หนังสือพิมพ์สากล – นักธุรกิจไต้หวันที่เคยหลงใหลได้ปลื้มมองนโยบายภาษีผลไม้ศูนย์เปอร์เซนต์เป็นสิ่งหอมหวนกลับต้องเจ็บช้ำปิดกิจการลงกันเป็นทิวแถว จากปัญหาค่าการขนส่ง การเพาะผลไม้ในจีนแล้วติดฉลากปลอมปนเข้าสู่ตลาด และปัญหาการไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
ในปี 2005 การประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งจากไต้หวันเหลียน จ้านกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในแผ่นดินใหญ่ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา หรือที่เรียกกันว่าการประชุมเหลียน- หู ได้ผลักดันให้ปักกิ่งยอมเปิดด่านนำเข้าผลไม้จากไต้หวันด้วยอัตราภาษีศูนย์เปอร์เซนต์จนทำให้มีนักธุรกิจจำนวนหนึ่งมองเห็นโอกาสทางการค้าที่เกิดขึ้น
อย่างเช่นหลิน จื้อหง หนึ่งในผู้ครองตลาดผลไม้ไต้หวันในเซี่ยงไฮ้ก็เป็นผู้หนึ่งที่ใช้โอกาสจากนโยบายดังกล่าว จัดตั้งบริษัทจี๋กู่ขึ้นเพื่อทำการนำเข้าผลไม้จากไต้หวันมาเป็นการใหญ่ ทว่าสิ่งที่นึกไม่ถึงก็คือ ในวันนี้หลังจากที่เปิดมาเป็นเวลา 3 ปีกว่า ตัวเขาเองต้องขาดทุนเป็นเงินกว่า 80 ล้านเหรียญไต้หวัน จนกระทั่งต้องตัดสินใจปิดกิจการ เลิกธุรกิจนี้ของตนไป
ก่อนหน้านี้ หลินเองเคยเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบยาในแถบเฮยหลงเจียง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจนมีชื่อเสียง และสามารถนำไปขายในไต้หวันจนโด่งดัง ภายหลังเมื่อรัฐบาลออกนโยบายดังกล่าว และแรงสนับสนุนจากเพื่อนจึงได้ตั้งบริษัทจี๋กู่ขึ้น
หลินได้ทุ่มเงิน 80 ล้านเหรียญไต้หวัน สร้างโรงงานคัดแยกผลไม้ขึ้นในเซี่ยงไฮ้ บนเนื้อที่กว่า 4,000 ตารางเมตร มีรถขนส่งผลไม้อีก 10 คัน แต่ละวันจัดส่งผลไม้ไปยังร้านค้ากว่า 1,600 แห่ง และเพื่อให้ผลไม้ไต้หวันเป็นที่รู้จักของชาวจีน ถึงกับลงทุนเชิญเหลียน เซิ่งบุตรชายของเหลียน จั้นมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาผลไม้ พร้อมทำแผ่นโฆษณาแจกจ่ายไปทั่ว แต่นึกไม่ถึงว่าก็ยังไม่อาจทำให้บริษัทกลับมาสร้างกำไรได้
สาเหตุที่บริษัทนำเข้าผลไม้จากไต้หวันต้องประสบกับความล้มเหลว ส่วนหนึ่งมาจากในช่วงที่ผ่านมา มีการเพาะปลูกผลไม้ไต้หวันพื้นที่ต่างๆของจีนอาทิในไห่หนัน (ไหหลำ) ฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) กว่างตง (กวางตุ้ง) เป็นต้น ซ้ำร้ายผลไม้ไต้หวันที่ปลูกกันในจีนกลับตีตราว่าเป็น “ผลไม้นำเข้าจากไต้หวัน” แล้วนำมาผสมโรงขายกันในตลาดจีน อาศัยราคาที่ต่ำกว่าช่วงชิงส่วนแบ่งธุรกิจ
นอกจากนั้น นักธุรกิจส่วนหนึ่งยังตำหนิรัฐบาลของไต้หวันที่ผ่านมาด้วย เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าจะสามารถช่วยเปิดด่านภาษีศูนย์เปอร์เซนต์ได้ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีความกระตือรือร้นในการช่วยผลักดันตลาดผลไม้ไต้หวันในจีน ปล่อยให้เอกชนต้องต่อสู้ตามกำลังของตนตามลำพัง จนบางแห่งไม่สามารถทนอยู่ได้
ที่ผ่านมาหลิน จื้อหงเคยเฝ้ารอวันที่จีนกับไต้หวันจะเปิดการบินตรงเหมาลำกัน เช่นนี้จะได้ไม่ต้องขนส่งอ้อมผ่านดินแดนที่สาม ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองค่าขนส่งมาก อีกทั้งเกิดปัญหาในด้านความสดของผลไม้ ทว่าเอาเข้าจริงเมื่อพรรคก๊กมินตั๋งเข้ามาเป็นรัฐบาล และผลักดันให้มีการบินตรงจริงในวันที่ 4 ก.ค. หลินเองกลับไม่อาจฝืนทนถึงวันนั้น ต้องปิดกิจการลงไปก่อน ซึ่งหลินได้ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันค่าเชื้อเพลิงมีราคาเพิ่มขึ้นมาก ค่าขนส่งก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการขนส่งสินค้าจะสามารถบินตรงได้แล้ว แต่ราคาก็ไม่ต่ำลงไปกว่าเดิมสักเท่าไหร่ ดังนั้นเขาจึงไม่อยากตั้งความหวังรอคอยอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลินยังมองว่า จีนยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผลไม้ไต้หวัน ทว่าหากคิดว่าในอนาคตที่ตนหรือใครจะสามารถผลักดันตลาดดังกล่าวได้ จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐแล้ว ควรจะมีการผลักดันระบบการซื้อขายสินค้าโดยให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งออเดอร์ที่ไต้หวัน แล้วรับผลไม้ที่จีน
นอกจากนั้น การขนส่งผลไม้ผ่านตู้คอนเทนเนอร์ก็มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นผู้ที่คิดส่งออกผลไม้ไปจีนควรจะเลือกที่จะรุกตลาดกระเช้าผลไม้ที่ให้เป็นของขวัญในวันเทศกาลจะดีกว่า และหากส่งเป็นจำนวนไม่มากนัก การขนส่งทางอากาศก็เป็นทางเลือกที่จะช่วยรักษาความสดของผลไม้ได้ดีกว่า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้จีนจะมีการเปิดการนำเข้าผลไม้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ให้กับหลายๆที่ (รวมทั้งเอฟทีเอไทย-จีน)ทว่าการนำเข้าผลไม้ของจีนก็มักประสบปัญหายุ่งยาก เช่นการขนส่งที่อาจต้องผ่านดินแดนที่สาม ระบบโควต้า ระเบียบ และมาตรฐานสินค้าที่แตกต่างไปตามแต่ละมณฑล รวมถึงขั้นตอนการตรวจ พิธีการศุลกากร ล่าช้าและมีความซ้ำซ้อน เช่น การตรวจสอบสินค้า ทำให้ใช้ระยะเวลาขนส่งนานกว่าปกติ สินค้าเน่าเสีย