xs
xsm
sm
md
lg

สินค้ามนุษย์นำเข้าจากยุโรป เทรนด์ใหม่เพื่ออุตฯ แฟชั่นจีน

เผยแพร่:   โดย: *-*

19 ตุลาคม 2007 บรรดาผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นชื่อดัง รวมตัวยึดกำแพงเมืองจีนเป็นเวทีอวดผลิตภัณฑ์ - เอเยนซี
ฤดูร้อนที่แล้ว ปีเตอร์ อู๋ เดินทางไปยังมหาวิทยาลัย น็อตติงแฮม เทรนท์ ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตนักศึกษาด้านการออกแบบแฟชั่นนามอุโฆษแห่งหนึ่งของยุโรป การเดินทางของอู๋ครั้งนี้นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการแฟชั่นจีน เนื่องจากเขาเดินทางไปเพื่อคัดเลือกนักศึกษาตะวันตกฝีมือเยี่ยมมาทำงานในจีน

หลังจากใช้เวลาในอังกฤษระยะหนึ่ง อู๋ก็นำบัณทิตจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เทรนต์ 3 คนมาทำงานที่บริษัท คัลเลอร์ กูตูร์ (Colour couture) ของเขาในเซี่ยงไฮ้ ทว่าโครงการดังกล่าวต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เนื่องจากดีไซเนอร์จากยุโรป ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพการทำงานในจีนได้ นอกจากนี้ทัศนคติที่ไม่ตรงกันระหว่างพ่อค้า กับศิลปิน ก็เป็นอีกหนึ่งปมปัญหาสำคัญ

อุตสาหกรรมสิ่งทอจีน พยายามดิ้นพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า จากการรับจ้างผลิตเป็นรับจ้างดีไซน์ และก้าวไปสู่การสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง อู๋ก็เป็นคนหนึ่งที่ริเริ่มเดินตามทางดังกล่าว แม้คัลเลอร์ กูตูร์ ของอู๋จะเป็นเพียงบริษัทผลิตเส้นด้าย ทว่าเป้าหมายของเขาไม่ได้อยู่ที่การผลิตด้ายป้อนโรงงานเท่านั้น

คัลเลอร์ กูตูร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ยูนิซัน กรุ๊ป โฮลดิ้ง (Unison Group Holding) ของฮ่องกง ต้องการสร้างชื่อให้กับตัวเองในฐานะตัวกลางระหว่างลูกค้าในอเมริกา และยุโรป ที่ประทับใจในผลิตภัณฑ์ด้ายของโรงงาน กับโรงงานสิ่งทอจีน ที่ซื้อด้ายจากบริษัท

“เมื่อบริษัทต่างชาติ พึ่งคุณมากเท่าไร คุณก็มีโอกาสเรียกเงินเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น” อู๋กล่าว พร้อมเผยกลยุทธ์ว่า ดีไซเนอร์ตะวันตกที่เขาจ้างมานั้นจะทำหน้าที่ดีไซน์แบบ ซึ่งเขาจะเอาไปเสนอให้กับลูกค้าตะวันตก เมื่อลูกค้าปลงใจทำสัญญากับบริษัท อู๋ก็จะแนะนำให้บริษัทนั้นจ้างโรงงานที่ซื้อด้ายจากอู๋ นอกจากนี้ การที่ทางบริษัทมีดีไซเนอร์ส่วนตัว ทำให้บริษัทสามารถแข่งขันกับกระแสตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญบริษัทยังสามารถรับงานดีไซน์ให้บริษัทตะวันตกตกชื่อดังเพิ่มเติม แทนที่จะรับผลิตตามคำสั่ง และแบบที่ตะวันตกดีไซน์ให้ทำตามอย่างเดียว

ปัจจุบันการแข่งขันในอุตสาหกรรมแฟชั่นจีน มาถึงระดับที่ไม่สามารถพึ่งกลยุทธ์ “ผลิตมาก ขายถูก” ได้อีกต่อไป ผู้ผลิตแต่ละแห่งจึงพยายามหาทางออกเป็นของตัวเอง ด้วยการรุกด้านดีไซน์ ทว่าดีไซเนอร์จีนมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่งคือ ดีไซเนอร์จีนออกแบบแล้วไม่ถูกใจลูกค้าตะวันตก
การประกวดออกแบบชุดชั้นในภายใต้ชื่องาน นวัตกรรมชุดชั้นใน ที่งานสัปดาห์แฟชั่นในมหานครปักกิ่ง 6 พฤศจิกายน 2007 การแข่งขันที่ดุเดือดในวงการแฟชั่นจีน ทำให้ผู้ผลิตต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และก้าวทันตลาด แม้แต่ชุดชั้นในยังต้องมีนวัตกรรม - เอเยนซี
ทางลัดฉบับสำเร็จรูปที่ได้ผลเร็วสุด คือ การนำเข้าสินค้ามนุษย์จากฝั่งตะวันตก นั่นคือ ดีไซเนอร์ฝรั่งมืออาชีพที่เติบโตในสังคมตะวันตก รู้เท่าทันรสนิยมผู้บริโภคทะลุปรุโปร่ง อย่างไรก็ตาม ทางลัดที่ว่าก็ใช่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่นายจ้างจีนเท่าไรนัก

