เอเอฟพี - ชาติอาเซียนหวังว่าจะจัดการรายละเอียดขั้นสุดท้ายของแผ่นกองทุนมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะนำมาปฏิบัติใช้ในไม่ช้านี้ ร่างแถลงการณ์อาเซียนที่เอเอฟพีได้รับมาวันนี้(10) ระบุ
ผู้นำภูมิภาคอาเซียนยังจะผลักดันการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อเฝ้าจับตาดูแน้วโน้มวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประเด็นในการประชุมสุดยอดในสุดสัปดาห์นี้ ร่างดังกล่าวระบุ
ผู้นำอาเซียนจะสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐมนตรีคลังในเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะขยายมูลค่าของกองทุนจากเดิม 80,000 ล้านดอลลาร์ และเน้นให้เห็นความสำคัญของการนำมาปฏิบัติใช้จริง “เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
พวกเขาจะส่งเสริมให้บรรดารัฐมนตรีคลัง “ใช้ความพยายามเพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงต่อไป” ในการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังครั้งต่อไปบนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
ชาติสมาชิก 10 ชาติของประชาคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอุดหนุน 20 เปอร์เซ็นต์ของกองทุน 120,000 ดอลลาร์ดังกล่าว ขณะที่ประเทศคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะรับผิดชอบในส่วนที่เหลือ
เลขาธิการใหญ่ของอาเซียน สุรินทร์ พิศสุวรรณ เผยวันนี้ว่า เกาหลีใต้ตกลงอุดหนุนให้ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้จีนและญี่ปุ่นต้องเจรจากันว่าตัวเองจะให้เท่าไหร่
ภายในกลุ่มเอาซียนเอง กลุ่มรัฐมนตรีคลังได้ตกลงว่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย จะร่วมทุนประเทศละ 4,760 ล้านดอลลาร์ และฟิลิปปินส์ 3,680 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สมาชิกอีก 5 ชาติ บรูไน ที่ร่ำรวยน้ำมัน และกัมพูชาที่ยากจนที่สุด จะอุดหนุนตามขนาดของเงินสำรองระหว่างประเทศของตน
กองทุนฉุกเฉินดังกล่าว มีชื่อว่า “แนวคิดริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคี” ซึ่งเป็นการขยายจากแนวคิดริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกรอบการแลกเปลี่ยนสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระดับทวิภาคีที่จัดตั้งขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษบกิจในเอเชียระหว่างปี 1997-1998
ภายใต้กรอบใหม่ การแลกเปลี่ยนเงินตราจะเป็นสัญญาแบบพหุภาคี ทำให้ประเทศที่เผชิญกับวิกฤตยืมเงินทุนฉุกเฉินได้ง่ายยิ่งขึ้น
ในมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกัน ผู้นำอาเซียนยังระบุว่า พวกเขาจะสนับสนุนการเสริมสร้างกลไกลเฝ้าระวังของภูมิภาคด้วยการจัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวังอิสระเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
หน่วยงานนี้จะจับตาดูสัญญาณบ่งชี้ถึงภัยคุกคามทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์เศรษกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก ร่างแถลงการณ์ระบุ
เอส พัสปานาธาน รองเลขาธิการอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ บอกกับเอเอฟพีว่า บทบาทอื่นของหน่วยงานนี้คือการประเมินประเทศที่ต้องการใช้กองทุนฉุกเฉินมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์
“เรื่องสำคัญ คือ มันต้องเป็นอิสระและยุติธรรม ซึ่งสามารถตัดสินใจได้เองโดยปราศจากอิทธิพลจากประเทศใดๆ” พัสปานาธาน กล่าว