เอเยนซี - หลังจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกสุดอลังการผ่านพ้นไป พร้อมกับการเปิดตัวครั้งยิ่งใหญ่สู่สายตาชาวโลก คำถามยอดฮิตที่ว่า “จีนจะกลายมาเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก” แทนสหรัฐอเมริกาหรือไม่ก็กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ได้จากคำถามนี้ค่อนข้างน่าตกใจ เนื่องจากผลสำรวจของ พิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ เมื่อเดือนมิถุนายนระบุว่า จากการสำรวจทัศนคติชาวญี่ปุ่น พบว่า 67% เชื่อว่าจีนจะก้าวเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ส่วนการสำรวจชาวจีนนั้นพบว่า ชาวจีนกว่า 53% เชื่อว่าการก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกนั้นเป็นโชคชะตาของพวกเขา
ส่วนคำตอบที่ได้จากการสำรวจในเยอรมนี, สเปน, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ส่วนมากก็มองว่า จีนจะก้าวขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯในอนาคต โดยคำตอบที่ได้จากบางแห่งถึงกับเชื่อว่า จีนเบียดสหรัฐฯตกเก้าอี้ไปแล้ว แม้แต่อเมริกันชน 54% ก็เชื่อว่าจีนจะสามารถเอาชนะอเมริกาได้
อย่างไรก็ตามบรรดาผู้เชี่ยวชาญยังคงสงสัย และถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียดว่า “จีนจะก้าวมาแทนที่สหรัฐฯได้จริงหรือ?” ต่างฝ่ายต่างมีข้อเสนอที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเห็นด้วยและปฏิเสธ แต่พวกเขาล้วนมีจุดร่วมที่เห็นตรงกันว่า “มังกรจีนกำลังทะยานขี้นมาเรื่อยๆ”
จากมุมมองด้านหนึ่ง จีนกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่จะเข้ามาแทนที่สหรัฐฯในฐานะกลจักรผลักดันเศรษฐกิจโลก นักวิจัยจากจอร์เจีย เทค ชี้ว่า จีนมีทนทรัพย์มหาศาล และจีนก็ได้ใช้ทุนนั้นไปกับการวิจัยและพัฒนา หรือที่มักเรียกกันว่า R&D ดังนั้นไม่อีกนานจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยี ทั้งนี้การศึกษาซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อปีที่ผ่านมาชี้ว่า ภายในไม่เกิน 50 ปี จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยี
นิยามว่าด้วย “มหาอำนาจ”
อลิซ ลีแมน มิลเลอร์ นักวิจัยจากสถาบันฮูเวอร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดให้ความหมายว่า มหาอำนาจคือ ประเทศที่มีศักยภาพในการแผ่อำนาจและอิทธิพลไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆของโลก มิลเลอร์ระบุว่า อิทธิพลทั้ง 4 ด้านคือ การทหาร, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเป็นมหาอำนาจ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สหรัฐฯได้ครองความเป็นมหาอำนาจ ช่วงหลังสงครามสหรัฐฯครองสัดส่วนการค้าโลกถึง 40% ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่ครอบครองพื้นที่ทางการเมืองและธุรกิจ วัฒนธรรมอเมริกันก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย สหรัฐฯได้มีฐานะโด่ดเด่นเป็มหาอำนาจเพียงผู้เดียว
ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้ฐานะอันสูงเด่นดังกล่าวดำรงอยู่ได้คือ การสถาปนาอำนาจนำ (Hegemony) ซึ่งก็คือความสามารถในการชักจูง และบงการการดำเนินนโยบายของชาติอื่น ที่ผ่านมาสหรัฐฯอาศัยอิทธิพลทางทหาร, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรมในการสถาปนาอำนาจนำ แต่ตอนนี้ดูเหมืนว่า “อำนาจนำของสหรัฐฯกำลังถดถอย”
เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมารอน พอล อดีตผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้แสดงทัศนะว่า “อำนาจนำของดอลลาร์ หรือความแข็งแกร่งของค่าเงินสหรัฐฯที่ดึงดูดใจคนทั้งโลก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อเมริกาครองความเป็นผู้นำไว้ได้ แต่ตอนนี้อำนาจนำของดอลลาร์กำลังจะจบสิ้น”
แม้ช่วง 2 ทศววรรษที่ผ่านมาการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน จะทำให้จีนกลายเป็นชาติที่โดดเด่น ทว่ามิลเลอร์ก็ยังคงยืนยันว่า “ขณะนี้จีนยังไม่ใช่มหาอำนาจ และยังจะไม่ก้าวสู่สถานะนั้นในเร็วๆนี้”
พญาอินทรีกำลังถูกท้าทาย?