ลอรา ฮินทซ์ หนึ่งในดีไซเนอร์ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานให้กับอู๋เผยว่า เธอต้องทำงานหนักถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน แถมที่อยู่ก็ต้องแชร์อาศัยร่วมกับเพื่อนอีก 2 คนที่เดินทางมาด้วยกันในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ แถมชีวิตนอกเวลางานยังถูกรบกวนอีกต่างหาก

เพราะพวกเธอไม่สามารพูดภาษาจีนได้ ทางบริษัทจึงจัดพนักงานขับรถพาพวกเธอไปทุกหนแห่ง ซึ่งเท่ากับว่าพวกเธอก็ต้องพร้อมถูกตามตัวได้เสมอ เนื่องจากมีพนักงานขับรถคอยตามตลอด นอกจากนี้ อู๋มักสั่งงานโดยนัดคุยที่ร้านอาหาร กวนเวลาส่วนตัว ครั้นถึงเวลาเจรจาธุรกิจกับลูกค้า อู๋ก็จะเป็นคนกลางคอยแปลบทสนทนาระหว่างลูกค้าชาวจีนกับดีไซน์เนอร์

เมื่อดีไซเนอร์ทั้ง 3 รายร่วมกันสร้างผลงานออกมาเป็นชุดคอลเลกชันเสื้อผ้า 70 ชิ้น อู๋ก็เรียกชุดคอลเลกชันนั้นว่า เป็นการดีไซน์สไตล์อังกฤษนอกรีต อย่างไรก็ตาม อู๋นำคอลเลกชันดังกล่าวเสนอให้แก่ลูกค้ารายสำคัญ เช่น เอเบอร์ครอมบี แอนด์ ฟิทช์ ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มชื่อดังของสหรัฐฯ แม้บริษัทอเมริกันไม่ได้ปลงใจทำธุรกิจกับอู๋ แต่ก็ประทับใจในการดีไซน์ของบริษัทคัลเลอร์ กูตูร์ไม่น้อย

ภาพลักษณ์ของคัลเลอร์ กูตูร์ในสายตาต่างชาติ ค่อยๆ ถูกยกระดับขึ้นมา ทว่าเมื่อมองกลับไปที่บ้านแล้ว ศึกงัดข้อระหว่างผู้บริหารกับดีไซเนอร์กลับร้อนระอุ

ฮินทซ์กล่าวว่า “ฉันต้องการใครสักคนที่สามารถกระตุ้น นำทาง เป็นแรงบันดาลใจให้กับจินตนาการของฉัน แต่ในตัวคุณอู๋ ฉันมองเห็นแต่นักธุรกิจ ที่เรียกพวกฉันไปประชุมงานในคาราโอเกะบาร์” ด้านอู๋เองก็แก้ตัวว่า “ทัศนะในเรื่องศิลปะของผมอาจไม่ตรงกับดีไซเนอร์ทั้งหมด ผมมองสิ่งต่างๆจากมุมมองด้านธุรกิจมากกว่า”

ทั้งนี้ ดีไซเนอร์จากแดนผู้ดีทั้ง 3 คนลาออกจากบริษัท หลังทำงานกับอู๋ได้เพียง 5 เดือน

อย่างไรก็ตาม อู๋กำลังดำเนินการล่าดีไซเนอร์จากตะวันตกครั้งใหม่ ซึ่งครั้งนี้อู๋หวังว่าเขาจะสามารถหาใครที่มีประสบการณ์มากขึ้น และอู๋ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหามากนัก เนื่องจาก “ใครๆ ก็อยากมาขุดทองที่จีน”




แปลและเรียบเรียงจาก

Stacy Meichtry, “China turns to Europe’s schools for fashion help,” Asian Wall Street Journal, 23 April 2008, 36.
กำลังโหลดความคิดเห็น