xs
xsm
sm
md
lg

กรุณาอย่าดันทุรัง

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

สัปดาห์ที่แล้ว วันที่ 23 มกราคม 2551 นายจอร์จ โซรอส (George Soros) พ่อมดทางด้านการเงินชื่อก้องของโลกเผยแพร่บทความวิพากษ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชื่อ “The worst market crisis in 60 years” หรือ “วิกฤตของตลาดที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 60 ปี” ออกสู่สายตาชาวโลก ผ่านทางหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์

เนื้อหาในบทความชิ้นดังกล่าวของโซรอสมองไปที่วิกฤตฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาที่กำลังขยายตัวกลายเป็นวิกฤตใหญ่และกำลังจะก่อให้เกิดภาวะความตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยวิกฤตครั้งนี้โซรอสคาดการณ์ว่าจะเป็นวิกฤตครั้งที่หนักหนาที่สุดในรอบ 60 ปี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ที่สำคัญครั้งนี้ด้วยปัจจัยความผันผวนหลายๆ ประการจะบีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

“ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในโลกพัฒนาแล้ว เวลานี้อย่างไรเสียก็คงเป็นสิ่งหลีกหนีไม่พ้น แต่สำหรับจีน, อินเดีย และผู้ผลิตน้ำมันบางประเทศ กลับกำลังอยู่ในสถานะที่สามารถสวนกระแสได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้น วิกฤตทางการเงินในปัจจุบันจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แต่น่าจะทำให้เกิดการปรับตัวกันอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจระดับโลกมากกว่า โดยที่สหรัฐฯ จะเสื่อมถอยลงโดยเปรียบเทียบ ส่วนจีนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะผงาดขึ้นมา

“อันตรายนั้นอยู่ตรงที่ความตึงเครียดทางการเมืองต่างๆ ซึ่งตามมา รวมทั้งลัทธิการกีดกันการค้าในสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะก่อกวนเศรษฐกิจของโลก จนทำให้โลกจมดิ่งลงสู่ภาวะถดถอย หรือกระทั่งเลวร้ายกว่านั้น” โซรอส กล่าวไว้ในตอนท้ายของบทความ


เมื่อได้ฟังคำทำนายของโซรอสแล้ว หลายคนหันหน้าไปหาหิ้งพระพนมมือและภาวนาว่า แม้ปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอย แต่ก็ขอให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนและอินเดีย สองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียช่วยกอบกู้หรืออย่างน้อยๆ ช่วยบรรเทาวิกฤตโลกครั้งนี้เสียหน่อย

อย่างไรก็ตามการพนมมือและภาวนาดังกล่าวกลับถูกขัดคอโดย นายสตีเฟน โรช (Stephen Roach) นักเศรษฐศาสตร์ระดับกูรูของบริษัทมอร์แกน สแตนเลย์ ...

โรชแย้งความเห็นของโซรอส โดยกล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของประเทศจีนและอินเดียนั้นแม้ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตที่รวดเร็วก็จริง แต่การไปตั้งความหวังว่า จีน และ อินเดีย จะสามารถเข้ามากอบกู้ภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากสหรัฐฯ นั้นถือเป็นเรื่องที่ “เพ้อฝัน” เกินไป

ทั้งนี้เขาพิสูจน์คำพูดดังกล่าวให้เห็นผ่านสถิติง่ายๆ คือ ระดับการบริโภคของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ในปี 2550 นั้นสูงถึง 9.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบระดับการบริโภคของผู้บริโภคในจีนและอินเดียในช่วงระยะเวลาเดียวกันที่แม้ว่าจะมีจำนวนประชากรมากกว่าสหรัฐฯ หลายเท่า แต่กำลังการบริโภคของประชากรกลับอยู่ที่เพียงระดับ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวจีนหรือชาวอินเดียจะช่วยชดเชยความเสียหายของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้

มากกว่านั้น ในปัจจุบันเศรษฐกิจของจีนเองก็ยังอยู่ในสถานะที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง กอปรกับภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่รวดเร็วเกินไปจนก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนและภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นส่วนตัวผมเองเห็นด้วยกับโรชที่ว่า การไปคาดหวังว่าจีนจะช่วยคนอื่นนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะปัญหาภายในของจีนเองก็หนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

กลับมาถึงบ้านเรากันบ้าง ......

