เอเยนซี – ไทม์ตีข่าว เผยจีนแอบหมกเม็ดสร้างเขื่อนในแม่น้ำนู่เจียง แม่น้ำนานาชาติซึ่งไหลผ่านจีน, พม่าและไทย ชาวบ้านจีนที่ได้รับผลกระทบเผย อนาคตไม่แน่นอน หลังถูกสั่งย้ายที่ทำกินหลีกทางให้เขื่อน
อี้ว์ กุ้ยฟู เจ้าของไร่เกษตรซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำนู่เจียง เริ่มรู้สึกกังวลกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ตลอดเวลาที่ผ่านมาอี้ว์ค่อนข้างสบายใจว่า ผืนแผ่นดินที่เขาอาศัยอยู่ จะไม่กลายเป็นเมืองบาดาล เนื่องจากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รณรงค์คัดค้านโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำนู่เจียงอย่างแข็งขัน กระทั่งรัฐบาลต้องถอยฉากออกไป
อย่างไรก็ตามล่าสุดอี้ว์เผยว่า เขาเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้วิสาหกิจได้ร่วมมือกับรัฐดำเนินการสร้างเขื่อนอย่างเงียบๆ
นู่เจียง เป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงในทิเบต ไหลผ่านมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน), พม่า และไทย นู่เจียงเป็นหนึ่งในแม่น้ำพรหมจรรย์ที่เหลือเพียง 2 แห่งของจีนคือ นู่เจียง ในมณฑลหยุนหนัน และ หย่าลู่จ้างปู้เจียงในทิเบต แม่น้ำทั้งสองรอดพ้นจากเงื้อมมือโครงการพัฒนา ที่มุ่งสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ตอบสนองความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
นู่เจียง หรือ “แม่น้ำที่โกรธเกรี้ยว” ไหลเชี่ยวกรากผ่านโตรกผา และโขดหินมากมาย ลักษณะดังกล่าวจึงเหมาะแก่การผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างยิ่ง รัฐบาลท้องถิ่นเองก็สนับสนุนโครงการเขื่อนเต็มที่ เนื่องจากมองว่า เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจะช่วยยกฐานะทางเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่นที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
เมื่อปี 2003 บรรดาผู้ประกอบการขนาดยักษ์นำโดย ไชน่า หัวเตี้ยน พาวเวอร์ เป็นหัวหอกสำคัญ ประกาศแผนสร้างเขื่อน 13 แห่งเหนือแม่น้ำนู่เจียง อภิมหาโครงการดังกล่าวกลายเป็นชนวนที่จุดกระแสต่อต้านจากทั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในจีนและต่างประเทศ กระทั่งเดือนเมษายนปี 2004 นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ต้องออกโรงสั่งระงับโครงการ พร้อมสั่งประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปฏิกิริยาของนายกรัฐมนตรีจีน นับเป็นแสงส่องทาง เป็นชัยชนะก้าวใหญ่ ที่จุดประกายความหวังต่อการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาเสียงของพวกเขามักล่องลอยหายไปราวกับอากาศธาตุ ที่ไม่มีใครสนใจ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ชัยชนะ และความหวังดังกล่าว อาจเป็นเพียงภาพลวงตา ขณะนี้สัญญาณต่างๆล้วนบ่งชี้ว่า “โครงการเบิกพรหมจรรย์นู่เจียงยังไม่ตาย”
เมื่อฝันร้ายกลายเป็นจริง
