ไอเอชที - โครงการขจัดสิงห์อมควันต้อนรับโอลิมปิกเหลว เหตุวัฒนธรรมอัดบุหรี่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อัดควันทุกวันทุกโอกาสจนติดเป็นนิสัย แม้แต่หมอยังสูบในโรงพยาบาล เผยออกกฎมากี่ครั้งเหลวหมด
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางเทศบาลมหานครปักกิ่งได้ออกกฎห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ อาทิโรงเรียน, สถานีรถไฟ และอาคารสำนักงาน นอกจากนี้ยังมีการสั่งห้ามมิให้นักกีฬาจีนรับการสนับสนุนสปอนเซอร์จากบริษัทบุหรี่ และในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกป้ายโฆษณาบุหรี่ก็จะถูกควบคุมเป็นพิเศษ นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ถึงกับประกาศว่า ในช่วงโอลิมปิกนี้จะเป็นโอลิมปิกที่ปราศจากควันบุหรี่
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า กฎดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติตามเท่าที่ควร ภัตตาคาร, ไนท์คลับ และบาร์ต่างๆยังเต็มไปด้วยสิงห์อมควันที่พ่นควันบุหรี่ขโมง นอกจากนี้กฎห้ามสุบบุหรี่ในแท็กซี่ ที่ประกาศใช้มาร่วมปีก็ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติตาม
“เวลาผมชี้ไปที่สัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ ผู้โดยสารมักหัวเราะ ไม่สนใจอะไรแล้วเขาก็สูบต่อไป" ฮุ่ย กั๋ว คนขับแท็กซี่ในปักกิ่งกล่าว
รัฐบาลเผยว่าขณะนี้ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่กว่า 100,000 นายไปตรวจว่า มีใครละเมิดกฎหรือไม่ ผู้ที่ละเมิดจะถูกปรับเป็นเงิน 10 หยวน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า ค่าปรับดังกล่าวไม่ได้ทำให้สิงห์อมควันจีน ซึ่งเป็นชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินสะเทือนมากนัก เนื่องจากค่าปรับ 10 หยวนเมื่อเทียบกับราคาบุหรี่มีก้นกรองยี่ห้อจงหัวซึ่งอยู่ที่ราว 70 หยวนแล้วนับว่าน้อยมาก
หลี เป่าจวิน ผู้จัดการร้านอาหารยอดนิยมแห่งหนึ่งบนถนนกุ่ยเจีย เผยว่าตัวเขาเองไม่กล้าห้ามลูกค้าสูบบุหรี่ “ลูกค้าส่วนมากยอมอดข้าว แต่ไม่ยอมอดบุหรี่ ถ้าผมไปห้ามพวกเขาสูบ ธุรกิจของผมเจ๊งแน่ ที่จีนบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คุณไม่สามารถดื่ม, กิน และสมาคมโดยปราศจากบุหรี่”
เผยเลิกยากเพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว
ชาวจีนส่วนมากติดบุหรี่เป็นนิสัย ข้อมูลระบุว่าประชากรจีนราว 350 ล้านคนเป็นสิงห์อมควันมืออาชีพ จำนวนดังกล่าวเมื่อเทียบแล้วมากกว่าประชากรสหรัฐฯทั้งประเทศเสียอีก และถึงแม้จะมีสถิติเผยว่าแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ถึง 1.2 ล้านคน ทว่าชาวจีนจำนวนมากยังคงยึดมั่นในความเชื่อว่า ‘การสูบบุหรี่ทำให้สุขภาพดี’
สิงห์อมควันหลายรายอ้างว่า “บุหรี่ยามเช้าหนึ่งมวนทำให้กระปรี้กระเปร่า” นอกจากนี้หากมีใครเอาผลทดสอบทางการแพทย์มาอ้าง พวกเขาก็มักอ้างเติ้ง เสี่ยวผิง และเหมา เจ๋อตง ซึ่งเป็นสิงห์อมควันตัวฉกาจแต่ก็อายุยืนถึง 92 และ 82 ปีตามลำดับ
แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ไม่ได้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ผลสำรวจระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์จีนราวครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่ ทั้งนี้ผลการสัมภาษณ์แพทย์ 3,600 รายในปี 2004 พบว่า แพทย์ราว 30% ไม่ทราบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจ และปัญหาการไหลเวียนของโลหิต หลายฝ่ายระบุว่า เหตุที่คนจำนวนมากไม่ทราบผลร้าย ก็เนื่องจากซองบุหรี่จีนไม่มีการติดคำเตือนเหมือนกับที่ประเทศอื่นทำ
ขณะที่หลี่ หนา เลขานุการวัย 26 ปี กำลังร่วมวงรับประทานอาหารกับเพื่อน โดยมือข้างหนึ่งคีบตะเกียบอยู่นั้น อีกข้างหนึ่งก็คีบบุหรี่ โดยมีลูกน้อยวัย 2 ปีนั่งอยู่ข้าง “หากคุณปกป้องลูกมากเกินไป พวกเขาจะไม่มีภูมิต้านทาน ให้พวกเขาสูดควันนิดๆหน่อยๆตั้งแต่เด็กแล้วพวกเขาจะแข็งแรง”
