xs
xsm
sm
md
lg

“คนรุ่นรังนก” ชีวิตที่เปลี่ยนไปเพราะโอลิมปิก

เผยแพร่:   โดย: ยุทธชัย อนันตศักรานนท์

สนามกีฬารังนก
ไชน่า ยูธ เดลี่ – ในช่วงโอลิมปิก นักข่าวนานาชาติกับนักข่าวจีนต่างตั้งฉายาให้วัยรุ่นจีนยุคใหม่ว่า “คนรุ่นรังนก” ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่น ความรับผิดชอบ ความกระตือรือร้นของชาวจีน โดยหลังจากที่ทำการสำรวจพบว่า หลังจากการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติได้ทำให้ชีวิตของชาวจีน..เปลี่ยนไป

“นักข่าวจากนานาชาติต่างแสดงความชื่นชมให้พวกเรา พวกเขายกนิ้วโป้งขึ้นแล้วตะโกนพร้อมๆไปกับเราว่า “เป่ยจิง” (ปักกิ่ง)” นี่เป็นคำพูดที่เปล่งออกจากปากของอาสาสมัครโอลิมปิกนามเจ้าไซว่ ที่เป็นหนึ่งในอาสาสมัครวัยรุ่น ที่ทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก “คนรุ่นใหม่” ของจีนมากขึ้น

ในช่วงระหว่างโอลิมปิกปักกิ่งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะสามารถพบเห็นอาสาสมัครที่ดูสดใสและเป็นกันเองอยู่เต็มไปหมด จนสื่อมวลชนและชาวต่างชาติหลายคนขนานนามพวกเขาว่า “คนรุ่นรังนก” ซึ่งเป็นคำที่ระบุให้เห็นคนรุ่นใหม่ของจีนที่มีพลังและความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างยิ่ง

ผลการสำรวจจากหนังสือพิมพ์ไชน่า ยูธ เดลี่ ที่ร่วมมือกับซีน่า เน็ตในการสำรวจความเห็นของชาวเน็ตจำนวน 3,006 คน ปรากฏว่ามี 47.4% ที่เห็นว่า “วัยรุ่นทั้งหมดที่ได้รับอิทธิพลจากโอลิมปิกปักกิ่ง ต่างเรียกว่าเป็น คนรุ่นรังนกทั้งสิ้น”

ทำไมต้องเรียกว่า “รุ่นรังนก”?

กัว อี๋นักออกแบบตกแต่งภายในของปักกิ่งได้ระบุว่า “สนามกีฬารังนก ถือเป็นสัญลักษณ์ของการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งในครั้งนี้ นับตั้งแต่พิธีเปิดที่งดงามอลังการ จนกระทั่งถึงการทำลายสถิติโลกในการแข่งขันกรีฑาประเภทต่างๆ เรื่อยไปจนถึงการพิธีปิดที่จบลงอย่างมีความสุข ถือว่า “รังนก” ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ว่าเป็นสัญลักษณ์ และเป็นตัวแทนของความไฮเทคกับความเป็นจีนอันโดดเด่น
กลุ่มอาสาสมัครโอลิมปิกที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวแทนคนรุ่นรังนก
กัว อี๋สาวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ย้ายมาอยู่ในปักกิ่ง และพักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลไปจากสถานที่ก่อสร้างสนามกีฬารังนกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2003 กัวได้กล่าวว่า “ตอนนั้นสนามกีฬารังนกเพิ่งจะเริ่มต้นก่อสร้าง ฉันได้เห็นภาพกรรมการจากที่ต่างๆของประเทศมาร่วมกันทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยอยู่ที่นั่น และฉันก็มีโอกาสที่จะเห็น “รังนก” นั้นโตวันโตคืน”

หลายปีมานี้เธอยังได้เห็นความเปลี่ยนไปหลายอย่างของปักกิ่ง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา รถไฟฟ้าสาย 5 สาย 10 และสาย 8 เทอร์มินอล 3 ของสนามบินนานาชาตินครหลวงปักกิ่ง สถานีรถไฟทิศใต้ของปักกิ่ง.... “ปักกิ่งเปลี่ยนไปมากเหลือเกิน! ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไป และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการทำงานของพวกเราขึ้นมาก”

จากการสำรวจความคิดเห็นกับศัพท์ใหม่คำว่า “คนรุ่นรังนก” นี้ ชาวเน็ตของจีนก็ได้ตีความแตกต่างกันออกไปอาทิ 44.4% มองว่า “รังนก” เป็นสัญลักษณ์ของโอลิมปิกปักกิ่ง และเป็นประสบการณ์ของวัยรุ่นที่มีโอกาสได้ประสบพบเจอ

ในขณะที่อีก 42.7% มองว่าโอลิมปิกถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของจีนนับตั้งแต่ปฏิรูปเปิดประเทศเป็นต้นมา ดังนั้นวัยรุ่นในยุคปัจจุบันจึงถือเป็นผลพวงของการปฏิรูปเปิดประเทศในครั้งนั้น นอกจากนั้นยังมีอีก 41.5% ที่มองว่า วัยรุ่นในยุคใหม่ ได้แสดงออกถึงสีสันของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มที่อบอุ่น หรือมิตรภาพที่มีให้ จนกลายเป็นภาพลักษณ์ใหม่ในสายตาชาวโลกควบคู่ไปกับสนามกีฬารังนก

