xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนที่หนึ่ง : เขตเศรษฐกิจพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีต-ปัจจุบันของเขตเสอโข่ว เมืองเซินเจิ้น ภาพซ้ายถ่ายเมื่อ 23 พฤษภาคม 1979 ภาพขวาถ่ายเมื่อ 10 ตุลาคม2008
สถานีโทรทัศน์เฟิ่งหวง - เดือนสิงหาคม ปี 1979 พื้นที่เล็ก 2.14 ตร.กม. ริมฝั่งหมู่บ้านชาวประมงเมืองเซินเจิ้น ที่ชื่อว่า “เสอโข่ว” ได้จุดประกายความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับประเทศจีน ในฐานะเขตบุกเบิกเพื่อการปฏิรูปแห่งแรก ตามนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้ง เสี่ยวผิง

เสอโข่ว ไม่ได้เป็นเพียงห้องทดลองเพื่อเรียนรู้การพัฒนาจากประเทศทุนนิยมเท่านั้น แต่ยังสร้างทั้งเรื่องมหัศจรรย์ และบทเรียนมากมากให้กับประเทศจีน

งานชิ้นแรกสำหรับเขตบุกเบิกเพื่อการปฏิรูปเสอโข่ว คือ ทลายภูเขา ถมทะเล เพื่อสร้างท่าเรือใหม่ แต่อุปสรรคอย่างแรกที่เหล่าผู้บุกเบิกต้องพบเจอ คือ งานดำเนินไปเชื่องช้ามาก

เฉิน หยูซัน อดีตกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตหนานซัน เมืองเซินเจิ้น เล่าว่า คนงานไม่มีแรงจูงใจ คิดว่าทำมากทำน้อยก็ได้ค่าจ้าง 36 หยวนเท่ากันหมด ทางกรรมการเขตปฏิรูปเลยให้เงินเพิ่มสำหรับรถบรรทุกที่ทำงานล่วงเวลาคันละ 4 หยวน เท่านั้นแหละ งานเดินหน้าเร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ”

อย่างไรก็ตาม เรื่องการให้เงินพิเศษนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการบิดเบือนแนวทางระบบระบอบสังคมนิยม เป็นการให้รางวัลอย่างฟุ่มเฟือย ทำให้ทางกรรมการเขตปฏิรูปต้องระงับใช้ชั่วคราว ผลก็คือ งานกลับช้าลงเหมือนเดิม ในที่สุด เรื่องนี้ถูกส่งไปยังปักกิ่ง ถึงมือหู เย่าปัง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งหู เย่าปัง ก็เปิดไฟเขียวให้มีการเพิ่มแรงจูงใจให้กับคนงานได้ หากทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรื่องไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เมื่อทำเนียบจงหนานไห่เปิดช่องให้มีการจ่ายเงินพิเศษเช่นนี้ จึงทำให้ผู้รับเหมางานส่วนหนึ่งใช้เรื่องนี้มาต่อรอง
“มีผู้รับเหมางานก่อสร้างถนนรายหนึ่งสร้างมาเกือบเสร็จแล้ว ขาดอีกไม่กี่กิโลเมตร ก็หยุดงานเอาดื้อๆบอกว่า ถ้าไม่ได้เงินเพิ่ม 1 แสนหยวนก็ไม่สร้างต่อ”  เฉิน หยูซัน ย้อนความหลังให้ฟัง

เมื่อปัญหาไม่มีทางออก รัฐบาลกลางที่ปักกิ่งจึงต้องลงมือแก้ให้อีกครั้ง โดยหู เย่าปัง ระบุในบันทึกถึงกรรมการพรรคสาขาเซินเจิ้นว่า ในทุกการปฏิรูปย่อมมีก้างขวางคอ จะต้องมีการไล่คนออกบ้าง โดยเฉพาะพวกที่เห็นแก่เงิน ไม่เช่นนั้นการปกครองจะทำไม่ได้เลย” ผลลัพธ์ก็คือ ถนนซึ่งถูกพักการก่อสร้างมานาน 3 เดือน ถูกสร้างต่อจนเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง

