“คนย่อมชนะฟ้า (เหรินติ้งเซิ่งเทียน)”
แผ่นดินมังกรใต้เงาประธานเหมาเจ๋อตง เมื่อเทียบกับยุคราชวงศ์ และยุคสาธารณรัฐ นับว่าสังคมจีนเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงปรากฏ สืบเนื่อง พบเห็นได้ในปัจจุบัน ทั้งในสิ่งที่สะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมและนามธรรม อาทิ วิธีคิด!
เหรินติ้งเซิ่งเทียน หรือแปลเป็นไทยว่า “คนย่อมชนะฟ้า” เป็นสุภาษิตจีนที่มีใช้มาแต่โบราณ คำว่า “ฟ้า” ในสุภาษิต “คนย่อมชนะฟ้า” นี้เดิมทีมักหมายถึงลิขิตชะตาชีวิตมากกว่าความพยายามเอาชนะธรรมชาติ กล่าวคือ บุคคลย่อมรู้จักที่จะต่อสู้ ดิ้นรนมิใช่อยู่ไปวันๆโดย เชื่อว่าฟ้าลิขิตชะตาไว้แล้วเพียงอย่างเดียว
ทว่าในสมัยของประธานเหมา “การเอาชนะฟ้า” ถูกแปรเปลี่ยนให้ความหมายใหม่ เน้นย้ำว่าการเอาชนะฟ้าคือ เอาชนะธรรมชาติ
“เพื่อบรรลุซึ่งอิสรภาพในสังคม มนุษย์ต้องใช้สังคมศาสตร์ ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อดำเนินการปฏิวัติสังคมต่อไป, เพื่อบรรลุซึ่งอิสรภาพในโลกแห่งธรรมชาติ มนุษย์ต้องใช้วิทยาศาสตร์ ทำความเข้าใจ, ปราบปราม, และเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ เพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากธรรมชาติ”1
แนวคิดดังกล่าวของประธานเหมาถูกส่งต่อ และสืบทอดมายังผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ และชาวจีนในปัจจุบัน จากปรัชญาจีนโบราณที่เน้น “ฟ้าคนร่วมประสาน (เทียนเหรินเหออี)” ซึ่งแปลความเป็นภาษาสมัยใหม่ได้ว่า “ความกลมกลืนระหว่างฟ้ากับคน” กลายมาเป็น “การเอาชนะธรรมชาติ” ซึ่งถูกตอกย้ำอย่างเด่นชัดในสมัยประธานเหมา เนื่องจากหลังการปฏิวัติ 1949 เศรษฐกิจสังคมจีนอยู่ในสภาพล้าหลัง ด้วยเผชิญความเหน็ดเหนื่อยจากภาวะสงครามมาอย่างยาวนาน จึงต้องเร่งพัฒนาสู่ความเจริญก้าวหน้า
ความเจริญก้าวหน้าในทัศนะของประธานเหมาคือ การเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม อาศัย "กระบวนทัศน์ควบคุม" หรือการเป็นนายเหนือธรรมชาติ สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากการสร้างเขื่อนจำนวนมาก เพื่อเอาชนะเป็นนายเหนือกระแสธาร
และมรดกความคิดดังกล่าวก็สืบทอดมากระทั่งถึงปัจจุบัน
สำหรับมหกรรมโอลิมปิกที่จะจัดขึ้น ณ มหานครปักกิ่งครั้งนี้ เมื่อผู้คนต่างชาติต่างภาษา พากันหลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมโลก แถมยังมีรายการถ่ายทอดสดตลอด การรักษาหน้าในฐานะเจ้าภาพจึงสำคัญยิ่ง
ทางรัฐบาลจีนจึงสั่งการเตรียมพร้อมทุกอย่าง มิให้ขาดตกบกพร่อง และหนึ่งในเรื่องที่มีความกังวลกันคือ ประเด็น เรื่องน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคระหว่างงาน
เมื่อเป็นงานใหญ่ระดับชาติ จึงต้องมีผู้เสียสละ “ยอมขาดน้ำเพื่อปักกิ่ง”
ในมณฑลเหอเป่ย ชาวบ้านต้องผจญกับทางเลือกที่ไม่ได้เลือก พวกเขาถูกเวนคืนที่ ขโมยน้ำที่ขาดแคลนอยู่แล้ว เพื่อปรนเปรอความสุขของคนในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งกำลังเป็นที่จับตามองของทั่วโลก
โครงการขุดคลอง สือเจียจวง – ปักกิ่ง จึงถูกเร่งก่อสร้างจนเสร็จ โดยมีจุดเริ่มจากมณฑลเหอเป่ย เพื่อผันน้ำมาเลี้ยงมหกรรมจีโนลิมปิกที่คาดว่า จะมีปริมาณบริโภคน้ำในปักกิ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติถึง 30% หรือคิดเป็นจำนวนการบริโภค 2.75 ล้านคิวบิกเมตรต่อวัน2
