เอชีย ไทมส์ – ยักษ์ใหญ่สื่อมะกันเจอสวนกลับหลังออกโรงสอนมวยรัฐบาลจีน แนะนโยบายเลี่ยงผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ โดยซามูเอล เบลเชอร์ แห่งบริษัทที่ปรึกษา เดอะ เสตรทเตจิค แพท แอลแอลซี โจมตีคำชี้แนะดังกล่าว ไม่มองบริบทความแตกต่างระหว่างจีนกับอเมริกัน
บทบรรณาธิการนิวยอร์ก ไทมส์ ชื่อบทความ "As Goes China, so Goes ..." แนะรัฐบาลจีนจะฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องเดินตามอเมริกัน จัดการลดส่งออก ขยายนำเข้า พร้อมสร้างเศรษฐกิจที่เน้นผู้บริโภคสินค้าทันสมัย ระบุรัฐบาลจีนมีทุนมาก แถมตลาดมีอุปสงค์สูงอยู่แล้ว หากรัฐบาลเดินตามรอยเท้าอเมริกันรับรองรุ่ง
ด้านเบลเชอร์จวกกลับความคิดที่เสนอในสื่อยักษ์ใหญ่นิวยอร์ก ไทมส์นั้น ตื้นเขิน การเปลี่ยนแปลงยุ่งยากกว่าที่คิด ทำไมต้องเดินตามอเมริกัน ในเมื่อเศรษฐกิจอเมริกันพึ่งประสบปัญหา ระบุยุคนี้ไม่เหมือนก่อน พลังงานราคาสูงกว่าเดิมมาก แถมมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม จีนจำต้องหาแนวทางใหม่ไม่ใช่ตามก้นมะกัน
บทบรรณาธิการนิวยอร์ก ไทมส์ยังระบุการแก้ปัญหาอีกว่า ชาวจีนใช้จ่ายน้อย ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยมีสัดส่วนเพียง 1/3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ตรงข้ามกับสหรัฐฯที่มีสัดส่วนสูงถึง 70% ดังนั้นรัฐบาลมังกรต้องส่งเสริมให้คนใช้จ่ายมากขึ้น โดยภาครัฐต้องริเริ่ม เทงบออกมา สร้างสวัสดิการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ชาวจีนออมน้อยลง และใช้จ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า แนวทางอเมริกันข้างต้นอาจไม่ใช่คำตอบในยุคนี้ ที่ปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก และแนวทางอเมริกันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า “ทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม”
เบลเชอร์วิจารณ์ว่า “หลายคนคงสงสัยว่า จีนจะทำตามข้อเสนอของนิวยอร์ก ไทมส์หรือ ในเมื่อเห็นกันอยู่ชัดๆว่า เศรษฐกิจอเมริกันปัจจุบันเป็นอย่างไร”
“นิวยอร์ก ไทมส์ลืมพิจารณาถึง ความคลาดเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งจะเกิดจากการเดินตามรอยเท้าอเมริกัน ไม่มีแล้วพลังงานราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติก็เสื่อมโทรมลงมาก การสร้างเมืองโดยกระตุ้นให้คนแห่ซื้อรถก็ไม่ใช่ประเด็นของยุคนี้ ดังนั้นจีนจำต้องสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจและแนวนโยบายใหม่ๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายมาก” เบลเชอร์กล่าว
“การเพิ่มรายได้ให้กับชาวจีนที่ยากจนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่าย ทว่าต้องทำไปอย่างระมัดระวัง การผลิตและแจกจ่ายสินค้าและบริการ ที่ประชาชนต้องการอย่างเช่น การศึกษาขั้นสูง และบริการด้านสุขภาพ ไม่ใช่ของโหลที่ทำกันง่ายๆ ถ้ารีบเร่งเกินไปก็อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ แทนที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต”
ชี้ข้อแตกต่างระหว่างจีน-อเมริกัน