สูบทุกจังหวะชีวิตทั้งงานมงคลยันงานศพ
ทั้งนี้บุหรี่เป็นสิ่งที่ผูกผันกับชีวิตของชาวจีนในทุกช่วงจังหวะเวลา นับแต่งานมงคลสมรสจนถึงงานศพ ในงานแต่งงานเจ้าสาวมักแจกบุหรี่ยี่ห้อ ‘ซวงสี่’ ซึ่งหมายถึงความเป็นศิริมงคลให้กับแขก นอกจากนี้การแจกบุหรี่ดังกล่าวยังเป็นเคล็ดว่า จะทำให้เจ้าสาวมีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง ส่วนในงานศพนั้นผู้ที่มาไว้อาลัยให้กับผู้ตายมักจุดบุหรี่พ่นควันกันเต็มที่ เพื่อแสดงคารวะแก่ผู้เสียชีวิต
กระทั่งบนท้องถนนเมื่อถูกตำรวจเรียกข้อหาฝ่าฝืนกฎจราจร สิ่งแรกที่ผู้ขับขี่โดยทั่วไปมักทำกันคือการยื่นบุหรี่ให้กับตำรวจ ก่อนที่จะเจรจาต่อไป ส่วนการเจรจาธุรกิจที่เคร่งเครียดนั้นบุหรี่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ถัง เหว่ยจาง นักวิจัยจากพิพิธพันธ์บุหรี่ในเซี่ยงไฮ้ระบุว่า “ที่จีนบุหรี่มีคุณค่าพิเศษ บุหรี่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเชื่อมสัมพันธ์ในสังคม”
ทั้งนี้การสูบบุหรี่เป็นงานอดิเรกของหนุ่มแดนมังกร สถิติระบุว่า ประชากรชายกว่า 60% สูบบุหรี่ ขณะที่ประชากรหญิงสูบบุหรี่เพียง 3%
กัว เฟย ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งไม่สูบบุหรี่ แต่ต้องทำงานในภัตตาคารของครอบครัว ที่ซึ่งคนส่วนมากต่างสูบบุหรี่กันเป็นประจำ เผยว่า “ผมมักรับบุหรี่ที่คนอื่นมอบให้ จากนั้นก็เอามันเหน็บไว้ที่หูสักพักก่อนที่จะทิ้งไป หากคุณปฏิเสธไม่รับบุหรี่ที่คนอื่นยื่นให้ คนที่มอบจะรู้สึกเสียหน้ามาก”
สำหรับเหตุผลเบื้องหลังที่ทางการไม่ได้ลงไม้ลงมือ กำจัดสิงห์อมควันอย่างจริงจังก็เพราะว่า รัฐเป็นผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งสร้างรายได้ภาษีในแต่ละปีสูงถึง 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 8% ของรายได้รัฐบาลกลางที่ได้มาจากภาษี ทั้งนี้จีนผลิตยาสูบเป็นจำนวน 1/3 ของโลก โดยร้านขายบุหรี่ในปักกิ่งที่มีอยู่ทุกหนแห่ง มีบุหรี่ให้เลือกสรรถึง 400 ยี่ห้อ เมื่อปีที่แล้ว จาง เป่าเจิน รองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบได้ออกมาเตือน ระหว่างการถกเถียงเกี่ยวกับมาตรการขจัดสิงห์อมควันว่า “หากปราศจากบุหรี่ ความมั่นคงของชาติอาจถูกกระเทือน”
เมื่อต้นปีปักกิ่งพยายามเข็นมาตรการขจัดสิงห์อมควัน โดยการห้ามสูบบุหรี่ในบาร์, ภัตตาคาร, คาราโอเกะ และอาบอบนวด อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวถูกกลุ่มธุรกิจคัดค้านจนเป็นหมัน ทางการจึงได้แค่ออกมาตรการ บังคับให้สถานบริการแต่ละแห่งจัดโซนปลอดบุหรี่ ทว่ามาตรการดังกล่าวกลับไม่ได้รับการปฏิบัติตามเท่าที่ควร
บุหรี่จีนที่ได้รับความนิยมโดยมากมักมีราคาอยู่ที่ราว 3-4 หยวนต่อซอง ซึ่งนับว่าถูกมาก ส่วนบุหรี่คุณภาพสูงบางยี่ห้อก็มีราคาถึง 70 หยวน ขณะที่บุหรี่ต่างชาติอาทิ มาร์ลโบโร และคาเมล ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
ทั้งนี้ทางการจีนได้เพิ่มความพยายามในการขจัดสิงห์อมควัน ที่ผ่านมาเทศบาลเมืองกว่า 150 แห่งได้คลอดมาตรการจำกัดการสูบบุหรี่ ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ได้กดดันรัฐบาลจีนให้เพิ่มความพยายามขึ้นอีก ด้วยการอ้างสถิติว่า แต่ละปีจีนต้องเสียเงินกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯไปกับการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ ปัจจุบันสิงห์อมควันในจีนเฉลี่ยแล้วจะสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน ซึ่งเพิ่มจาก จำนวนเฉลี่ย 10 มวนในปี 1992 และ 4 มวนในปี 1972
ฮันส์ โทรดสัน ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศจีน กล่าวว่าในเมืองการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่มีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ในเขตชนบทซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าไรนัก