คลองขุดสือเจียจวง – ปักกิ่ง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอภิมหาโครงการมหานทีใต้-เหนือ ที่รัฐบาลวางแผนผันน้ำจากแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) จากทางใต้ เพื่อหล่อเลี้ยงภาคเหนือของจีนที่เผชิญกับกระบวนการนคราภิวัตน์ (urbanization) กลายเป็นเมืองใหญ่ อุดมด้วยอุตสาหกรรม และคนเมืองชนชั้นกลาง ที่โหยหิวน้ำอย่างมหาศาล
ทว่าโครงการมหานทีใต้-เหนือ มูลค่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไม่สามารถสร้างเสร็จทันมหกรรมจีโนลิมปิก ฉะนั้นรัฐบาลจีนจึงเลือกเอามณฑลเหอเป่ย และซันซี เป็นแหล่งสนับสนุนน้ำให้กับปักกิ่งก่อน
การตัดสินดังกล่าวสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาล ต่อเหอเป่ย ด้วยเป็นมณฑลที่มีค่าเฉลี่ยน้ำสำหรับการบริโภคต่อหัวอยู่ในระดับท้ายๆของจีน กล่าวคือจากค่าเฉลี่ยมาตรฐานอัตราน้ำสำหรับการบริโภคทั่วประเทศ ชาวเหอเป่ยมีสัดส่วนน้ำสำหรับการบริโภคเพียง 1 ใน 8 ของอัตราการบริโภคเฉลี่ยต่อหัวของประเทศ3
ในเมืองเป่าติ้ง ซึ่งเป็นทางผ่านของโครงการคลองขุดสือเจียจวง – ปักกิ่ง บรรดาชาวบ้านต่างร้องตะโกน ร่ำไห้ประกาศผลกระทบ ความสูญเสียที่เกิดขึ้น
“พวกเราจน เราไม่มีทุนสำหรับการขุดบ่อน้ำใช้เอง พวกเราจน และตอนนี้โครงการคลองขุดสือเจียจวง – ปักกิ่งทำให้เราจนยิ่งกว่าเดิม” หวังจวิ่นเฉียง จากหมู่บ้านซีกู่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กลับเขื่อน หวังไคว่ หนึ่งในเขื่อนที่จะถูกผันน้ำเข้าคลองขุดสือเจียจวง – ปักกิ่งกล่าว4
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ขึ้นราคาน้ำจากเขื่อน 3 เท่า หวังบีบเกษตรกรให้ละทิ้งผืนดิน ในที่สุดหวังต้องทิ้งผืนปฐพีที่ใช้หากินบางส่วน เนื่องจากเกษตรกรจนๆอย่างเธอขาดแคลนทุนทรัพย์
แม้รัฐบาลจะอ้างว่าได้จ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดิน ทว่าเมื่อเป็นเรื่องเงินทอง ปัญหายุ่งยากมักตามมาเสมอ เพราะ “เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร” ชาวบ้านจำนวนหนึ่งร้องเรียนว่าเขาถูกเบี้ยว ไม่ได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่ หากติดตามกระแสความขัดแย้งกรณีจัดสรรทรัพยากรที่ดินในจีนจะพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเก็บเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง
ใช่ว่ารัฐบาลจ่ายเงินคืนให้กับชาวบ้านหมดแล้วเรื่องจะจบ เพราะความสูญเสียที่เกิดจากโครงการขนาดใหญ่ ที่มีฐานคติการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ เน้น “ความอยู่ดีกินดี เพียงอย่างเดียว” ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ความสูญเสียของระบบนิเวศน์จากการขุดคลองมหานที, วิถีชีวิตของชาวบ้าน, และความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ล้วนเป็นสิ่งที่เรียกคืนมิได้
การตีราคาเวนคืนที่ดิน เป็นตัวเงิน แล้วถือว่าเรื่องจบมิสามารถกระทำได้ เพราะเงินไม่สามารถชดเชยหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องสูญเสียไป โดยเฉพาะพันธะทางใจ อาทิความผูกพันระหว่างชุมชนเดิมที่ตั้งอยู่บริเวณนั้น และความผูกพันต่อผืนดินที่บรรพบุรุษอาศัยเลี้ยงกายมานาน
นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาด้วย “กระบวนทัศน์ควบคุม” พยายามควบคุมธรรมชาติ รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหา วิกฤตเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ระหว่างการก่อสร้างคลองขุดสือเจียจวง – ปักกิ่ง วิศวรกรบังเอิญค้นพบว่า พื้นที่บริเวณโครงการมีทางน้ำใต้ดินไหลอยู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการก่อสร้าง วิศวกรจึงสั่งสูบน้ำออกจนหมด5
ทว่าการสูบน้ำใต้ดินดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่อาศัยน้ำบาดาล ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมต่อกับทางน้ำใต้ดินดังกล่าว
สืออิ๋นจู ชาวบ้านที่อาศัยน้ำบาดาลเผยว่า “เมื่อก่อนบ่อน้ำที่บ้านผมขุดลึกเพียง 12 เมตรก็เจอ เดี๋ยวนี้ต้องขุดลึกลงไปอีกกว่า 25 เมตรถึงจะเจอน้ำ”6
รัฐบาลบอกพวกเราว่า เรามีหน้าที่เสียสละส่งน้ำให้ปักกิ่งมีใช้อย่างพอเพียง แต่เราล่ะ“พวกเราก็ต้องการมีน้ำใช้อย่างพอเพียงเช่นกัน” ชาวมณฑลเหอเป่ยประกาศอย่างสิ้นหวังในโชคชะตา
ชาติเป็นเพียงจินตนากรรม ที่ถูกสร้างขึ้น และชาติที่ไร้ผู้คนไม่สามารถเรียกว่าเป็นชาติได้ การสร้างโครงการใหญ่ยักษ์ทั้งหลายของจีน มักอาศัยฐานคติเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งสร้างเมืองที่มีความเจริญ ทว่าเมืองดังกล่าวต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้า, ประปา ฯลฯ เมื่อคนในเมืองส่วนหนึ่งต้องมีกินมีใช้อย่างพอเพียง ทว่าทรัพยากรกลับมีจำกัด คนอีกส่วนหนึ่งในชนบท จึงต้องเสียสละไปก่อน แล้วคนชนบทถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่เรียกว่าชาติหรือไม่?
หากมองจากประสบการณ์ของรัฐไทย ปัญหาเขื่อนปากมูล ที่กลายเป็นผีตามหลอกหลอนรัฐบาลทุกสมัย อาจจะพอเป็นคำตอบให้กับจีนได้บ้างว่า คติการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามก้นฝรั่ง ที่อาศัยมาตรวัดความเจริญเพียงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อย่างเดียว นำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย เนื่องจากเป็นกรอบการมองตาบอด ที่เน้นความรุ่มรวยทางด้านวัตถุ โดยมิได้ใส่ใจต่อวิถีชีวิต, ชุมชน และพันธะเชิงจิตวิญญาณ ที่มีค่าเกินกว่าจะตีราคาออกมาเป็นตัวเงิน
จะจัดการทรัพยากรน้ำอย่างไร คนในชาติจึงจะได้ส่วนแบ่งอย่างเท่าเทียม วารีจริต “คนย่อมชนะฟ้า” หรือ “ฟ้าคนร่วมประสาน” จึงเป็นทางที่ต้องเลือก เพราะเรื่องนี้จะกลายเป็นผีตามหลอกหลอน “ชาติ และประชาชน” แม้จีโนลิมปิกจะรูดม่านปิดฉากลงแล้วก็ตาม
เอกสารอ้างอิง
[1] จากสรรพนิพนธ์ประธานเหมา บทที่ 22 http://www.marxists.org/reference/archive/mao/works/red-book/ch22.htm
[2] Chris Buckley, “The Beijing Olympic water scheme leaves farms parched,”
[http://thestar.com.my/lifestyle/story.asp?file=/2008/1/29/lifefocus/20114825&sec=lifefocus], 29 January 2008.
[3] Ibid
[4] Chris Buckley, “Beijing Olympic Water drains parched farmers,” [http://www.enn.com/wildlife/article/29488], 23 January 2008.
[5] Ibid.
[6] Ibid.