xs
xsm
sm
md
lg

ใครอยากได้เขื่อน? เดี๋ยวเจ้าสัวจัดให้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจ้าสัวมังกรกำลังสร้างเขื่อนอย่างสนุกมือ โดยขยายกิจการก่อสร้างไปทั่วโลก แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหวั่นทำสิ่งแวดล้อมชาติอื่นพังซ้ำ เหมือนกรณีเขื่อนสามโตรกในบ้านตัวเอง

ปัจจุบัน จีนมีเขื่อนในประเทศมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดจำนวน 45,000 แห่งที่มีอยู่ในโลก ขณะเดียวกัน จีนก็กำลังเร่งส่งออกเทคโนโลยี่การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ให้แก่ชาติกำลังพัฒนา

จีนเที่ยวรับจ้างก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามากมายหลายแห่งในโลก ซึ่งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักสิทธิมนุษยชนกำลังวิตกอย่างยิ่งว่าจีนอาจจะทำผิดซ้ำเหมือนอย่างกรณีเขื่อนสามโตรก!

ทุก ๆ ปี คณะดูงานจากชาติในแอฟริกาและเอเชียพากันแวะเวียนมาเยี่ยมชมเขื่อนสามโตรก อลังการงานสร้างของจีน ในฐานะโครงการเขื่อนตัวอย่าง ทั้ง ๆ ที่เขื่อนยักษ์แห่งนี้ได้ ก่อปัญหามากมาย ที่จีนยังไม่รู้ว่าจะสางอย่างไร

เมื่อพิจารณาจากมาตรฐานหลาย ๆ ด้าน เขื่อนสามโตรก จัดเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ถูกโจมตีชนิดกัดไม่ปล่อย จนเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนจำต้องยืดอกยอมรับว่า ได้เกิดปัญหาขึ้นจริง

โครงการก่อสร้างเขื่อนสามโตรกได้รับอนุมัติในปี2535 แม้ถูกต่อต้านอย่างแข็งกร้าว และในที่สุดอ่างเก็บน้ำขนาดความยาว 640 กิโลเมตรก็อุบัติขึ้น ขับไล่ประชาชนราว 1 ล้าน 4 แสนคน ออกไปหาที่อยู่ใหม่ ฝ่ายที่สนับสนุนอ้างว่า เขื่อนสามโตรกสามารถป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเคยก่อภัยพิบัติมหันต์ให้พื้นที่ตอนล่าง นอกจากนั้น ยังผลิตกระแสไฟฟ้า อันเป็นพลังงานสะอาด ล้วนแล้วแต่เป็นการหยิบยกข้อดีมากลบข้อเสียจนมิด แต่ฝ่ายคัดค้านยังยืนยันว่า การสร้างเขื่อนขนาดเล็กกว่านี้ แต่หลายแห่ง น่าจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ดีกว่า อีกทั้งยังก่อผลกระทบต่อมนุษย์และธรรมชาติน้อยกว่าอีกด้วย กระทั่งในที่สุด ก็ปรากฎข่าวครึกโครมออกมาไม่ขาดสาย เกี่ยวกับงบก่อสร้าง ที่บานปลาย,การคอร์รัปชั่น, การบริหารจัดการ ที่ผิดพลาด, เหตุจลาจลวุ่นวายจากการบังคับให้ประชาชนอพยพไปอยู่ที่อื่น ไปจนถึงความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เช่นปัญหาแผ่นดินกัดเซาะ และมลพิษที่เพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่า ช้างตายทั้งตัว จีนพยายามคลี่ใบบัวปิดเท่าไร ก็ไม่มิด

