ผู้จัดการรายวัน-- โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำสาละวินเพื่อผลิตไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งอันเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่าได้หยุดชะงักลงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลในกรุงเทพฯ และฝ่ายพม่ากำลังรอดูท่าทีต่างๆ ของรัฐบาลชุดใหม่
แต่การลงทุนสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซของบริษัทน้ำมันจากไทยยังคงดำเนินต่อไป
"ทางพม่ายังไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นทางการใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าอันเป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศต่อไป" นิตยสารเมียนมาร์ไทมส์ฉบับที่กำลังวางแผงในสัปดาห์นี้อ้างคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญประจำกระทรวงพลังงานไฟฟ้า (1) ที่ไม่ระบุชื่อ
เอกชนและหน่วยงานของไทยกับไทยกับพม่ากำลังร่วมกันก่อสร้างเขื่อนหุตจี (Hutgyi) ในรัฐกะเหรี่ยง (Kayin) กับเขื่อนท่าสาง (Tasang) ในรัฐชาน (Shan) ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำสาละวิน (Thanlwin) ทั้งสองแห่ง
เขื่อนหุตจีมีมูลค่าก่อสร้าง 1,000 ล้านดอลลาร์ เป็นการร่วมทุนระหว่างกรมก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำพม่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทซิโนไฮโดร (Sinhydro Corp) จากจีน นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ฉบับภาษาอังกฤษกล่าว
เขื่อนใหญ่แห่งนี้มีกำลังติดตั้งผลิตกระแสไฟฟ้า 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งเกือบทั้งหมดจะส่งจำหน่ายให้แก่ไทย
ส่วนเขื่อนท่าสางในรัฐชานเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือมีกำลังติดตั้งถึง 7,110 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนราว 6,000 ล้านดอลลาร์
เขื่อนท่าสางเป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มเอ็มดีเอ็กซ์ (MDX Group) กับกรมก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าฯ พม่า การก่อสร้างเริ่มในเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 เมียนมาร์ไทมส์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถขอความเห็นจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของไทยได้เมื่อวันพุธนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเด็นที่ว่า การก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเปลี่ยนรัฐบาลในประเทศไทย
ส่วนบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) ได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่า แผนการลงทุนสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่หลุมเยดากุ้น (Yedagun) ในอ่าวเมาะตะมะ (Mawtama) จะดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก
ปัจจุบัน ปตท.สผ.ถือหุ้น 100% ในหลุม M9 ซึ่งอาจจะต้องลงทุนประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ และกำลังเจรจาแผนการร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันจากตะวันออกกลางรายหนึ่ง
นอกจากนั้นนายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. ยังเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (12 ก.พ.) ว่า บริษัทกำลังเจรจาเพื่อสว็อปหุ้นกับยักษ์ใหญ่พลังงานจากจีนคือ บริษัทซีนูค (CNOOC Ltd) ในแปลงสำรวจก๊าซและน้ำมันในอ่าวเบงกอลของพม่า
นายมารุตกล่าวว่า ปทต.สผ. ต้องการจะเข้าถือหุ้น 20% ในแปลง M3 กับ M4 อันเป็นแปลงสัมปทานของ CNOOC
หากการเจรจาประสบความสำเร็จก็จะเป็นครั้งแรกที่บริษัทน้ำมันจากไทยเข้าไปมีผลประโยชน์ในแหล่งก๊าซและน้ำมันอ่าวเบงกอล
ปตท.สผ.กับ CNOOC ยังอยู่ระหว่างเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคตอีกหลายอย่าง รวมทั้งการร่วมกันลงทุนสำรวจขุดเจาะในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ด้วย นายมารุตกล่าว
ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปได้ใช้มาตรการคว่ำบาตร เพื่อกดดันให้กลุ่มปกครองทหารพม่าต้องเร่งปฏิรูปไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่บริษัทของไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ในเอเชียไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว.