เอเยนซี – เอเชียไทมส์ เจาะทัศนะชาวไต้หวัน หลังเกิดเหตุฉาว ผู้แทนจีนอย่างไม่เป็นทางการ จาง หมิงชิง ถูกชกคว่ำ ตามด้วยเหตุประท้วงครั้งใหญ่ต่อการเยือนอย่างเป็นทางการของเฉิน หยุนหลิน ประธานสมาพันธ์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน สื่อระบุ เหตุไต้หวันประท้วง เพราะหม่าเดินหน้าสานสัมพันธ์เร็วเกินไป
แม้เหตุการณ์วันที่ 21 ต.ค. ที่ จาง หมิงชิง รองประธานสมาพันธ์ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเดินทางเยือนเมืองไถหนัน ในฐานะคณบดีคณะสื่อสารมวลชน แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน เผชิญกับกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ กระทั่งถูกชายผู้หนึ่งโดดชก จนล้มคว่ำลงกับพื้น จะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับผู้คนจำนวนมาก ทว่าในที่สุดแล้วเหตุการณ์ดังกล่าว ก็กลายเป็นเรื่องเล็กทันที เมื่อเกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่ตามมา
ภายหลังการเยือนของจาง หมิงชิง บรรดาชาวไต้หวันที่กราดเกรี้ยวได้รวมพลประท้วงจีนครั้งใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ต.ค. การประท้วงนี้ได้สร้างความงุนงงให้กับพลพรรคกั๋วหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) ภายใต้การนำของหม่า อิงจิ่ว ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แกนนำประท้วงอ้างว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมถึง 600,000 คน ขณะที่ทางตำรวจประเมินว่ามีเพียง 180,000 คนเท่านั้น แม้ตัวเลขที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร แต่สถิติผู้เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ก็นับว่ามากเอาเรื่อง เมื่อเทียบกับการชุมนุมประท้วงครั้งที่ผ่านๆมา
นักวิเคราะห์ระบุว่า แรกทีเดียวหลายฝ่ายคาดว่า ผู้ชุมนุมส่วนมากจะเดินทางมาจากทางใต้ ด้วยการโดยสารรถที่ทางพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (หมินจิ้นตั่ง หรือ ดีพีพี) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านจัดให้ ทว่าพอถึงเวลาประท้วงปรากฏว่า ผู้คนจำนวนมากกลับหลั่งไหลมาจากไทเป และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นทางเสียงสำคัญของกั๋วหมินตั่ง ฉะนั้นการประท้วงครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณสำคัญที่ทางรัฐบาลต้องรับฟัง
ประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว ได้เน้นย้ำว่าการสานสัมพันธ์กับจีนอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับไต้หวัน อย่างไรก็ตามมติมหาชนของชาวไต้หวันที่ส่วนใหญ่ก็เห็นความจำเป็นในการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน กำลังมองการดำเนินโยบายของหม่าว่า “ก้าวเร็วเกินไป”
นับแต่เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดี หม่าได้ยกระดับ ปลดล็อกกฎห้ามบริษัทไต้หวันลงทุนในจีนเกินกว่า 40% ของสินทรัพย์สุทธิเป็น 60% แทน การปลดล็อกดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับผู้คนจำนวนมากมากว่า จะทำให้ภาวะทุนไต้หวันไหลทะลักออกไปยังจีนมากกว่าเดิม นอกจากความกังวลข้างต้นแล้ว หม่ายังได้สร้างความงุนงงให้กับกลุ่มชาตินิยมไต้หวัน ด้วยการนิ่งเงียบ ไม่รณรงค์เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้นำไต้หวันผลักดันกันมาตลอดตั้งแต่ปี 1993
หม่าได้ย้ำตลอดว่า เขาต้องการลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับจีน พร้อมกับยุติการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ต่างฝ่ายต่างทุ่มเงิน ซื้อคะแนนเสียงจากประเทศต่างๆเพื่อแลกกับการเลือกรับรองอธิปไตยของจีน หรือไต้หวัน
ในการดำเนินโยบายสานสัมพันธ์กับจีน หม่า ได้ถอยจากสิ่งที่ประธานาธิบดีไต้หวันคนก่อนๆทำคือ การเน้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายจีนขุ่นข้อง มาเป็นการเน้นความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจแทน
หม่าย้ำว่าเขาต้องการสร้างตลาดร่วมระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ ดึงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในไต้หวัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้หม่ายังระบุว่า จะรับรองประกาศนียบัตรการศึกษาของสถาบันการศึกษาจีน ซึ่งจะส่งผลให้นักศึกษาจีนสามารถเดินทางมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยไต้หวันได้ และจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นนี้ก็จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
ชี้หม่าประเมินพลาด ก้าวเร็วเกินไป
ในการดำเนินชุดนโยบายข้างต้น หม่าได้เน้นว่ารัฐบาลจะไม่เจรจารวมประเทศกับจีนแน่นอน และการเดินหน้าสานสัมพันธ์ตามนโยบายที่ประกาศไว้ ก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวไต้หวันเป็นหลัก อย่างไรก็ตามถ้อยแถลงของหม่าอาจไม่สามารถร่ายมนต์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวไต้หวัน ซึ่งบัดนี้มองว่ารัฐบาลหม่าเดินหน้าสานสัมพันธ์เข้มข้น และเร็วเกินไป กระทั่งเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ไต้หวัน
แพทย์และพยาบาล ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมเมื่อปลายเดือนตุลาคมระบุว่า การรับรองประกาศนียบัตรการศึกษาจีน จะทำให้พวกเขาตกงาน ด้วยบุคลากรจากจีนอาจหลั่งไหลเข้ามาแทนที่
“เรากลัวว่ามาตรฐานการพยาบาลของเราจะต่ำลง และพวกเราอาจจะตกงาน หม่า อิงจิ่วเจรจากับจีนโดยปราศจากฉันทมติมหาชน เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง และเป็นการตัดสินใจที่เร็วเกินไป” หลุยส์ อู่ แพทย์ไทเปกล่าว
นอกจากประเด็นข้างต้น การจัดการปัญหานมปนเปื้อนเมลามีน ก็ยิ่งตอกย้ำความกังวลของชาวไต้หวันที่มีต่อรัฐบาลหม่า แทนที่จะหยุดการนำเข้านมจากจีน และตรวจสอบสินค้าในประเทศอย่างทันควัน รัฐบาลกลับอนุญาตให้มีการขายนมจากจีนต่อไป โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าวว่า “จะยอมให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมจากจีน ที่มีการปนเปื้อนสารเมลามีนในระดับต่ำ” การกระทำดังกล่าวสร้างความวิตก และช่วยเน้นย้ำกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน ซึ่งมองว่ารัฐบาลอ่อนน้อมต่อจีนเกินไป
พ้นจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ ฝีมือการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลหม่า ก็ไม่เข้าตาชาวไต้หวันมากนัก ซ้ำร้ายภาวะวิกฤตการเงินซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกก็ยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับชาวไต้หวัน โดยข้อมูลจากหลายแห่งชี้ว่าเศรษฐกิจไต้หวันกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
ศ.เจ้า เจี้ยนหมิน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ จากมหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อระบุว่า “ปัญหาเศรษฐกิจทำให้คนกังวล และยิ่งทำให้พวกเขายอมรับข้อเสนอของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งโทษว่า การสานสัมพันธ์กับจีนเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจแย่ ”
ประเด็นที่ถูกจุดโดยพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อการเปิดบินตรงระหว่างจีนกับไต้หวันซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฏาคมไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดังที่หม่าตั้งเป้าไว้ อย่างไรก็ตามประเด็นที่ทำให้กระแสต้านจีนถูกจุดติด และลุกลามอย่างรวดเร็วคือ การที่ประชาชนต่างกลัวว่า นโยบายสานสัมพันธ์ของหม่าอาจทำให้ไต้หวันกลายสถานะเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องออกมาประท้วงเพื่อ “กู้ชาติ”
ประท้วงใหญ่ สะท้อนรอยแยกบนประวัติศาสตร์
กระแสประท้วงนโยบายสานสัมพันธ์กับจีนอาจกล่าวได้ว่า เป็นภาพสะท้อนของประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของไต้หวัน ประชากรไต้หวันกว่า 84% เป็นลูกหลานชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมายังไต้หวันในยุคที่จีนยังปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ราว 14% เป็นลูกหลานผู้อพยพจากแผ่นดินใหญ่หลังพรรคคอมมิวนิสต์เอาชนะพรรคกั๋วหมินตั่งในสงครามการเมืองเมื่อปี 1949 ส่วนอีก 2% เป็นชาวพื้นเมืองไต้หวันดั้งเดิม
ทั้งนี้เชื่อกันว่าผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นประชากรกลุ่มแรก ซึ่งปราศจากสำนึกที่ผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่
ถึงแม้กระแสประท้วงต่อต้านนโยบายสานสัมพันธ์จีนจะเข้มข้นยิ่ง ทว่านักวิเคราะห์ระบุว่า กระแสประท้วงนี้จะไม่กระทบทีท่าของรัฐบาลไต้หวัน ต่อนโยบายสานสัมพันธ์ในภาพรวมมากนัก เนื่องด้วยในทัศนะของรัฐ การสานสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นสิ่งจำเป็นต่อความอยู่รอด และความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไต้หวัน และไม่ใช่การขายชาติ
“กั๋วหมินตั่งปกครองไต้หวันมา 50 ปี ก่อนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ช่วงเวลานั้นก็พิสูจน์ได้ว่า เราไม่ได้ขายชาติ และทำไมเราจะต้องมาขายชาติตอนนี้” ส.ส. ไช่ จินหลง อดีตเลขาธิการพรรคกั๋วหมินตั่งกล่าว
ศ. เจ้า จากมหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อ ย้ำว่าการประท้วงจะไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของหม่ามาก ผู้คนส่วนหนึ่งก็ต้องการให้สานสัมพันธ์กับจีนตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ทว่าความตึงเครียดที่เกิดจากผู้นำไต้หวันก่อนหน้าหม่า ทำให้การสานสัมพันธ์ไม่เกิดขึ้น
“ปีนี้การเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายจะเน้นเรื่องการคมนาคม และการท่องเที่ยว ส่วนปีหน้าจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจและการค้า” ศ. เจ้า กล่าว
การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ข้างต้นได้รับการยืนยันจากการดำเนินการเจรจา ระหว่างรัฐบาลไต้หวันกับ เฉิน หยุนหลินหัวหน้าสมาคมเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งทางการของจีน โดยเฉินเดินทางมาถึงไทเป เมื่อจันทร์(3 พ.ย.) พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่และกลุ่มธุรกิจ มากกว่า 60 คน
หลังจากผู้แทนทั้งสองฝ่ายคือ เฉิน หยุนหลินจากฝ่ายจีน และ เจียง ปิ่งคุน หัวหน้าผู้เจรจาจากไต้หวันเริ่มเจรจากันเมื่อวันอังคาร(4 พ.ย.) ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงที่สำคัญเกี่ยวกับการคมนาคมคือ การเพิ่มและขยายเส้นทางเที่ยวบินบินตรงระหว่างช่องแคบ การเปิดเส้นทางคมนาคมทางเรือโดยตรง การเปิดบริการไปรษณีย์ระหว่างช่องแคบ และมาตรการความปลอดภัยด้านอาหาร
หลังข้อตกลงเมื่อต้นปี ทั้งสองได้ประเดิมเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างช่องแคบไปแล้ว ทว่าก็ยังมีข้อจำกัดอยู่สูงอาทิ เครื่องบินยังต้องอ้อมน่านฟ้าของดินแดนที่สามก่อนถึงเป้าหมาย ทำให้เสียเวลาเดินทางมาก และข้อตกลงการท่องเที่ยวที่ตกลงกันไปก็มีข้อจำกัด จนมีนักท่องเที่ยวจีนไปไต้หวันไม่ถึง 1,000 คน
ทั้งนี้จีนกับกับไต้หวัน ตัดขาดการติดต่อสัมพันธ์โดยตรงตั้งแต่เจียง ไคเช็คแพ้พรรคคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1949 และหนีมาตั้งรัฐบาลที่เกาะไต้หวัน การคมนาคมขนส่งทั้งทางอากาศทางเรือและการไปรษณีย์ ต้องผ่านดินแดนที่สามก่อนถึงเป้าหมาย
ดังนั้นข้อตกลงใหม่นี้จะช่วยย่นระยะเวลาในการคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งจีนและไต้หวัน
นักวิเคราะห์ระบุว่า ไต้หวันไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากสานสัมพันธ์กับจีน เนื่องด้วยปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออก และลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ณ สิ้นปี 2007 การลงทุนในจีนของไต้หวันมีสัดส่วนถึง 61% ของการลงทุนต่างประเทศของไต้หวัน นอกจากนี้มูลค่าการค้าระหว่างช่องแคบเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่มมากขึ้นเป็นตัวเลขหลักสิบ โดยไต้หวันได้ดุลการค้าจำนวนมาก
ผลสำรวจทัศนะ ของชาวไต้หวันระบุว่า ชาวไต้หวันส่วนมากให้การยินดีกับการเยือนของผู้แทนจีน และสนับสนุนการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน
อย่างไรก็ตามเสียงของผู้ประท้วงก็มิได้จางหายไปเสียทีเดียว ทางรัฐบาลได้ออกมาเน้นย้ำตลอดว่าการเจรจาจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาวไต้หวัน นอกจากนี้ท่าทีของรัฐบาลไต้หวันต่อจีนก็เพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้ที่การเดินทางเยือนของผู้แทนจีนได้จุดกระแสประท้วง นำผู้คนออกมาเล่นการเมืองบนท้องถนน