xs
xsm
sm
md
lg

เหตุการณ์ ณ ช่วง “100” วัน ก่อนโอลิมปิก ปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กๆช่วยกันถือป้ายคำขวัญโอลิมปิก


สาวชาวฮั่นแต่งชุดชนชาติทิเบตกำลังโชว์ลีลาเต้นระบำบริเวณศูนย์กลางโอลิมปิก ระหว่างสนามกีฬาแห่งชาติและศูนย์แข่งขันกีฬาทางน้ำเมื่อวันที่ 30 เมษายน ระหว่างงานฉลอง 100 วัน สู่โอลิมปิก


ณ วันพุธที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2008 เป็นช่วงวันที่ห่างจากวันเปิดมหกรรมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2008 “100” วัน พอดิบพอดี และจีน ก็ได้ถือตัวเลข “100” เป็นฤกษอันดี ในการจัดงานเฉลิมฉลองป่าวประกาศศักดาเจ้าภาพ ปลุกเร้าความตื่นเต้น นำร่องก่อนวันปิดม่านโอลิมปิก ปักกิ่ง ริ้วขบวนแห่ การเริงระบำรอบ “รังนก” ที่จะเป็นสนามกีฬาหลักในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สร้างสีสันสดใสตระการตาทั่วกรุงปักกิ่ง

การแสดงต่างๆที่จัดขึ้นบริเวณสนามรังนก
ทว่า ณ ช่วง 100 วัน ก่อนเปิดม่านโอลิมปิก ครั้งประกาศศักดามหาอำนาจโลกจีนนี้ ก็ยังปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกอึมครึมจากเรื่องฉาวละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สืบเนื่องโยงใยจากกรณีการประท้วงของกลุ่มสนับสนุนอิสรภาพทิเบตจนบานปลายเป็นศึกรุนแรงในลาซาเมื่อเดือนมีนาคม การประท้วงและการละเมิดสิทธิตามเส้นทางวิ่งคบเพลิงจนเกิดศึกตะลุมบอนเลือดตกยางออก ไปถึงมลพิษอากาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นเงื่อนไขการเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ของโลกโอลิมปิก อย่างควรคู่ เปี่ยมด้วยเกียรติภูมิ และบรรลุเป้าหมาย “One World One Dream” อย่างแท้จริง

กลิ่นคาวเลือด ความสงสัย ยังไม่สิ้น
สำนักข่าวซินหัวกระบอกเสียงใหญ่แห่งรัฐจีน รายงานในวันพุธ(30 เม.ย.) ว่าตำรวจจีนได้ยิงชาวทิเบตที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อหวอดการประท้วงในเดือนมีนาคม นับเป็นครั้งแรกที่ทางการจีนได้ยอมรับว่าสังหารคนทิเบตตั้งแต่เกิดศึกรุนแรงในลาซาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งฝ่ายจีนบอกว่ามีผู้เสียชีวิตราว 20 คน ที่ถูกสังหารด้วยน้ำมือของ “ผู้ก่อการจลาจล” ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตบอกว่า มีผู้คนมากกว่า 200 คน เสียชีวิตระหว่างการปราบปรามของจีน



หญิงชาวทิเบตกำลังหมอบกราบตรงหน้าพระราชวังโปตะลาในกรุงลาซา ที่ดูร้างไปถนัด ทั้งนี้ ทางการจีนได้เปิดทิเบตให้ชาวจีนไปท่องเที่ยว แต่ก็ยังคงปิดประตู ห้ามชาวต่างชาติเข้าไป


นับเป็นครั้งแรกที่กระบอกเสียงของรัฐจีนออกข่าวว่าตำรวจจีนสังหารชาวทิเบต ขณะที่นานาชาติยังกังขาความโปร่งใสของจีนในการรายงานเกี่ยวกับศึกขัดแย้งทิเบต เนื่องจากจีนได้ปิดทิเบต และพื้นที่ชุมชนชาวทิเบตทางภาคตะวันตกของประเทศ ห้ามผู้สื่อข่าว และผู้สังเกตการณ์เข้าไปเป็นพยานสถานการณ์ใดๆ

เมื่อวันอังคารที่ 29 เม.ย. ศาลชั้นกลางเมืองลาซาเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต ตัดสินลงโทษผู้ก่อความไม่สงบในเมืองลาซาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 3.14 โดยผู้ก่อเหตุราว 30 คนได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีจนถึงตลอดชีวิต นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนเปิดเผยการตัดสินลงโทษในคดีก่อความไม่สงบต่อหน้าสาธารณชน โดยมีประชาชนเข้าร่วมฟังการตัดสินในศาลราว 200 คน ซึ่งหลังวันออกข่าวนี้ในพุธ โฆษกทำเนียบขาว ดานา เฟอริโน ก็ได้ออกโรงออกความเห็นเกี่ยวกับข่าวการตัดสินนี้ว่า “เราวิตก เราไม่คิดว่าจะมีใครละเมิดกฎหมาย แต่เราก็ยังเชื่อในเสรีภาพการแสงดออกและการชุมชน”