เด็กรุ่นรังนกคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรจีนทั้งหมด 1,300 ล้านคน ที่เติบโตในช่วงที่ประเทศเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งจากการสำรวจยังพบว่าคำว่าเด็กรุ่นรังนกมีความหายครอบคลุมถึง ความรักชาติ (48.4%) มิตรภาพ (44.4%) มีอุดมการณ์ (44.1%) กล้าที่จะแข่งขัน (41.8%) มีจิตใจทุ่มเท (38.6%) มีความสุข (38.1%) คบกันอย่างเสมอภาค (35.0%) มีความรับผิดชอบ (34.6%) ยินดีมีส่วนรวม (34.0%)

เหยา หย่งหลิงเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ทำวิจัยด้านผลกระทบจากโอลิมปิก 2008 ระบุว่า “เมื่อ 7 ปีก่อน ระบบสาธารณูปโภคทุกด้านของปักกิ่งยังอ่อนแอ พวกเราต้องอาศัยพื้นฐานที่มีอยู่เพื่อพัฒนาและพุ่งไปสู่เป้าตามข้อเรียกร้องของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล” ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างจีน การต้องจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกด้วยมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วจึงนับว่าไม่ใช่เรื่องหมูๆเลยทีเดียว

เป็นที่รู้กันว่า ภายในช่วงเวลาสั้นๆเพียง 7 ปี ปักกิ่งได้บรรลุภารกิจในการสร้างสนามกีฬาแห่งต่างๆขึ้นมากมาย มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในมหานครที่เป็นเมืองหลวงแห่งนี้ถึง 51% ขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินขึ้นหลายสาย มีความพยายามย้ายอุตสาหกรรมหนักออกไปจากเขตเมือง เปลี่ยนให้รถโดยสารประจำทางและรถแท๊กซี่มาใช้ก๊าซธรรมชาติ การสร้างคลองขุดผันน้ำ เปลี่ยนความเคยชินปรับปรุงมารยาทที่ไม่ดีบางอย่างของประชากร ผลงานที่มากมายขนาดนี้ต่อให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่แน่ว่าจะสามารถจะทำให้ลุล่วงในระยะเวลาสั้นๆได้

อาสาสมัครที่คอยให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติอย่างกระตือรือร้น
เชื่อมโยงกับชาวโลก

“ทุกๆวันที่มีการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ได้นำมาซึ่งความสุข ความภูมิใจ และความหวังให้กับเรา” เจิ้ง เฉิงหลงทันตแพทย์วัย 25 ปีระบุ พร้อมชี้ว่าเขารู้สึกดีใจกับทุกๆเหรียญทองที่จีนได้มา แต่สิ่งที่น่าชื่นชมและซาบซึ้งในโอลิมปิกไม่ได้มีแต่เหรียญทองเท่านั้น แต่เป็นเสียงเชียร์ทุกๆประเทศที่เล่นได้ดี และที่สำคัญเราได้แสดงให้ชาวโลกเห็นถึงสีสันของความเป็นจีน

ผลการสำรวจยังระบุอีกว่า ชาวเน็ตมากถึง 71.4%ระบุว่า โอลิมปิกปักกิ่งได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา โดยมี 44.3%ที่ชี้ว่าโอลิมปิกปักกิ่งทำให้ชาวโลกรู้จักและเข้าใจจีนมากขึ้น อีก 27.2% ชี้ว่าจะนำน้ำใจนักกีฬาและความยุติธรรมที่ได้เรียนรู้จากโอลิมปิกใช้ไปใช้ในสังคมทุกระดับ

อาสาสมัครหญิงผู้หนึ่งที่มีหน้าที่ในการคอยประสานงานเรื่องรถ กับคอยหากระเป๋าที่หาย และส่งคนป่วยไปโรงพยาบาลกล่าวว่า “สิ่งที่อาสาสมัครทำต่างเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สิ่งที่เราได้บอกกับตัวเองก็คือ เราต่างเป็นตัวแทนของประเทศจีน เราจะต้องตั้งใจทำหน้าที่ทุกอย่างของเราให้ออกมาดีที่สุด”

“โอลิมปิกปักกิ่ง ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสที่ทำให้โลกเข้าใจจีนมากขึ้น ยังเป็นโอกาสที่เชื่อมเรากับโลกเข้าไว้ด้วยกันด้วย อย่างเช่นเหรียญรางวัลที่เป็นโลหะผสมหยก ที่ประกอบด้วยรูปของเทพีแห่งชัยชนะของตะวันตก ในขณะที่ส่วนหนึ่งก็เป็นหยกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมจีน เป็นเหรียญรางวัลที่สอดประสานสองวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันอย่างงดงาม” กัว อี๋ระบุ

ข้อความจากชาวเน็ตส่วนหนึ่งยังชี้ว่า “มีชาวต่างชาติจำนวนมากที่มาแล้วได้ตั้งชื่อจีนกลับไป หลายคนหัดพูดภาษาจีน “ความเป็นจีน” ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ครอบคลุมในหมู่บ้านโอลิมปิกเท่านั้น แต่ยังพัดกระจายไปทั่วโลกด้วย

ทั้งนี้ ในโอลิมปิกปักกิ่งจีนได้นำหยกเข้ามาเป็นส่วนประกอบในเหรียญรางวัล โดยทางการมณฑลชิงไห่ได้นำหยกคุนลุ้นสีขาวและเขียวมามอบให้กับคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิก เพื่อเอาไปผลิตเหรียญรางวัล ซึ่งได้บริษัทเอกชนอย่างบีเอชพี บิลลิตันรับหน้าเสื่อในการออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิกและพาราลิมปิก ทำให้เหรียญรางวัลในปีนี้ นอกจากมีอารมณ์ความเข้มแข็งจากโลหะแล้ว ยังมีอารมณ์ของความอ่อนโยน กลิ่นอายวัฒนธรรมและความเป็นมงคลจากหยกของจีนประกอบเข้าไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น