อดัม เซกัล นักวิจัยด้านจีนศึกษาแห่ง คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ซึ่งไม่สังกัดฝักฝ่ายใดกล่าวว่า “คุณอาจจินตนาการถึงภาพด้านลบว่า อาจเกิดวิกฤตขึ้นในเอเชียอย่างเช่น วิกฤตระหว่างรัสเซียและจอร์เจียที่ผ่านมา และหากวิกฤตการณ์นั้นมีจีนเข้าร่วมด้วย สหรัฐฯคงมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายไม่มากนัก และทางเลือกดังกล่าวก็คงไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ เพราะเราไม่อยากมีปัญหาทั้งกับรัสเซียและจีน ตอนนี้เราก็สู้สงคราม (สงครามก่อการร้ายในอิรัก และอัฟกานิสถาน) ถึงสองแห่งแล้ว ”
อย่างไรก็ตามเซกัลค่อนข้างมองในแง่ดีว่า วิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้น “ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จีนค่อนข้างมีพฤติกรรมวางตัวเป็นกลาง โดยทางการจีนมุ่ง “การพัฒนาอย่างกลมกลืน” ซึ่งก็คือความพยายามที่จะชักจูงให้เพื่อนบ้านเชื่อว่า อะไรที่ดีสำหรับจีน (การเติบโตทางเศรษฐกิจ) ก็ดีสำหรับพวกเขาด้วย”
“สัมพันธ์ระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านจึงค่อนข้างดี” เซกัลกล่าว
ที่จริงแล้วบรรดานักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองว่า การเมืองโลกกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ จากระบบขั้วอำนาจเดี่ยว (unipolar) ที่มีมหาอำนาจประเทศเดียวครองอำนาจนำ เป็นระบบหลายขั้วอำนาจ (multipolar) ซึ่งประกอบด้วยมหาอำนาจ 3-4 ประเทศหรือมากกว่านั้น ถ่วงดุลและแบ่งปันอำนาจกัน นักวิเคราะห์ส่วนมากยอมรับว่า จีนกำลังก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้มหาอำนาจในระบบหลายขั้วอำนาจ แต่คำถามสำคัญที่ยังต้องการคำตอบคือ “จีนจะยอมรับสภาพการถ่วงดุลและแบ่งปันอำนาจนี้ หรือ จีนต้องการเป็นมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียว?”
