดขึ้นในแทบทุกประเทศทั่วโลก”
“ในแง่หนึ่งกฎหมายคบคุมอาวุธมุ่งจะควบคุมการแพร่กระจายเทคโนโลยีทางการทหาร แต่อีกแง่หนึ่งก็ควบคุมไปถึงเทคโนโลยีที่อาจนำไปใช้ได้ในสองทาง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในปฏิบัติการนอกอวกาศอย่างสันติ และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงเหลว ซึ่งเป็นกรณีของนายสูก็เข้าข่ายนี้” นายวีดอน กล่าว
แต่ ริก ฟิชเชอร์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุทธศาสตร์นานาชาติ (International Assessment and Strategy Center) ที่วอชิงตัน ดี ซี กลับเห็นต่างออกไป
“นี่คือการจารกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายหากเราร่วมมือกับจีนในโครงการอวกาศ ตอนนี้มีหลายส่วนในวอชิงตันอยากจะร่วมมือกับจีนในโครงการอวกาศอย่างหลับหูหลับตา โดยไม่ตระหนักว่าจีนจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในความสำเร็จในการสำรวจอวกาศของเรา สหรัฐฯต้องตระหนักว่า โครงการอวกาศของจีนถูกควบคุมโดยทหาร และมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้งานทางทหาร” ริก ฟิชเชอร์ นักวิจัยชาวอเมริกัน กล่าว
ฟิชเชอร์ เตือนว่า หากสหรัฐฯร่วมมือกับจีนในการสำรวจอวกาศ ความลับทางเทคโนโลยีมีสิทธิ์จะรั่วไหลไปใช้ในการทหารของจีนได้ทุกเมื่อ
“ชาวอเมริกันทั้งมวลมีส่วนร่วมในเทคโนโลยีอวกาศ แต่เรากลับมอบการตัดสินใจให้นักการเมือง แต่พวกเขาต้องตระหนักว่า ทรัพย์สมบัติของชาติจะไม่ไปตกอยู่ในมือพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพ” ฟิชเชอร์ กล่าว
ถึงแม้ว่า กรณีของสู ฉวนเชิง จะยังไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นสายลับ แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาก็มีเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และชาวจีน จำนวนไม่น้อยถูกจับข้อหาเผยแพร่ความลับในต่างชาติ เช่น นายฉือ มัก ,นายฉง ตงฟาง และนายเกร็ก เบอร์เจอเสน เป็นต้น
นายฉือ มัก เป็นชาวจีนสัญชาติอเมริกัน เขาถูกกล่าวหาว่า แทรกซึมตัวเข้าไปทำงานในหน่วยงานไฮเทค ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อกว่า 20 ปีก่อนเพื่อขโมยความลับทางอุตสาหกรรมทหาร ต่อมา เขาถูกหน่วยต่อต้านข่าวกรองของสหรัฐฯจับได้ และถูกตัดสินจำคุก 20 ปี
ฉง ตงฟาน พนักงานของบริษัทโบอิ้ง ถูกจับและตั้งข้อหาว่าเปิดเผยข้อมูลลับเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและกระสวยอวกาศให้กับทางการจีน
ส่วน เกร็ก เบอร์เจอเสน นักวิเคราะห์ประจำสถาบันความร่วมมือด้านความมั่นคงทางกลาโหมแห่งสหรัฐฯ ( Defense Security Cooperation Agency) ถูกจับกุมในข้อหาส่งต่อความลับทางทหารของสหรัฐฯ ให้กับนายกัว ไท่เซิง ซึ่งถูกจับกุมในเวลาต่อมาเช่นกัน แต่นายกัว ได้ส่งมอบข้อมูลดังกล่าวให้กับทางฝ่ายจีนแล้ว
ทั้งนี้ฝ่ายสหรัฐฯ ยังอ้างว่านายกัวยังได้ข้อมูลลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเทียม ซึ่งนายเบอร์เจอเสน ได้มาในช่วงที่ประจำการในกองทัพเรือสหรัฐฯ ในส่วนของการควบคุมระบบสื่อสาร คอมพิวเตอร์และข่าวกรอง ในโครงการ C4I ช่วงต้นปี 2000 ก่อนที่นายเบอร์เจอเสน จะย้ายมาทำงานที่สถาบันความร่วมมือด้านความมั่นคงทางกลาโหม (Defense Security Cooperation Agency)
อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐฯ ยังไม่ยืนยันในเรื่องนี้.