มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ณ มหานครปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 8- 24 สิงหาคมนี้ ดูเผินๆก็เป็นแค่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกธรรมดา ที่เวียนมาครบอีกครั้งเท่านั้น ทว่าหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะพบว่า ในแง่สัญลักษณ์ โอลิมปิก 2008 มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เนื่องด้วยปี 2008 เป็นช่วงครบรอบ 30 ปีของการปฏิรูปและเปิดประเทศ ตามแนวทางที่เติ้งเสี่ยวผิงวางไว้ตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนจีน กลายสภาพจาก “ขี้โรคแห่งเอเชีย” สู่ “มหาอำนาจ”
นอกจากนี้โอลิมปิก 2008 ถือเป็นโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 3 ของทวีปเอเชีย หลังจากที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในปี 1964 และ 1988 ที่ กรุงเกียวโต และกรุงโซลตามลำดับ เมื่อ 2 ชาติเพื่อนบ้านใกล้ชิด ในเอเชียบูรพา ได้อวดศักดาต่อโลกแล้ว มิพักต้องคิดเลยว่า มหาอำนาจอย่างจีนย่อมหวังผลเลิศ ประกาศศักดาต่อโลกบ้างเป็นธรรมดา
จีนไม่ได้ก้าวออกไปประกาศศักดานอกบ้านมานมนาน การก้าวออกไปครั้งสุดท้ายก็เมื่อสมัยราชวงศ์หมิงราวปีค.ศ. 1421 เมื่อเจิ้งเหอนำกองเรือมหาสมบัติ (เป่าฉวน) ออกสมุทรยาตรา ทว่าหลังจากนั้นจีนก็ได้แต่เก็บตัว เป็นยักษ์หลับอยู่ในบ้านนานกว่าครึ่งสหัสวรรษ แถมครึ่งสหัสวรรษที่ว่า โดยเฉพาะช่วงศตวรรษที่ 19-20 ก็เป็น “ศตวรรษแห่งความอัปยศ” ด้วยแผ่นดินมังกรตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิง ปรากฏกบฎหลากหลายขบวนการ ผุดราวดอกเห็ด แถมต่อมาถูกฝรั่งหัวแดง ยันญี่ปุ่นหัวดำรุกราน นับแต่สงครามฝิ่นยันสงครามจีน-ญี่ปุ่นจนแผ่นดินไร้สันติ ครั้นสิ้นอิทธิพลต่างชาติแผ่นดินจีนยังเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองภายใน จนมิสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างทรนง กระทั่งเติ้งเสี่ยวผิงเข้ามามีอำนาจ จีนจึงค่อยๆก้าวไปข้างหน้าจนประสบความสำเร็จ ครบ 30 ปีแห่งการปฏิรูปเช่นปัจจุบัน
การเปิดตัวสู่โลกภายนอกด้วยมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับจีน โอลิมปิก 2008 เป็นงานใหญ่ ที่ผิดพลาดไม่ได้ เพราะโอลิมปิกคือหน้าตาของจีน เมื่อสังคมตะวันออกอย่างจีนให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาหน้าแล้ว การเสียหน้าจึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ โอลิมปิก 2008 จึงต้องยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อประกาศศักดา “อหังการแห่งมังกรจีน” ที่พร้อมทะยานโลดแล่นบนเวทีโลก
สาสน์แอบแฝงในโอลิมปิก
นอกจากนี้โอลิมปิก 2008 ยังมีนัยสำคัญต่อการระดม ปลุกสร้างชาตินิยม เพราะความยิ่งใหญ่อลังการที่ว่า ย่อมสร้างความภูมิใจในชาติให้กับมวลชนแดนมังกร ที่มิได้ลิ้มรสความยิ่งใหญ่นานนับครึ่งสหัสวรรษ และหากมองข้ามไปอีกขั้นจะพบว่า ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นกับมวลชนมีสาสน์แอบแฝง นั่นคือการตอกย้ำความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นการตอกย้ำเพื่อย้ำเตือนว่า “ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น ที่จีนจะสามารถพลิกโฉมจาก “ศตวรรษอัปยศ” “ขี้โรคแห่งเอเชีย” สู่สถานะพญามังกรที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง”
การเลือกฤกษ์พิธีเปิดในเวลา 20.08 นาฬิกา 8 วินาที (8.08 นาฬิกาตอนกลางคืน) วันที่ 8 สิงหาคม (เดือน 8) ปี 2008 ยังสะท้อนสาสน์สำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า บัดนี้จีนมั่นใจจะก้าวไปข้างหน้าอย่างรุ่งเรือง เพราะเลข 8 เป็นเลขนำโชคในวัฒนธรรมจีน ตามความเชื่อของชาวจีน เลข 8 เป็นเลขมงคลมากที่สุด เพราะเลขแปด (ปา) ออกเสียงคล้ายกับคำว่า ‘ฟา’ ที่หมายถึง ‘เจริญรุ่งเรือง หรือร่ำรวย’ 888888 จึงหมายถึง “อภิมหาโคตรรุ่งเรือง”