ซูซาน แอล. เชิร์ค ผู้อำนวยการสถาบันความขัดแย้งและความร่วมมือนานาชาติ ณ มหาวิยาลัยแคลิฟอร์เนียระบุว่า “ที่จริงแล้วรัฐบาลจีนทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับสหรัฐฯ” เชิร์คผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ โดยรับผิดชอบด้านความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน และยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “"China: The Fragile Superpower" แสดงความเห็นต่อไปว่า “จีนน่าจะเลือกยืนอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯมากกว่ายืนอยู่ตรงข้าม เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นพันธมิตรและมิตรประเทศอื่นๆแล้ว จีนไม่ค่อยโจมตีสหรัฐฯในเรื่องอิรักมากนัก”
เมื่อเทคโนโลยีถูกท้าทาย
นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นกลจักรสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก พญาอินทรีได้ทุ่มงบประมาณไปมหาศาลกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สหรัฐฯสามารถครองความเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวเริ่มถูกท้าทายโดยญี่ปุ่นและจีน
นักวิทยาศาสตร์อเมริกันจำนวนมากต่างโอดครวญว่า สภาพการเมืองที่เน้นมิติศีลธรรมจนเกินไป และการขาดแคลนเงินอุดหนุนจากส่วนกลางทำให้ สถานะความเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหรัฐฯถูกกร่อนทำลาย
ผลการศึกษาเมื่อต้นปีโดยสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียระบุว่า “อีกไม่นานจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯในด้านศักยภาพการส่งออกสินค้าเทคโนโลยี”
อลัน พอร์เตอร์ หนึ่งในผู้วิจัยระบุว่า “จีนได้เข้ามาเปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี เมื่อคุณนำเอาการผลิตสินค้าราคาถูก และการผลิตสินค้าเทคโนโลยีของจีนมารวมเข้าด้วยกัน พร้อมกับเน้นการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ผลที่ได้จะทำให้สินค้าจากจีนครองตลาด จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้กับประเทศอื่น”
พอร์เตอร์ระบุว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จีนเขียนบทความเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆลงวารสารนานาชาติมากกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้จีนยังไปไกลจนกระทั่งส่งคนสู่อวกาศไปแล้ว
“R&D ของจีนเพิ่มขึ้นมาทีเดียว เมื่อพวกเขาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆมากขึ้น ด้วยผลจากการวิจัยและพัฒนา พวกเขาจะกลายเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งทางเทคโนโลยี แม้สหรัฐฯจะก้าวมาไกลกว่าจีน แต่ตอนนี้จีนก็กำลังเริ่มเดินและทำได้ดี" พอร์เตอร์กล่าว
นักวิจัยอีกรายหนึ่งคือนิวแมนเปรียบเทียบว่า “ตอนนี้หากเทียบสหรัฐฯกับจีน สหรัฐฯก็เหมือนนักกีฬาบาสเกตบอลอายุ 40 ปีที่อยู่ในช่วงท็อปฟอร์ม ที่ต้องมาแข่งขันกับเด็กอายุ 12 ปีที่เก่งพอๆกัน สหรัฐฯอาจเก่งกว่านิดหนึ่งเพราะมีประสบการณ์มากกว่า แต่หลังจากนั้นสถานการณ์ของสหรัฐฯคงไม่ค่อยดีเท่าไหร่”
ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจจาก มหาวิทยาลัย ลา เซียร์รา คาดการณ์ว่าภายในกึ่งศตวรรษจีนจะขึ้นมาคุมเศรษฐกิจโลก และกลายเป็นมหาอำนาจ โดยมีอินเดียตามมาติดๆ
เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรสหรัฐฯ 305 ล้านคน, จีน1,300 ล้านคน และอินเดีย 1,100 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย ลา เซียร์ราระบุว่า “การเติบโตของจีนและอินเดียเป็นเรื่องที่ท้าทายมหาอำนาจในขณะนี้มาก ทั้งจีนและอินเดียมีประชากรมหาศาล เมื่อนำจำนวนประชากรมาคิดคำนวณร่วมกับการที่ประชากรเหล่านั้นเข้าถึงการศึกษาและเทคโนโลยีมากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้ประชากรในประเทศจีนและอินเดียมีรายได้เท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าทั้งสองประเทศกำลังมาแรงมาก”