ทั้งนี้ บริษัทและธนาคารหลายแห่งของจีนทำสัญญาหลายฉบับมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ในการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างน้อย 47 แห่งใน 27 ประเทศ รวมทั้งพม่า และซูดาน สองชาติ ที่ถูกวิจารณ์ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการติดตามปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ โดย เก๋อโจวป้า บริษัทวิศวกรรมใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของจีนชนะประมูลสัญญารับเหมาก่อสร้างเขื่อนในปากีสถานมูลค่า 1 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากเพิ่งประกาศโครงการก่อสร้างเขื่อนในไนจีเรียไปหมาด ๆ ด้านบริษัทซิโนไฮโดร ก็ไม่ยอมน้อยหน้า โดยชนะประมูลสัญญาก่อสร้างเขื่อนในลาว ซึ่งใช้เงินก่อสร้างราว 2 พันล้านดอลลาร์

“ จีนกำลังส่งเสริมการสร้างเขื่อนในทั่วโลกบนพื้นฐานการวิเคราะห์ที่ไม่ตระหนักถึงต้นทุนแท้จริงของโครงการเหล่านั้น” นายปีเตอร์ บอสส์ฮาร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของอินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ ระบุ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่มนี้มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองเบิร์กลี่ย์, รัฐแคลิฟอร์เนีย

อย่างไรก็ตาม เจ้าสัวมังกรกลับมองว่าโครงการเหล่านี้คือเครื่องยืนยันชัดเจนถึงการเพิ่มความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่เจ้าสัวมอบให้แก่ชาติกำลังพัฒนาในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งเจ้าสัวก็หวังจะได้รับโอกาสเข้าเจาะแหล่งทรัพยากรอย่างน้ำมัน และทองแดง เป็นสินน้ำใจตอบแทน ขณะที่ชาติเหล่านั้นต่างอ้าแขนต้อนรับ เพราะมองโลกในแง่ดีว่า การใช้พลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาด

แต่อเลสซันโดร พัลมีริ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนของธนาคารโลกเตือนว่า โครงการเหล่านี้เสมือนทูตสันถวไมตรี ที่ดีเยี่ยมก็จริง แต่อาจก่อมหันตภัยต่อสิ่งแวดล้อม และจุดเพลิงความวุ่นวายไหม้ลามแผ่นดิน

ตัวอย่างก็มีให้เห็น ๆ กันอยู่ เช่นกรณีเขื่อน เมโรวี่ ที่กั้นขวางลำน้ำไนล์ ในซูดาน มูลค่าก่อสร้าง 2 พันล้าน ซึ่งได้รับเงินกู้ส่วนหนึ่งจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน หรือ เอ็กซิมแบงก์ ปรากฏว่า ชาวบ้านลุกฮือประท้วงทางการที่บังคับให้พวกตนอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ผู้ประท้วงหลายคนชีวิตดับดิ้นด้วยน้ำมือตำรวจ เรื่องเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ร้อนถึงสหประชาชาติต้องออกมาตำหนิการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปราบปรามของรัฐบาลซูดาน หรืออย่างกรณีอุทยานแห่งชาติในกาน่าและแซมเบีย ซึ่งอาจตกอยู่ในอันตรายจากโครงการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งถูกชงเรื่องขึ้นมาในอีกหลายประเทศในกาฬทวีป เพราะจะทำให้พื้นที่อุทยานบางส่วนจมน้ำ และระบบนิเวศผันแปร

สำหรับบริษัทโครงการเขื่อนสามโตรกแห่งจีน (China Three Gorges Project Corp.) ซึ่งเป็นกึ่งรัฐวิสาหกิจ ที่บริหารจัดการการก่อสร้างเขื่อนมหึมานั้น กำลังพิจารณาเข้าเป็น หุ้นส่วนกับบริษัทด้านพลังงานของชาติตะวันตกหลายราย ซึ่งกำลังดำเนินแผนการ ที่จะก่อสร้างเขื่อนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทั้ง ๆ ที่ความมั่นคงทางการเมืองในประเทศนั้นกำลังง่อนแง่น โดยเขื่อนที่วางแผนกันสร้างนี้ จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเหนือกว่ากำลังการผลิตของเขื่อนสามผาถึง 2 เท่า