“เวลาคือเงินทอง ประสิทธิภาพคือชีวิต”

ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเขตเสอโข่ว ได้ปรากฏคำขวัญเกิดขึ้นคำหนึ่ง นั่นคือ “เวลาคือเงินทอง ประสิทธิภาพคือชีวิต” 时间是金钱 效率是生命 ต่อมา คำขวัญนี้ได้กลายเป็นวลีที่แพร่หลายที่สุด มีผลกระทบต่อชาวจีนสูงที่สุด ตลอดสามสิบปีแห่งการปฏิรูปและเปิดประเทศ

แท้จริงแล้ว คำขวัญนี้มีต้นกำเนิดในเดือนตุลาคม ปี 1978 ที่ฮ่องกง โดย “เวลา”ที่ เปรียบดั่ง “เงินทอง” นั้น คือ ทุกๆวันศุกร์

เฉิน หยูซัน อดีตกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตหนานซัน เมืองเซินเจิ้น เล่าว่า ช่วงนั้นกรรมการพรรคฯไปดูงานที่ฮ่องกง ผมพบว่าทุกบ่ายวันศุกร์รัฐบาลจะจ่ายเช็คมูลค่า 20 ล้านเหรียญให้กับผู้รับเหมา พอถึงเวลาผู้รับเหมาก็รีบลงจากรถ ประตูไม่ปิด เครื่องก็ไม่ดับ ขึ้นมารับเช็คแล้ว ไม่พูดพร่ำทำเพลง รีบขับรถด้วยความเร็วสูงสุดออกไปทันที”

เฉิน หยูซัน พบเหตุผลในภายหลังว่า วันศุกร์หากไม่นำเช็คฝากธนาคารก่อนบ่ายสามโมงครึ่ง ก็ต้องรอถึงวันจันทร์ ซึ่งในสมัยนั้นดอกเบี้ยสูงถึง 14% เงิน 20 ล้าน ทิ้งไว้สามวันดอกเบี้ยก็หลายหมื่น ซึ่งนี่เองเป็นที่มาของวลีที่ว่า “เวลาคือเงินทอง”

แต่เรื่องที่คาดไม่ถึง ก็คือ ในปีถัดมา คนงานที่เขตเสอโข่วได้นำคำขวัญดังกล่าวเขียนขึ้นป้ายขนาดใหญ่ ติดไว้ที่ทางเข้าเขตบุกเบิกเพื่อการปฏิรูปเสอโข่ว จนนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง นอกจากนี้ วลีดังกล่าวยังมีส่วนท้ายอีก 2 ประโยค
“ความจริงแล้ว ป้ายที่ติดหน้าทางเข้าเขตเสอโข่ว เขียนไว้ 4 ประโยค คือ เวลาคือเงินทอง ประสิทธิภาพคือชีวิต ความปลอดภัยคือกฎหมาย ลูกค้าคือจักรพรรดิ  时间是金钱 效率是生命 安全是法律 顾客是皇帝 แต่ต่อมามีคนวิจารณ์ว่าถ้าลูกค้าเป็นจักรพรรดิแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์อยู่ตรงไหน สุดท้ายแล้วจึงตัดเหลือแค่สองประโยคแรก” เฉิน หยูซัน เล่า

“เวลาคือเงินทอง ประสิทธิภาพคือชีวิต” คำขวัญนี้กลายเป็นวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว เพราะขัดแย้งกับแนวคิดสังคมนิยมที่ว่า ทำงานเพื่อรับใช้มวลชน ไม่ใช่เพื่อเงิน บางคนบอกว่า “คนเสอโข่วรักเงินไม่รักชีวิต” “คนเสอโข่วบูชาเงินเป็นพระเจ้า”

เสียงวิพากษ์วิจารณ์มายุติลงในปี 1984 เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง เดินทางตรวจราชการมณฑลตอนใต้ และมีผู้ชี้ให้เติ้ง เห็นป้ายคำขวัญดังกล่าว เติ้ง เสี่ยวผิง ตอบกลับมาเพียงคำเดียว “ถูกต้อง”

จากเสอโข่ว ถึง เซินเจิ้น

ถึงแม้เขตเสอโข่วจะมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เหล่านักปฏิรูปก็รู้ว่า เสอโข่วเป็นเพียงสนามทดลองในระบบปิด ไม่สามารถยืนยันได้ว่าหากมีพื้นที่เพิ่มขึ้น หรือมีการแข่งขันจากภายนอกแล้ว ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? ในที่สุด ทางการจีนก็ตัดสินใจก้าวครั้งใหญ่อีกก้าว โดยการเปิดเมืองเซินเจิ้นทั้งเมือง ให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ”

ฟัง เปา อดีตรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาเซินเจิ้น ย้อนความหลังว่า หลังจากรัฐบาลกลางอนุมัติจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น พวกเรายังไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ว่าจะทำใหญ่โตแค่ไหน คิดว่าทำเล็กๆ แล้วชวนนักลงทุนฮ่องกงมา เช้ามาเย็นกลับ”

แต่หลังจากตกลงกันแล้ว สรุปว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น จะมีพื้นที่ 327.5 ตร.กม. โดยภารกิจแรกของเหล่านักปฏิรูป คือ เปลี่ยนเซินเจิ้นให้เป็นเขตเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก

ฟัง เปา เล่าถึงสภาพเมืองเซินเจิ้นในปี 1979 ว่า “ส่วนที่เป็นเมืองดั้งเดิมของเซินเจิ้นมีพื้นที่ 0.4 ตร.กม. มีประชากรเพียง 25,000 คน ทั้งเมืองมีตึกสูงกว่าสี่ชั้นแค่ 3 -4 ชั้น มีถนนดินสายเดียว ไม่มีไฟริมทาง ไม่มีถนนราดยาง”

ในช่วงแรกของการสร้างเซินเจิ้น กำลังหลัก คือ หยางซ่างคุน เลขาธิการพรรคประจำมณฑลกว่างตง ในขณะนั้น และ หยวนเกิง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการลงทุนเขตเสอโข่ว แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลกลางปักกิ่ง ที่ถึงแม้จะมีผู้นำหัวปฏิรูปอย่าง นายกรัฐมนตรีเจ้าจื่อหยาง และเลขาธิการพรรคฯ หูเย่าปัง แต่ก็ไม่สามารถสนับสนุนทางการเงินได้มากนัก ทำได้ก็เพียงให้ไฟเขียวด้านนโยบายอย่างเต็มที่

หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลกลางได้ส่งคนหนุ่มไฟแรงอย่าง อู๋ หนานเซิง มาเป็นหัวเรือใหญ่ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นคนแรก

13 มิถุนายน 1980 อู๋ หนานเซิง พร้อมทีมงานหกคนนั่งรถไฟมาถึงเซินเจิ้น แล้วเขาก็พบว่า เซินเจิ้น ล้าหลังว่าที่เขาคาดไว้มาก
ฟัง เปา อดีตรองเลขาธิการพรรคสาขาเซินเจิ้น เล่าว่า สมัยนั้นแม้แต่ที่ทำการพรรคฯยังไม่มี ต้องเช่าบ้านอิฐสองชั้นอยู่ไปพลางๆก่อน อาหารมีแต่ผัก มื้อไหนมีเนื้อมีปลาถือว่าพิเศษมาก

เติ้ง เสี่ยวผิง บอกอย่างตรงไปตรงมากับทีมนักบุกเบิกแห่งเซินเจิ้นว่า รัฐบาลไม่มีเงิน พวกคุณไปจัดการกันเอง ต้องลำบากสร้างเส้นทางด้วยเลือด อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้อนุมัติเงินกู้ให้กับเซินเจิ้น 30 ล้านหยวนเพื่อเป็นทุนตั้งต้น

ในเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น อู๋ หนานเซิง จึงอาศัยสายสัมพันธ์ที่มีกับนักธุรกิจฮ่องกงชักชวนให้พวกเขามาร่วมกันพัฒนาเซินเจิ้น โดยหนึ่งในนักลงทุนฮ่องกงรุ่นบุกเบิก คือ จวง ซื่อผิง

“อู๋ หนานเซิง บอกกับผมว่าจะใช้วิธี คลำหินข้ามลำธาร พัฒนาเซินเจิ้น ผมก็ถามกลับไปว่า หินที่คลำนั้นมีรูปร่างยังไง จะไปทิศทางไหน เขาก็ตอบได้ไม่ชัดเจน เพียงแต่ยืนยันกับผมว่ารัฐบาลกลางให้ไฟเขียวด้านกฎหมาย อยากให้มาช่วยๆกัน หาทางออกให้ประเทศจีน” จวง ซื่อผิง บอก

“เปลี่ยนดินเป็นทองคำ”

จวง ซื่อผิง ยังถามอู๋ หนานเซิงว่า ในเมื่อคิดจะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ความพิเศษคืออะไร? เงินไม่ใช่ปัญหา เเต่ต้องหาความพิเศษออกมาให้ได้ ทั้งนี้จวง ซื่อผิง ได้แนะนำให้ เปลี่ยนดินเป็นทองคำ

“ดูตัวอย่างฮ่องกง รัฐบาลอังกฤษให้เงินสักเท่าไหร่? รายได้ของฮ่องกงมาจากภาษีทั้งนั้น โดยเฉพาะการซื้อขายที่ดิน จวง ซื่อผิง กล่าว

แนวคิด “เปลี่ยนดินเป็นทองคำ” ถือว่าขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของสังคมนิยม ซึ่งที่ดินถือเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ แต่ในเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น กลุ่มนักปฏิรูปเซินเจิ้นจึงทดลองอนุญาตให้มีการเช่าที่ดินเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1980 แน่นอนว่า เสียงวิจารณ์ตามมาไม่ขาดสาย บางคนถึงกับบอกว่า “นี่คือการเอาแผ่นดินแม่ออกขาย” และโจทย์ใหญ่ที่ตามมา คือ จะออกกฎหมายรับรองอย่างไรไม่ให้ขัดหลักการพื้นฐานของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในที่สุด แกนนำพรรคก็หาทางออกได้ โดยรับรองว่า การนำสิทธิเหนือผิวดินออกเช่าที่เซินเจิ้นนั้น คือการให้สิทธิใช้ประโยชน์ ไม่ใช่การให้กรรมสิทธิ์

เปลี่ยนหมู่บ้านชาวประมง เป็นเมืองท่า

ปัญหาต่อมา คือจะทำอย่างไรเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามายังดินแดนใหม่ที่ไม่มีหลักประกันความมั่นคง อย่าง เซินเจิ้น? ซึ่งนักปฏิรูปที่เซินเจิ้นก็เห็นตรงกันว่า ต้องใช้มาตรการภาษี

จวง ซื่อผิง นักลงทุนจากฮ่องกงเล่าถึงสถานการณ์ช่วงนั้นว่าเรื่องภาษีเป็นที่ถกเถียงกันมาก บางคนเห็นว่าเมื่อเอาทรัพยากรของชาติออกไปใช้ประโยชน์แล้ว ต้องเก็บภาษีให้สูง มีการเสนอกันว่าให้เก็บถึง 30% ผมเลยบอกว่า ฮ่องกงเก็บภาษีแค่ 15-16% ถ้าเซินเจิ้นจะเก็บ 30% ก็เท่ากับฆ่าตัวตาย ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษหมดความหมายไปทันที”

จวง ซื่อผิง ยืนกรานว่า ถ้าจะดึงดูดเงินลงทุน เซินเจิ้นต้องเก็บภาษีให้ต่ำที่สุด พร้อมทั้งเสนอว่า ถ้าเรื่องนี้เถียงกันไม่จบก็สมควรนำเสนอไปยังสมัชชาประชาชนให้ออกเป็นกฎหมาย โดยตัวเขาจะใช้ฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนจากฮ่องกงช่วยสนับสนุนเต็มที่