วันที่ 24 มีนาคม 2008 หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “หยุนหนันเตี้ยนลี่เป้า” รายงานข่าวประกาศของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ว่าด้วยแผนพัฒนาพลังงานจากทรัพยากรธรรมชาติ โดยพาดหัวข่าว “เดินหน้าโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำลุ่มน้ำนู่เจียง ในลิ่วคู่ และไซ่เก๋อ เป็นโครงการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติห้าปีฉบับที่ 11”
ข่าวดังกล่าวทำเอาบรรดาผู้คัดค้านตั้งตัวไม่ติด นักวิชาการและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างเร่งแสดงพลัง รวบรวมรายชื่อส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยรายละเอียดของแผนพัฒนาฉบับดังกล่าว โดยอ้างว่า การดำเนินโครงการเป็นโดยปราศจากการเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตามเสียงเรียกร้องดังกล่าวอาจไม่เป็นผลมากนัก เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ณ หมู่บ้าน เสี่ยวซาป้า ซึ่งตั้งอยู่เหนือเมืองลิ่วคู่ เมืองเอกของ
แคว้นปกครองตนเองชนชาติลี่ซู่แห่งนู่เจียงเพียงไม่กี่กิโลเมตร ชาวบ้านที่นั่นได้ลิ้มลองผลกระทบจากโครงการไปเรียบร้อยแล้ว พวกเขาต้องอพยพจากที่อยู่เดิมขึ้นไปยังที่สูง แลกกับเงินชดเชยไม่กี่หยวน เนื่องจาก ซิโนไฮโดร หนึ่งในผู้ประกอบการที่หวังสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ได้เข้าครอบครองพื้นที่เสียแล้ว
และเมื่อล่องตามกระแสน้ำลงมา จากเสี่ยวซาป้าไม่ไกล ที่ ไซ่เก๋อ คนงานจำนวนมากก็กำลังขะมักเขม้นสำรวจพื้นที่สำหรับการสร้างเขื่อน ทั้งไซ่เก๋อ และ เสี่ยวซาป้า เป็นพื้นที่ 2 แห่งที่ถูกระบุในแผนพัฒนาว่า จะมีการสร้างในเขื่อนบริเวณนี้
ราคาที่ต้องจ่าย
พื้นที่บริเวณหุบแม่น้ำนู่เจียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “แดนน้ำสามสาย” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านธรรมชาติ เนื่องจากคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและทิวทัศน์ที่งดงาม รายล้อมด้วยแนวเทือกเขาเกาหลีก้ง ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติเกาหลีก้งซัน อันเป็นแหล่งรวมพืชพรรณนานาชนิดที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออก และเป็นจุดชมทิวทัศน์ลุ่มน้ำนู่เจียงที่งดงามที่สุด และปี้หลัวเสี่ยซัน (ภูเขาหิมะแห่งปี้หลัว) เป็นแหล่งกำเนิดสรรพชีวิต อุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเช่นกัน เฉพาะมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ก็ประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยมากกว่า 10 ชนชาติ ด้านพันธุ์สัตว์ต่างๆ อาทิ พันธุ์ปลาก็มีความหลากหลายมากกว่า 50 สายพันธุ์ แถมพันธุ์ปลากว่าหนึ่งในสามของที่นี่เป็นพันธุ์ปลา ที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในที่อื่นๆ
ความหลากหลายทางชีวภาพ และสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้บริเวณนี้ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก ซึ่งหมายความว่าไม่ควรมีเขื่อนขนาดยักษ์ในบริเวณนี้