นอกจากกาฬทวีปแล้ว เจ้าสัวมังกรยังปิ๊งการก่อสร้างเขื่อนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อนบ้านอีกด้วย ทุกวันนี้บริษัทจีนถึงราว 21 ราย มีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า 52 แห่งในย่านนี้ จากผลวิจัย ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่แล้วของที่ประชุมเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาด้านพลังงานระหว่างจีนและอาเซียน (China-Asean Power Cooperation & Development Forum)

ท่ามกลางการรุกคืบหนักหน่วงของจีน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทัดทานว่า เขื่อนหลายแห่งที่มีอยู่ทุกวันนี้ ก็ล้วนแต่ทำลายต้นน้ำของแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ในดินแดนจีนไปแล้ว กลุ่มอนุรักษ์ต้องการสกัดกั้นไม่ให้จีนมาเที่ยวสร้างเขื่อนทางตอนล่างของแม่น้ำอีก นอกจากนั้น ยังกำลังเพ่งเล็งการก่อสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งของจีนในพม่า ซึ่งการบังคับให้ชาวบ้านโยกย้ายถิ่นฐานได้กำลังทำลายวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ส่วน ชาติยากจนที่สุดในโลกชาติหนึ่งอย่างลาวนั้น บริษัทซิโนไฮโดร (Sinohydro) ผู้ก่อสร้างเขื่อนสามโตรก ก็กำลังเดินหน้าก่อสร้างเขื่อน 2 แห่ง เพื่อขายกระแสไฟฟ้าให้จีนและไทย

เปรมฤดี ดาวเรือง นักรณรงค์ชาวไทย ร่วมกับกลุ่ม Towards Ecological Recovery & Regional Alliance ซึ่งต่อต้านการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำโขง เปิดเผยว่า ชาวบ้านเริ่มพูดจาต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนของจีนหลายโครงการกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม จีนและเหล่าผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อน เช่น คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านเขื่อนขนาดใหญ่ ( The International Commission on Large Dams) ซึ่งเป็นกลุ่มการค้า ยืนยันว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่สามารถยกมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในหลายส่วนซึ่งยากจนที่สุดในโลกได้ และทวีปแอฟริกาเพิ่งพัฒนาศักยภาพด้านไฟฟ้าพลังน้ำ ที่มีอยู่ไปแค่ร้อยละ 8 เท่านั้นเอง

“เราไม่ต้องการให้ใครเข้าใจเราผิด” นาย หลี่รั่วกู่ ประธานเอ็กซิมแบงก์ของจีนให้สัมภาษณ์ “เราอยากให้ประชาชนเข้าใจว่า เราไม่ได้กำลังทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เรากำลังช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ได้พัฒนา”

จีนเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนในห้วงเวลาเดียวกับที่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ชาติตะวันตกหลายชาติ และองค์กรระหว่างประเทศเลิกนิยมก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งกินเวลาหลายสิบปีกว่าจะเสร็จ เนื่องจากผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้เผยโฉมหน้าชัดเจนขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในอดีต เขื่อนมีส่วนสำคัญอย่างมากในแผนการสร้างประเทศ,การสร้างอุตสาหกรรม และการแก้ไขปัญหาความยากจน ก็ตาม เช่น เขื่อนฮูเว่อร์ในสหรัฐฯ ซึ่งก่อสร้างขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะชะงักงันครั้งใหญ่หรือเขื่อน อัลเกอว่า ในโปร์ตุเกส ซึ่งเสนอแผนก่อสร้างในปี 2500 มาแล้วเสร็จเมื่อปี 2545 โดยทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือได้รับประโยชน์จากศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำถึงประมาณร้อยละ 70 จากข้อมูลของ คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านเขื่อนขนาดใหญ่