ขณะที่ กลุ่มเคลื่อนไหวทิเบต เผยในวันพุธว่า มีลามะและชาวทิเบตกว่า 160 คน ถูกคุมขังตามวัดต่างๆในลาซา และในเขตชุมชนทิเบตในมณฑลที่ติดต่อกันนั้น
เหนื่อยนักพักก่อน
ขวากหนามบนเส้นทางวิ่งคบเพลิง
ในวันพุธ บรรดาสื่อโสมขาวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กำลังไล่ล่านักศึกษาจีนที่ก่อเรื่องวุ่นวายระหว่างการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน ทั้งนี้ เรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นระหว่างที่กลุ่มเรียกร้องประเด็นเกาหลีเหนือ, ทิเบต และสิทธิมนุษยชน จำนวน 300 คนกำลังชุมนุมอยู่ กลุ่มผู้ชุมนุมชาวจีนกว่า 6,000 คนก็ดาหน้าออกมาต้านตามเส้นทางวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก



เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบพยายามแยกกลุ่มสนับสนุนจีน กับ กลุ่มต่อต้านจีนออกจากกัน ระหว่างการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกที่กรุงโซล 27 เมษายน 2008 - รอยเตอร์


ผู้ชุมนุมชาวจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาได้ขว้างปาขวดน้ำ, หิน และกระป๋องเครื่องดื่มใส่ฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้นักศึกษาจีนกลุ่มหนึ่งยังได้รุมสกรัมฝ่ายตรงข้ามพร้อมกับขว้างปาก้อนหินใส่ช่างภาพสื่อท้องถิ่นจนได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกบันทึกเป็นวีดีโอคือ ภาพนักศึกษาจีนนับร้อยไล่ล่าฝ่ายตรงข้าม ที่มีจำนวนเพียง 2-3 คนไปยังล็อบบี้ของโรงแรมแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะทำร้ายเหยื่อที่น่าสงสาร นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาอเมริกัน 2 รายที่สวมเสื้อ “ฟรี ทิเบต” ถูกกลุ่มชาวจีนรุมล้อม ทว่าโชคดีที่ตำรวจสามารถช่วยนำตัวออกมาได้ทัน

ผู้นำเกาหลีใต้สุดเคืองและสุดทน ถึงกับนายกรัฐมนตรีฮัน ซุงซู ออกโรงแถลงว่า “เหตุการณ์ปะทะดังกล่าว กระเทือนต่อเกียรติภูมิของเกาหลี มาตรการทางกฎหมายและการทูตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเยียวยาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

“เป็นเหตุการณ์น่าเศร้า ที่ชาวต่างชาติละเมิดกฎหมายทำการประท้วงใช้กำลัง ต่อกลุ่มผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่าง” รมต.ยุติธรรมโสมขาวต่อว่า

ขณะที่โฆษกจีน ออกมาปกป้องว่า “นักศึกษาจีนบางคนออกมาพิทักษ์ศักดิ์ศรีคบเพลิงโอลิมปิก ฉันเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมชาติ บางทีอาจจะมีการกระทำที่รุนแรงเกินเหตุบ้าง...”

ทางการฮ่องกงปฏิเสธการเข้าดินแดนของนักรณรงค์อิสรภาพทิเบต 3 คน ที่วางแผนเข้ามาประท้วงระหว่างการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก ซึ่งจะผลัดไม้สู่ฮ่องกงในวันศุกร์ที่ 2 พ.ค.นี้ ทั้งสามถูกส่งกลับแทบจะทันทีที่ลงจากเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติของฮ่องกงเมื่อวันอังคาร (29 เม.ย.)

      
“ผมไม่สยายใจ เรื่องที่จีนกระทำในทิเบต” กอร์ดอน บราวน์กล่าวเมื่อวันพุธ(30 เม.ย.)

นายกอร์ดอน บราวน์นายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ พูดในที่ประชุมนักธุรกิจที่ลอนดอนในวันพุธ “ผม “ไม่สบายใจ” เกี่ยวกับการกระทำของปักกิ่งต่อชาวทิเบต เราได้พูดคุยกับจีน แต่ก็ประสบความยากลำบาก”

ด้านสิ่งแวดล้อม จีนก็ยังดูเหมือนจะยังสอบไม่ผ่านเรื่องทำความสะอาดอากาศ โอลิมปิกสากลหรือ IOC บอกว่าอาจต้องเลื่อนการแข่งขันบางอย่างออกไป หากมลพิษอากาศยังคงคุกคามสุขภาพ

ชุดภาพบรรยาภาพในช่วง “100 วันนับถอยหลังสู่โอลิมปิก ปักกิ่ง”


ทีมโรสเลอร์ สเก็ตของกลุ่มเด็กๆที่มาร่วม
สมาคมผู้พิการก็เข้าร่วมงานนับถอยหลังที่สนามกีฬาแห่งชาติรังนก
เฉิงหลงและทีมนักแสดงร่วมร้องเพลงบนเวทีคอนเสริต์
นักร้องร่วมให้ความบันเทิงอย่างเต็มที่
ผู้คนล้นหลามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
ด้านหลังผู้คนที่มาร่วมงานคือบอร์ดนับถอยหลังสู่โอลิมปิก
กำลังโหลดความคิดเห็น