หวังฉีซัน นายกเทศมนตรีมหานครปักกิ่งกล่าวว่า “หากพิธีเปิดงานสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ก็ถือว่าการจัดงานกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้สำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว” โดยทางจีนมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ เพื่อแสดงศักยภาพของตนให้ปรากฏแก่ชาวโลก ซึ่งอาจเรียกกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ได้ว่าเป็น "อภิมหาโอลิมปิก" เลยก็ว่าได้1
นอกจากนี้หนังสือพิมพ์พีเพิล เดลี่ กระบอกเสียงสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ ยัง ประโคมข่าวว่า “ครานี้เราจะแสดงความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์จีนที่มีอายุกว่า 5,000 ปี ความยิ่งใหญ่ของจีนสมัยใหม่ และจิตวิญญาณของมวลชนชาวจีน นี่คือปีที่ลูกจีนกว่า 1,300 ล้านคนรอคอยมานาน ปีที่สายตาชาวโลกจะจับจ้องมาที่จีน ปีที่ต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน พรรคคอมมิวนิสต์และชาวจีน พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า แบกรับภารกิจความสำเร็จของนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ พัฒนาสังคมนิยม ลัทธิมาร์กซ์ ณ รุ่งอรุณของศักราชใหม่ ศรัทธาอันแรงกล้าในมหกรรมโอลิมปิกจะยิ่งแข็งแกร่ง เปลวศักดิ์สิทธิ์แห่งโอลิมปิกจะฉายแสงเหนือบูรพา และความฝันถึงโอลิมปิกกว่า 100 ปีของประชาชาติจีนจะเป็นจริง”2
ในมหกรรมโอลิมปิก 2008 จีนในฐานะเจ้าภาพยังคาดหวังที่จะกวาดเหรียญทองให้มากที่สุด หากได้เป็นอันดับ 1 แล้วยิ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะ “กีฬา การเมือง และสงคราม” มีความทับซ้อนมิสามารถแยกออกจากกันได้ แม้แต่กีฬาปิงปองก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จนเกิดคำเรียกขานว่า การทูตปิงปอง (Ping-Pong diplomacy)
ซี แอล อาร์ เจมส์ (CLR James) นักประวัติศาสตร์และนักสังคมนิยมชาวตรินิแดด เคยบอกไว้ว่า กีฬาคือการต่อสู้ที่กลายเป็นพิธีกรรม เทียบได้กับสงครามในแง่ที่สามารถกระตุ้นเลือดรักชาติขึ้นมาได้ไม่แพ้กัน หรือเรียกง่ายๆว่า สงครามจำลองนั่นเอง อารมณ์รักชาติอันพลุ่งพล่านของแฟนบอลผูกพันอยู่กับความเชื่อมโยงในเชิงตำนานระหว่างทีมชาติกับ ‘เรื่องเล่าแม่บทประจำชาติ’ (national narrative) เมื่อไรก็ตามที่ต้องฟาดแข้งกับเยอรมนี แฟนบอลชาวอังกฤษเป็นต้องร้องเพลงเชียร์ประโยคนี้ทุกครั้งไปว่า “สงครามโลกสองครั้งกับเวิลด์คัพหนึ่งหน” พาดพิงถึงการที่อังกฤษเอาชนะเยอรมนีได้สองครั้งในสนามรบและหนึ่งครั้งในสนามฟุตบอลนั่นเอง3
หากไม่ชัดลองนึกย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2007 ที่ทีมฟุตบอลไทยลงเผชิญหน้า ฟาดแข้งกับทีมชาติสิงคโปร์ ในศึกเกมไทเกอร์ คัพ นัดชิง กระแสแอนตี้ “เทมาเส็ก” ทำให้บรรยากาศในสนามแทบไม่ต่างจากสงครามย่อยๆเลย
การแพ้ชนะในเกมกีฬาจึงเป็นเรื่องของความรู้สึกเกี่ยวกับคุณค่าของชาติพันธุ์ พวกพ้อง และหมู่เหล่า เป็นการปลดปล่อยความคั่งแค้นเก็บกดบางอย่างของมนุษย์ จีนจึงเล็งกวาดเหรียญทองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกวาดเหรียญทองได้อันดับหนึ่ง เขี่ยสหรัฐฯตกอันดับเจ้าเหรียญทองโอลิมปิก ยิ่งนับว่าประสบความสำเร็จ สำเร็จความใคร่ที่รอมานานเสียที
เพื่อบรรลุจุดหมายดังกล่าวจีนได้ซุ่มพัฒนาตัวเองมาเป็นระยะเวลานาน นับแต่การส่งนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1932 จากไม่ได้รับเหรียญทองสักเหรียญ ปี 1984 ที่ลอสแองเจิลลิส อู๋เสี่ยวซุน นักแม่นปืนก็นำเหรียญทองแรกจากการยิงปืนไรเฟิลระยะ 50 เมตรให้กับจีน ในปีนั้นจีนกวาด 15 เหรียญทอง หากรวมเหรียญเงินและทองแดงก็จะได้จำนวนถึง 32 เหรียญ ทำสถิติเป็นเจ้าเหรียญทองอันดับ 4 รองจาก สหรัฐฯ โรมาเนีย และเยอรมันตะวันตก โดยในปีนั้นโซเวียตมิได้เข้าร่วมการแข่งขัน4