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่นิยมอ้างกันว่าการสร้างเขื่อน จะนำมาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจ อาจดูสมเหตุสมผลอยู่บ้าง เนื่องจากประชากรที่นี่ค่อนข้างยากจน เช่นเดียวกับเมืองชนบทในภาคตะวันตกของจีนโดยทั่วไป บางทีการหาอาหารใส่ท้องก็เป็นเรื่องลำบากเหลือทน สำหรับชาวบ้านที่นี่ ทว่าเขื่อนผลิตไฟฟ้าจะให้ผลประโยชน์กับชาวบ้านท้องถิ่นจริงหรือ ในเมื่อพื้นที่เพาะปลูกอันเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านจมอยู่ใต้บาดาลเสียแล้ว
แม้ที่อยู่ใหม่ของชาวบ้านเสี่ยวซาป้า จะดูหรูหรา คล้ายกับบ้านของชนชั้นกลางในฮ่องกงมากกว่าที่อยู่ของเกษตรกรชนบท ทว่าพวกเขาก็มิได้ยินดีกับบ้านหรูดังกล่าว เนื่องจากตอนนี้พวกเขามีบ้านหรู แต่ไม่มีที่เพาะปลูกทำกิน แถมเงินชดเชยที่ได้ก็น้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับสิ่งที่สูญเสียไป ชาวบ้านระบายความคับแค้นออกมาว่า “ข้ออ้างเรื่องการก่อสร้างเขื่อนจะสร้างงานให้กับพวกเรานั้น ไม่เป็นจริง เพราะส่วนมากผู้ประกอบการก็ใช้แรงงานจากข้างนอกมากว่า ที่จริงแล้วการสร้างเขื่อนดีที่สุดสำหรับคนกลุ่มเดียวคือ รัฐบาลท้องถิ่น เพราะพวกเขาจะได้นอนกินภาษีจากค่าไฟฟ้า”
นอกจากโครงการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำนู่เจียงแล้ว แผน 11 ยังกล่าวถึงโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในลุ่มน้ำจินซาเจียง และหลันชางเจียง (แม่น้ำโขง) เพื่อบรรลุเป้าหมายเพิ่มพลังไฟฟ้าจากพลังน้ำ ถึง 17 ล้านกิโลวัตต์ แก่มณฑลหยุนหนันภายในปี 2010 โดยโครงการลุ่มน้ำจินซาเจียง จะมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าตามจุดต่างๆ ได้แก่ เซี่ยงเจียป้า, ไป๋เฮ่อทัน, กวนอินเหยียน, หลู่ตี้ลา, หลงผัน, หลงหยวน, อาไห่ ส่วนโครงการลุ่มน้ำหลังชางเจียง จะมีการก่อสร้างที่ จิ่งหง, นั่วจาตู้, และกงกั๋วเฉียว
แม้ชาวบ้านจะทุกข์ทนมากเท่าไรก็ตาม พวกเขาก็มิได้รวมกลุ่มต่อต้านโครงการ เนื่องจากในหมู่ชาวบ้านด้วยกันก็มีความเห็นยังขัดแย้งกันเอง คริสเท่น แมคโดนัลด์ นักศึกษาอเมริกันซึ่งเข้าไปสัมภาษณ์ชาวบ้านจำนวน 200 รายเพื่อทำวิทยานิพนธ์ระบุว่า ชาวบ้านจำนวน 1/3 สนับสนุนโครงการ, 1/3 คัดค้าน และอีก 1/3 ไม่มีความเห็น ยังตัดสินใจไม่ได้
ด้านรัฐบาลท้องถิ่นเองก็อ้างเหตุจำเป็นเพื่อชักจูงชาวบ้านอีกข้อว่า ประชากรกว่า 20% ของแคว้นปกครองตนเองไม่มีไฟฟ้าใช้ การสร้างเขื่อนจะช่วยแก้ปัญหานี้
อี้ว์ เสี่ยวกัง ผู้อำนวยการ กรีน วอเตอร์เชด เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีฐานการเคลื่อนไหวอยู่ในหยุนหนันแสดงทรรศนะว่า “ผมไม่ได้คัดค้านการสร้างเขื่อนเสียทีเดียว รัฐสามารถสร้างได้ แต่ต้องวางแผนกระทำอย่างรอบคอบ เพราะโครงการนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง”
นอกจากความขัดแย้งภายในประเทศจีนแล้ว องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ก็เคลื่อนไหวต่อต้านเช่นกัน เนื่องจากแม่น้ำนู่เจียงส่วนที่ไหลผ่านพม่า และไทย มีชื่อเรียกที่คุ้นหูชาวไทยว่า “สาละวิน” ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญที่กั้นพรมแดน ระหว่างพม่ากับไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คาดว่าการสร้างเขื่อนไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่แม่น้ำนู่เจียง หรือสาละวิน จะส่งผลกระทบต่อไทยด้วย