หลังจากที่พวกเราได้ยลโฉมท่านประธานสภาฯ ยงยุทธ ติยะไพรัช และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวชไปแล้ว คิวต่อไปที่จะได้เห็นหน้าค่าตาก็คือ คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของคุณสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกจัดสรรมาจากฮ่องกง โดยตำแหน่งรัฐมนตรีที่ถูกจับตามองมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นตำแหน่ง ขุนคลัง หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เป็นที่ทราบกันมาหลายเดือนแล้วว่า ถ้าพรรคพลังประชาชนได้เสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ประธานสภาฯ จะต้องชื่อ ยงยุทธ ติยะไพรัช และ นายกรัฐมนตรีจะต้องชื่อสมัคร สุนทรเวช อย่างไรก็ตามยังไม่มีใครทราบแน่นอนว่าตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ นั้นจะมีการจัดสรรกันอย่างไร?

ในส่วนของ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นมีการประกาศหยั่งเชิงกันตั้งแต่การเลือกตั้งเสร็จใหม่ๆ แล้วว่าอาจจะเป็น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป กลับมีการยกเอา ‘เป้าหลอก’ ขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและเพื่อลดกระแสแรงเสียดทานจากนักลงทุนและภาคธุรกิจที่แสดงความไม่เชื่อมั่นต่อ นพ.สุรพงษ์ โดยชื่อที่ถูกยกขึ้นมานั้นก็เป็นชื่อคุ้นๆ หูอย่างเช่น วีรพงษ์ รามางกูร, ทนง พิทยะ, สุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นต้น

กระนั้นในสายตาของนักการเมืองระดับกูรูต่างอ่านขาดว่าผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล ‘สมัคร 1’ ได้นั้นมีได้เพียงคนเดียว คือคนที่ชื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี!

ส่วนเหตุผลของการหาม นพ.สุรพงษ์ ขึ้นเก้าอี้ขุนคลังนั้นก็ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร ...

ไม่ใช่เพราะว่าหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ... ไม่ใช่เพราะไม่มีใครอยากรับเผือกร้อนบริหารเศรษฐกิจในปีที่เซียนเศรษฐกิจทั้งโลกเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นปีเผาจริงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ... แล้วก็ยิ่งไม่ใช่อย่างที่ คอลัมนิสต์หลายๆ คนในหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับเขียนไว้ว่า เพราะในอดีต ประเทศไทยเคยมีการนำเอาผู้รู้ทางด้านเศรษฐกิจมาบริหารเศรษฐกิจชาติหลายต่อหลายคนแล้วต่างก็ล้มเหลวหมด ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องลองหยิบเอา “นายแพทย์” บริหารเศรษฐกิจดูบ้าง

เหตุผลที่แท้จริงก็คือ นพ.สุรพงษ์ คือสายตรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ถูกวางตัวเอาไว้ว่าจะต้องเข้ามาแก้ปมปัญหาเกี่ยวกับ ‘ภาษี’ ที่ตระกูลชินวัตรติดบ่วงเป็นคดีความอยู่ และเหตุผลนี้เองก็เป็นเหตุผลเดียวกับการที่รองนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาดูแลเรื่องการยุติธรรมต้องชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกวางตัวไว้ว่าจะต้องเข้ามาแก้ปมปัญหาเกี่ยวกับคดีความในศาล

นี่แหละคือหน้าตา ครม.ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาของทักษิณ มิใช่ ครม.ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาของชาติของประชาชนชาวไทย!


ในเรื่องของการหามเอา นพ.สุรพงษ์ ขึ้นเก้าอี้ รมว.คลัง พูดก็พูดนะครับ ยิ่งได้ฟังคำตะแบงของบรรดากระบอกเสียงของ ‘ระบอบทักษิณ’ มากเข้าๆ ผมก็ยิ่งรู้สึกคลื่นเหียนอาเจียน

ไม่ใช่ว่าผมจะดูถูกสติปัญญาหรือความสามารถของ นพ.สุรพงษ์นะครับ แต่ในความเป็นจริง นพ.สุรพงษ์ ย่อมรู้อยู่แก่ใจและรู้ตัวเองว่าตัวเองมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เรื่องบริหารเศรษฐกิจในระดับมหภาคอะไรบ้าง? ไม่ใช่บอกว่าตัวเองเรียนจบเอ็มบีเอจากศศินทร์ ภรรยาเป็นผู้บริหารธุรกิจคลินิกลดความอ้วนแล้วจะสามารถเข้ามานั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้

พูดตามตรงนะครับ การเอา ‘หมอ’ มาบริหารเศรษฐกิจประเทศท่ามกลางวิกฤตโลก จะว่าไปมันน่าเศร้าสลดเสียยิ่งกว่าการเอา ‘หมอหมา’ มารักษาคนไข้อาการโคม่าเสียอีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น