เมื่อได้รับการผลักดันจากผู้แทนจากฮ่องกง และมาเก๊า รวมทั้งแรงสนับสนุนจากแกนนำในสภาที่ชื่อ “เจียง เจ๋อหมิน” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการนำเข้าส่งออก ในที่สุดสมัชชาประชาชนก็ให้การรับรองกฎหมายในวาระเดียว

อู๋ หนานเซิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นคนแรก ถึงกับกล่าวว่า เมื่อกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นผ่านแล้ว เหมือนแม่น้ำที่ขวางการพัฒนาของเซินเจิ้นอยู่ถูกยกออกไป จากนี้ทุกอย่างจะเดินหน้าเต็มตัว

ฟัง เปา อดีตรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาเซินเจิ้น เล่าว่าหลังจากปลายปี 1980 เซินเจิ้นเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่มีใครคิดจะหนีออกไปหาความมั่นคงที่อื่นอีก คนที่เคยออกจากเซินเจิ้นไปก็อยากจะกลับมา แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะต้องให้ทางพรรคฯพิจารณา หลายคนพูดอย่างมีอารมณ์ว่า ตอนแรกๆ เราเกลี้ยกล่อมไม่ให้ออกไป พวกเขาก็จะไป ตอนนี้ที่นี่เจริญแล้วก็คิดจะกลับมา”

จากจุดเริ่มต้นที่เขตปฏิรูปเล็กๆอย่าง เสอโข่ว จนถึง เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น จีนได้เปิดหน้าต่างออกสู่โลกภายนอก สายลมจากทุกทิศทุกทางพัดเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ เสียงวิจารณ์ต่างๆมีมากมาย ตั้งแต่ “ลวงโลก” “ฝักใฝ่ทุนนิยม” จนถึง “ขายชาติ”

แต่ยิ่งเสียงวิจารณ์ดังขึ้น ไกลขึ้น กลับจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่เปิดกว้างทางความคิดมาแสวงหาอนาคต มาร่วมกันพัฒนา จนกระทั่งหมู่บ้านชาวประมงแสนกันดาร อย่างเซินเจิ้น กลายเป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในจีน และนับจากนั้น สายลมแห่งการปฏิรูปก็พัดแรงจากเซินเจิ้น เรื่อยไปถึงฝูเจี้ยน และเซี่ยงไฮ้
ตัวเมืองเซินเจิ้นในอดีต มีถนนเพียงสายเดียว
 เวลาคือเงินทอง ประสิทธิภาพคือชีวิต ยังเป็นคำขวัญยอดนิยมจนถึงทุกวันนี้
เติ้งเสี่ยวผิง ขณะเดินทางมาตรวจราชการที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น
การประมูลสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เซินเจิ้น เมื่อ 1 มกราคม 1987
"สนธิ"ลั่นยืนตรงข้ามนักการเมืองเลว
พันธมิตรแถลงความชัดเจนการเมืองใหม่ สนธิ ชี้ชัดทำตรงข้ามพฤติกรรมนักการเมืองปัจจุบัน ยกตัวอย่างการเมืองเก่า บรรหารบุรี ลั่นแม้ หมัก จนมุมต้องออกก็จะยืนหยัดต่อสู้ ขจัดการเมืองเก่าที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์ สุริยะใส ลั่นไม่ให้ราคา “เติ้ง” นั่งแท่นหุ่นเชิดรุ่น2 เหตุไร้วุฒิภาวะ และทำตัวเกาะติดระบอบแม้วมาโดยตลอด เผยแกนนำเตรียมเปิดเวทีเสวนาวันนี้ เพื่อแชร์ความคิดการเมืองใหม่ ประพันธ์ ขึงพืดสมัครผิดชัดเจน แนะจับตาชิงยุบสภาก่อนบ่ายวันนี้ เด็กรามฯ เดินหน้าออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 จวกตำรวจ-พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น