นอกจากนี้เบลเชอร์ยังระบุว่า “ต้องทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างผู้บริโภคจีนกับอเมริกันชาวจีนจะมีความอ่อนไหวต่อข่าวร้ายมากกว่า สื่อจีนอาทิ ไชน่า เดลี่ เพิ่งรายงานข่าวว่า หลังจากทราบข่าวเกี่ยวกับวิกฤตการเงิน ผู้บริโภคจีนรายหนึ่งก็เลื่อนกำหนดซื้อจักรยานคันใหม่ออกไป ทั้งที่เธอยังไม่ได้เผชิญกับผลกระทบจากวิกฤต ดังนั้นการสร้างความมั่นใจและกระตุ้นอุปสงค์ในหมู่ชาวจีนในเวลานี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ”
ทั้งนี้นิวยอร์ก ไทมส์ระบุว่า “ขณะนี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม (ซึ่งเป็นพลังหลักของเศรษฐกิจจีน) กำลังสะดุด ดังนั้นจีนต้องเลือกแปลี่ยนแปลงบ้าง โดยการผลิตเพื่อขายภายในประเทศให้มากขึ้นแทนที่จะเน้นส่งออกมาก นอกจากนี้ยังต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นด้วย”
เบลเชอร์วิจารณ์ข้อเสนอข้างต้นว่า “การเปลี่ยนแปลงแนวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดังที่นิวยอร์ก ไทมส์เสนอ อาจมีผลเสียร้ายแรงต่อธุรกิจและแรงงาน”
“โรงงานผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไม่สามารถปรับทิศทาง ผลิตเพื่อขายภายในจีนได้ง่ายๆ สินค้าส่งออกส่วนมากเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อน และเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเช่น ของเล่น และโทรทัศน์ ทว่าผู้บริโภคชาวจีนส่วนมากไม่ได้บริโภคสินค้าประเภทนี้ เนื่องด้วยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีรายได้มากเท่าผู้บริโภคชาวตะวันตกที่ร่ำรวย”
นอกจากนี้เบลเชอร์ยังชี้ประเด็นว่า “โรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกส่วนมากตั้งอยู่แถบชายฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่สะดวกแก่การกระจายและส่งสินค้าไปต่างประเทศ ในทางตรงข้ามระบบการกระจายสินค้า และการตลาดในประเทศก็ยังไม่ดีพอ ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำมากกว่าการชี้นิ้ว บอกให้โรงงานในแถบชายฝั่งผลิตเพื่อขายในประเทศคือ การเปิดโรงงานใหม่ในภาคกลาง และภาคตะวันตกของจีน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่ และระบบการกระจายสินค้าใหม่ที่เหมาะสม ตรงข้ามกับการบังคับให้โรงงานเปลี่ยนทิศทางการผลิต ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการดุลคนงานออก”
เบลเชอร์ยังเตือนให้เห็นถึงการเดินตามแนวทางอเมริกันว่า ละเลยสิ่งที่ไม่อาจวัดได้ด้วยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นั่นคือ ปัญหาเกี่ยวกับคน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง
“การเดินตามแนวทางอเมริกันอาจทำให้ตัวเลขจีดีพีสวยหรู แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาได้ ขณะนี้คนงานโรงงานของเล่น กำลังประท้วงกันอย่างเคร่งเครียด หลังจากพวกเขาถูกปลดและลดเงินเดือน เนื่องจากข่าวฉาวของเล่นจีนปนเปื้อนสารตะกั่วทำให้ยอดส่งออกลดลง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญตอนนี้จึงไม่ใช่เรื่องการกระตุ้นการบริโภค แต่คือการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม และสร้างความมั่นคงทางสังคม” เบลเชอร์กล่าว
นอกจากนี้เบลเชอร์ยังวิจารณ์ต่อไปว่า บทบรรณาธิการของนิวยอร์ก ไทมส์ พูดเรื่องการส่งสินค้าออกอย่างมหาศาลของจีน และภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนที่ฝืดเคือง แต่ทำไมนิวยอร์ก ไทมส์ถึงไม่พูดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อน และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นข้อจำกัดทำให้ไม่เกิดการบริโภคขนานใหญ่
