รอยเตอร์/หนังสือพิมพ์สากล - การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก กอปรกับราคาสินค้าในประเทศที่สูงขึ้น ได้ส่งผลให้ออเดอร์การส่งออกของจีนในเดือนม.ค.ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี และอาจจะกลายเป็นปัจจัยที่หยุดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2 หลักที่ควบคู่กับเงินเฟ้อที่ต่ำตลอด 5 ปีของจีนลง
ในการประชุมเศรษฐกิจจีนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คำว่า “เศรษฐกิจซบเซาพร้อมเงินเฟ้อ” ได้ปรากฏขึ้นในการประชุมดังกล่าว โดยที่ผ่านมา คำนี้มักถูกนักวิชาการจีนใช้มาเพื่ออธิบายถึง “ความบกพร่องที่ไม่อาจแก้ไขได้” ของทุนนิยมเสรีทางตะวันตก
หวังเจี้ยน รองเลขาธิการคณะวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของจีนได้ชี้ว่า “จีนกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่มาคู่กับเงินเฟ้อ ซึ่งท่ามกลางภาวะเช่นนี้ ก็จำเป็นต้องมองว่าเราจะเลือกรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือราคาสินค้าเอาไว้”
“ในปี 2008 จากการที่วิกฤติสินเชื่อของสหรัฐฯที่ปรากฏขึ้น ได้ทำให้อุปสงค์จากภายนอกชะลอตัวลง และจะทำให้การผลิตล้นเกินของจีนเด่นชัดขึ้น อันจะเป็นการสกัดกั้นการเติบโตของเศรษฐกิจ บวกค่าแรง ที่ดิน และทรัพยากรที่ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่จะจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ และถัาไม่สามารถจัดการปัญหานี้อย่างเหมาะสม เมื่อใดที่จีนเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาก็ยากที่จะรับรองว่าจีนจะสามารถรับมือได้หรือไม่”
ขณะที่ล่าสุด สมาพันธ์จัดซื้อและโลจิสติกส์จีน ได้ประกาศดัชนี purchasing manager’s index ซึ่งเป็นดัชนีที่วัดการขยายตัวและการทำสัญญาด้านกิจกรรมภาคการผลิต ในเดือนม.ค.ว่าอยู่ที่ 53% ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 2.3% โดยดัชนีดังกล่าวถ้าหากต่ำกว่า 50% ก็แปลว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว
นอกจากนั้นในเดือนที่ผ่านมา จากการสำรวจก็พบว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศก็ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก โดยทางสมาพันธ์ได้ระบุว่ามีสาเหตุมาจากวิกฤติซับไพรม์จากสหรัฐฯที่ส่งผลไปทั่วโลก กอปรกับเงินหยวนที่แข็งค่า และการยกเลิกอัตราคืนภาษีส่งออกบางตัวของสินค้าจีนออกไป จนทำให้ออเดอร์ส่งออกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
อี๋ว์หย่งติ้ง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเมืองโลกประจำบัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์จีนได้อธิบายว่า “ที่จริงไม่มีใครจะคิดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะลดลง ยิ่งในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเติบโตถึง 11.4% สูงสุดในรอบ 13 ปี ทว่าต้องไม่ลืมว่าสำหรับจีนแล้ว การเติบโตไม่ถึง 9% ก็ถือว่าเป็นภาวะฝืดเคือง แม้ว่าตัวเลขนี้จะเป็นการเติบโตอย่างมากในหลายๆประเทศก็ตาม”
ฝานกัง คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนได้เปิดเผยว่า “ในปี 2008 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาจจะไม่ถึง 10% เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี แต่การชะลอตัวเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการที่ทำให้ความกดดันจากราคาสินค้าเพิ่มสูงนั้นลดลง”
“อัตราเติบโตเกิน 11% ถือว่ามากจนเกินไป แม้แต่ 10% ก็ยังถือว่ามากอยู่ ซึ่งหากตอนนี้ไม่ทำการปรับ ในอนาคตก็อาจจะเกิดวิกฤติได้” ฝานกังระบุ
ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ได้ออกมาประกาศปรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมังกรจากเดิม 10.8% ลดลง 1.2% เหลือเพียง 9.6%