ระหว่างทศวรรษ 1990 แรงกดดันอย่างหนักจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้การก่อสร้างเขื่อนทั่วโลก ลดจำนวนลงฮวบฮาบ จากในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งพุ่งถึงขีดสุดถึง 5,400 แห่ง เหลือแค่ 2,000 แห่งเท่านั้น แม้แต่ธนาคารโลก หัวหอกใหญ่ในการก่อสร้างเขื่อน เพื่อฉุดหลายชาติให้พ้นจากความยากจน ยังต้องระงับการปล่อยเงินกู้สำหรับการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด และในปี 2543 กลุ่มทรงอิทธิพล ชื่อ คณะกรรมาธิการโลกด้านเขื่อน (World Commission on Dams) ได้ออกรายงานฉบับหนึ่ง เป็นการโต้เถียง, ตั้งข้อสงสัย และตั้งคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ ที่จะได้รับจากการสร้างเขื่อน เป็นรายงานที่เสียดสีทิ่มแทงใจ และเสมือนการกาเครื่องหมายให้เห็นถึงจุดตกต่ำสุดสำหรับธุรกิจการสร้างเขื่อน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ดึงให้การสร้างเขื่อนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เช่นการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และปัญหาภาวะโลกร้อน อันเป็นผลจากการเผาถ่านหิน โดยในปี 2548 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และธนาคารโลก ก็เริ่มปล่อยเงินกู้อีกครั้งให้แก่โครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ในลาว เพื่อส่งออกไฟฟ้า เพิ่มรายได้เข้าประเทศ หรือในกรณีการก่อสร้างเขื่อน เพื่อสนับสนุนแหล่งพลังงานสะอาดอื่น ๆ เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์

ในช่วงที่เขื่อนเริ่มหวนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จีนก็เร่งดำเนินการก่อสร้างเขื่อนชนิดเหยียบคันเร่งมิด ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านทางเอ็กซิมแบงก์ “ในช่วง4-5ปีที่ผ่านมา จีนได้กลายเป็นผู้ปล่อยกู้รายสำคัญที่สุดสำหรับโครงการสร้างเขื่อนทั่วโลก” บอสส์ฮาร์ดแห่งอินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ ชี้

วันนี้ กลุ่มของบอสส์ฮาร์ดและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ กำลังส่งสายตาเหยี่ยวไปที่เอ็กซิมแบงก์ของจีน โดยเชื่อว่า ต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุด เพราะปล่อยกู้ให้บริษัทก่อสร้างจีนในการก่อสร้างเขื่อน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องการให้จีนมีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีความโปร่งใสตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในวงอภิปราย ที่นับวันจะขยายวงกว้าง เกี่ยวกับความช่วยเหลือที่จีนให้แก่โลกกำลังพัฒนา จีนถูกโจมตีว่าให้ความช่วยเหลืออย่างปราศจากเงื่อนไข ซึ่งหลายคนเห็นว่า เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพาะเชื้อทุจริตคอร์รัปชั่น ให้เติบโต

ทว่าเจ้าหน้าที่จีนไม่ยอมจำนนต่อข้อกล่าวหา โดยชี้แจงว่า นโยบายความช่วยเหลือของจีนวิวัฒนาการไปตามบทบาทความเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ที่ลึกซึ้งขึ้นของจีน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายหลี่แห่งเอ็กซิมแบงก์ ได้เชิญบอสส์ฮาร์ด มานั่งจับเข่าคุยกัน หลังอ่านบทความโจมตีเอ็กซิมแบงก์ทางเว็บไซต์ นอกจากนั้น ยังมีการเผยแพร่ชี้แจงแนวทางการปล่อยกู้ของทางธนาคาร และขณะเดียวกัน เอ็กซิมแบงก์จีนก็กำลังพิจารณาเข้าร่วมโครงการต่าง ๆของธนาคารโลกในแอฟริกา

“ที่พูดว่าเราไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และไม่รับผิดชอบต่อสังคมนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” หลี่ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ให้เหตุผลโต้แย้ง บุคคลผู้นี้เคยทำงานที่ธนาคารกลางจีน, ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแล้ว

“คุณจะหยุดยั้งการพัฒนาประเทศ เพราะเกิดการทุจริตโกงกินขึ้นนั้น ไม่ได้หรอกครับ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณจะปฏิเสธกินอาหาร เพราะกลัวสำลักไม่ได้หรอก” ประธานเอ็กซิมแบงก์ของจีนให้ข้อคิดคำคมเป็นตอนจบของเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น