หากตั้งเป้าให้จีนเดินตามรอยอเมริกันที่เน้นการบริโภคสินค้าและบริการอย่างมหาศาล ความต้องการพลังงานของจีนก็จะต้องเพิ่มมากด้วย อย่างไรก็ตามแหล่งพลังงานหลักของจีนคือถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน ที่สร้างปัญหามลภาวะทางน้ำและอากาศ ดังนั้นการเดินตามรอยอเมริกันจึงไม่ใช่ทางออก ในอนาคตเราปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานทางเลือกเป็นสิ่งจำเป็น
ขณะนี้การวางผังเมืองของจีนโดยเฉพาะปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้เน้นการคมนาคมขนส่งโดยรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งทำให้เกิดการบริโภคพลังงาน และการสร้างสาธารณูปโภคที่ไม่ยั่งยืน ทางการจีนเองก็จ่ายเงินอุดหนุน ตรึงราคาน้ำมันเพื่อเอาใจชาวเมือง ที่ควักกระเป๋าถอยรถป้ายแดงออกมา การส่งเสริมตามแนวทางการพัฒนาแบบอเมริกันนี้จะส่งผลเสียมากกว่า
“พ้นจากปัญหาเรื่องการบริโภคพลังงานอย่างสิ้นเปลืองแล้ว จีนยังประสบปัญหาภาวะแห้งแล้ง การตัดไม้ทำลายป่า ทำเหมืองแร่ และโรงงานที่ดำเนินการอย่างไร้ความรับผิดชอบ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสุขภาพของมนุษย์ด้วย” เบลเชอร์ย้ำ
ทั้งนี้เบลเชอร์ยังวิจารณ์ข้อความจากบทบรรณาธิการที่ระบุว่า “การกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะทำให้จีนฝ่าฝันมรสุมเศรษฐกิจไปได้” โดยเบลเชอร์ระบุว่า เป็นการเสนอแนวทางที่ลืมพิจารณาว่า “แล้วจีนจะฝ่ามรสุมการเมืองได้อย่างไร?”
“ระบอบการเมืองจีนในปัจจุบันสร้างความชอบธรรมด้วยการสัญญาว่า ทุกคนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นหากประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า ชีวิตของพวกเขาไม่ดีขึ้น ความชอบธรรมของระบอบย่อมถูกสั่นคลอน” เบลเชอร์กล่าว
ผู้นำจีนก็ตระหนักถึงประเด็นนี้ และพวกเขาได้กล่าวเตือนประชาชนให้ทราบถึงความยากลำบากในกาลข้างหน้า โดยบรรดาผู้นำต่างโทษว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ การกระตุ้นการบริโภคอาจช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวแล้วจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง
เบลเชอร์สรุปว่า การเสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยนิวยอร์ก ไทมส์เป็นการให้ยาแบบง่ายๆ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นได้ในระยะยาว และยานี้ก็เป็นยาที่จะเปลี่ยนให้จีนเดินตามแนวทาง ที่อเมริกันเคยเดินมาแล้วในศตวรรษที่ 20 ทั้งนี้เบลเชอร์ระบุถึงทางเลือกอื่นซึ่งเสนอโดย จอร์จ โซรอส ระหว่างการให้สัมภาษณ์นิตยสารไช่จิง
โซรอสระบุว่า “ผมหวังว่าทั้งจีนและสหรัฐฯจะริเริ่มมาตรการประหยัดพลังงาน และพลังงานทางเลือกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะนี่คือสิ่งที่เราต้องการ เพื่อก้าวพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เราเผชิญอยู่ ภาวะที่เศรษฐกิจโลกถูกกระตุ้นด้วยการบริโภคอย่างมหาศาลจากสหรัฐฯจบลงแล้ว เราจำต้องหาหนทางใหม่ๆ ตามทัศนะของผมตอนนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาพวกนี้ จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนมหาศาล และการลงทุนนี้ก็น่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจโลกหมุนต่อไป”