2 ทศวรรษต่อมาเพื่อเอาชนะในสมรภูมิจำลอง จีนทุ่มงบมหาศาลพัฒนาการกีฬา จนปี 2004 ณ กรุงเอเธนส์ พญามังกรทะยานเป็นเจ้าเหรียญทองอันดับ 2 กวาด 32 เหรียญทองรองจากสหรัฐฯที่ได้ 36 เหรียญทองเท่านั้น5
สตีฟ รูช (Steve Roush) เจ้าหน้าที่คณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐฯประมาณว่า จีนทุ่มงบกว่า 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พัฒนานักกีฬาชั้นแนวหน้าช่วง 4 ปีก่อนหน้าโอลิมปิก 2008 โดยงบดังกล่าวยังไม่รวมจำนวนเงินอุดหนุนโรงเรียนกีฬา ซึ่งจีนใช้เป็นสถาบันผลิตนักกีฬาอาชีพตั้งแต่ 6 ขวบ6
หลิวหงปิน ผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬาสือซาไห่ หนึ่งในโรงเรียนกีฬากว่า 200 แห่งทั่วจีน ที่ฝึกสอนนักเรียนมากกว่า 600 คน ตั้งแต่อายุ 6 ขวบเพื่อเตรียมเป็นนักกีฬาอาชีพ เผยว่า “ตั้งแต่ปักกิ่งได้รับการประกาศให้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ในปี 2001 โรงเรียนกีฬาในปักกิ่งก็ได้รับเงินหนุนเพิ่มขึ้น 5 % ต่อปี เฉพาะปี 2006 สือซาไห่ใช้งบดำเนินการ 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเงินส่วนมากมาจากการสนับสนุนของรัฐ ที่เหลือได้จากค่าธรรมเนียมที่นักเรียนจ่าย และเงินอุดหนุนจากผู้สนับสนุน”7
“เมฆแห่งคำสัญญา”
“เมฆแห่งคำสัญญา” คบเพลิงโอลิมปิก 2008 ที่มีรูปลักษณ์คล้ายม้วนสาสน์จีนโบราณ กำลังจะคลี่ ประกาศสาสน์ที่จีนต้องการให้โลกรู้ว่า ด้วยการทุ่มเทอย่างมหาศาลของจีน โอลิมปิกจึงมีความสำคัญยิ่ง หากใครหน้าไหนกล้า ทำลายโอลิมปิก 2008 จีนก็พร้อมมีเรื่อง!
จากเมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ “เมฆแห่งคำสัญญา” จะถูกส่งต่อผ่านไปยังอีก 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึง อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่ฮ่องกง มาเก๊า และ 113 เมืองในแผ่นดินใหญ่ กระทั่งสู่จุดหมายปลายทาง ณ มหานครปักกิ่ง ในวันที่ 8 สิงหาคม เพื่อเป็นสัญญาณการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ โอลิมปิก 20088
บัดนี้ “เมฆแห่งคำสัญญา” กำลังจะเผยสาสน์ ประกาศความยิ่งใหญ่ของจีน เป็นสาสน์ที่ถูกม้วนซ่อนอยู่ภายในคบเพลิง คบเพลิงที่จะถูกส่งผ่านไปทั่วโลก เมื่อประเทศที่ครั้งหนึ่งถูกตราหน้าว่า‘ขี้โรค’ประกาศความมั่นใจผงาดสู่ ‘มหาอำนาจ’ ใครเลยจะขวางอยู่
หากใครกล้าขวางไม่ว่าหน้าไหน (จะกลุ่มสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มใดก็แล้วแต่) รับรองมีปัญหากับจีนแน่ๆ!
เอกสารอ้างอิง
[1] “โอลิมปิกฤดูร้อน 2008,” [http://th.wikipedia.org/wiki/โอลิมปิกฤดูร้อน 2008], 10 มกราคม 2551.
[2] “China rings in New Year with Olympic fervour” [http://2008.sina.com.cn/en/news/2008-01-01/14391696.html], 1 January 2008.
[3] ภัควดี วีระภาสพงษ์, "การเมือง สงคราม และสันติภาพ ในฟุตบอลโลก,"
[http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=3963&SystemModuleKey=HilightNews&System_
Session_Language=Thai] แปลจาก Tony Karon, “How to Watch the World Cup” [http://www.tomdispatch.com], 9 June 2006.
[4] Calum Macleod, “China ties Olympic gold to quest for worldwide esteem,” [http://www.usatoday.com/sports/olympics/2007-06-13-china-sports-schools-1a-cover_N.htm], 3 January 2008.
[5] Ibid.
[6] Ibid.
[7] Ibid.
[8] ผู้จัดการออนไลน์, ““เมฆแห่งคำสัญญา”คบเพลิงโอลิมปิก2008,” [http://www.manager.co.th/Sport/ViewNews.aspx?NewsID=9500000049534], 1 พฤษภาคม 2550.