ความท้าทายที่มังกรต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตาม เซกัล จากคณะกรรมาธิการการต่างประเทศยังคงสงสัยว่า จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้จริงหรือ? เขาไม่คิดว่าจีนจะสั่งสมอิทธิพลทางทหาร, เศรษฐกิจ, การเมืองและวัฒนธรรม จนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้ในเร็วๆนี้ เซกัลระบุว่า จีนไม่มีทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน และไม่มีศักยภาพในการส่งทหารออกไปไกลเกินกว่ามหาสมุทรแปซิฟิก และแม้เศรษฐกิจจีนจะโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นการเน้นพัฒนาในประเทศเสียมาก
บรรยากาศเสรีในอเมริกา และการเป็นสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งการที่ประเทศอื่นๆยึดสหรัฐฯเป็นตัวแบบในการพัฒนา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯกลายมาเป็นมหาอำนาจ เซกัลกล่าวว่า “จีนยังขาดการเมืองที่โปร่งใส ซึ่งจะทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ”
มิลเลอร์ นักวิจัยจากสถาบันฮูเวอร์ ระบุว่า “ไม่มีประเทศไหนยึดจีนเป็ยตัวแบบทางการเมือง ส่วนทางด้านวัฒนธรรมนั้น ในระยะอันใกล้นี้ภาษาอังกฤษยังคงเป็นภาษาหลักของโลกธุรกิจไม่ใช่ภาษาจีน”
อย่างไรก็ตามมีผู้โต้ว่า มหกรรมโอลิมปิกปักกิ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
เจฟฟรีย์ เบเดอร์ ผู้อำนวยการศูนย์จีน จอห์น แอล. ธอร์นตัน ณ สถาบันบรู๊กกิงส์กล่าวว่า “การจัดมหกรรมโอลิมปิกเป็นการส่งสัญญาณต่อโลกว่า มังกรตื่นแล้ว”
หลี่ เฉิง นักวิจัยจากสถาบันบรู๊กกิงส์แสดงทัศนะว่า “หลังโอลิมปิกจะเป็นยุคใหม่ของจีน รัฐบาลจีนจะมีความอดทน, เปิดกว้าง และโปร่งใสมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆเกิดขึ้น หากจีนต้องการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยอาทิ ทิเบตเสียก่อน ด้วยวิธีการอื่นๆที่มิใช่การปราบปรามด้วยกำลัง ตอนนี้รัฐบาลจีนอาจไม่ตระหนักในเรื่องนี้ แต่ผมหวังว่าโอลิมปิกจะทำให้จีนคิดเรื่องนี้มากขึ้น” หลี่กล่าว
ยักษ์เศรษฐกิจ?
หากวัดด้วยมาตรวัดทางเศรษฐกิจแล้วจีนก็ยังห่างไกลจากการเป็นมหาอำนาจ จีดีพีจีนมีมูลค่าราว 7 ล้านล้านสหรัฐฯ เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯซึ่งมีตัวเลขจีดีพีรวมมูลค่า 13.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
มิลเลอร์ตระหนักว่า จีนกำลังกลายสถานะเป็นโรงงานผลิตของโลก ทว่าหากจีนต้องการบรรลุสถานะเป็นมหาอำนาจ จีนยังต้องเดินทางอีกยาวไกล “จีนยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกได้ และหากจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ จีนก็ต้องประคองระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าตื่นใจนี้ไว้ต่อไปเรื่อย ซึ่งผมตั้งข้อสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้” มิลเลอร์กล่าว
“การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน พึ่งพาภาคการส่งออกมาก ทำให้จีนต้องคอยพึ่งตลาดโลกซึ่งมีความผันผวนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสงค์จากสหรัฐฯ” มิลเลอร์กล่าว
ในระยะใกล้นี้สหรัฐฯยังคงครองความเป็นมหาอำนาจอยู่ได้ แต่จีนเองก็ไล่กวดมาอย่างรวดเร็ว “หากพิจารณาปัจจัยที่ส่งเสริมภาคเทคโนโลยี คุณจะพบว่าจีนทำได้ดีมาก พวกเขาผลิตวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนในด้านนี้ แต่เมื่อมองมาที่สหรัฐฯคุณจะพบว่าการศึกษาปฐมวัย, การลงทุน, สัดส่วนหนี้ และปัจจัยต่างๆค่อนข้างน่ากังวล” พอร์เตอร์จาก จอร์เจีย เทคกล่าว