xs
xsm
sm
md
lg

10เล่มน่าอ่านจากหิ้งหนังสือจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเชียวีกลี่ นิตยสารชื่อดังของฮ่องกงได้รวบรวมหนังสือดีจากตลาดจีน 10 เล่มมาแนะนำ ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนในแง่มุมใหม่ๆ แล้ว ยังสะท้อนแนวคิดดีๆ ให้แก่ผู้อ่านได้เรียนรู้ตามไปอีกด้วย

1. 《知识人与中国文化的价值》 (ปัญญาชนและค่านิยมทางวัฒนธรรมจีน) โดยอี๋ว์อิงสือ (余英时) นักประวัติศาสตร์จีนซึ่งได้รับเชิญเป็นอาจารย์ในสถาบันศึกษาชื่อดังหลายแห่งของสหรัฐอเมริกัน แม้อี๋ว์อิงสือจะไม่กลับมาเหยียบแผ่นดินจีนอีก เนื่องจากเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1964 แต่กระนั้นผลงานของเขากลับได้รับการยอมรับอย่างมากในแวดวงนักวิชาการและตลาดความรู้ในประเทศ ผู้เขียนได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างปัญญาชนและค่านิยมทางวัฒนธรรมของตะวันตกและของจีน และวิเคราะห์เจาะลึกลักษณะเฉพาะของระบบค่านิยมทางวัฒนธรรมของจีน นับเป็นคำตอบที่เป็นทางสายกลางให้กับคำถามที่ว่าค่านิยมทางวัฒนธรรมของตะวันตกหรือจีนดีกว่ากันที่ถกเถียงกันมาเป็นร้อยปี

2. 《大明王朝的最后十七年》 (ทศวรรษสุดท้ายของราชวงศ์หมิง) โดยฝานซู่จื้อ (樊树志) อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น เขียนถึงความคับแค้นใจของจูโหยวเจี่ยน จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิง ที่ต้องต่อสู้กับชะตากรรมโดยร่างจำแลงของชะตากรรมที่กล่าวถึงคือขันทีเว่ยจงเสียนที่ไร้การศึกษาและเป็นอันธพาล และขบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวง แม้พระองค์จะต่อสู้ด้วยความอดทนอย่างมากเพื่อไม่ให้เว่ยจงเสียนรู้ตัวและสงสัยพระองค์ แต่การล่มสลายของราชวงศ์หมิงก็มาถึงในที่สุด ชัยชนะในการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างยากลำบากของพระองค์ แลกมาได้เพียงเสียงทอดถอนใจอย่างน่าเสียดายในประวัติศาสตร์จีนเท่านั้น

3. 《国破山河在》 (แม้ชาติล่มสลายแต่ขุนเขาและสายน้ำยังคงอยู่) โดยซ่าซู (萨苏) วิศวกรอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำงานให้กับบริษัทอเมริกันในญี่ปุ่น ใช้เวลาว่างค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น นำเรื่องราวช่วงสงครามต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นที่คนจีนไม่เคยรู้ ใช้ภาษาที่เรียบง่ายไหลลื่นแต่กินใจเรียงร้อยเป็นหนังสือน่าอ่านเล่มนี้ ในช่วงสงคราม กองกำลังจีนใช้อาวุธที่ล้าหลังต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ป่าเถื่อนและมีความพร้อมทั้งอาวุธและเสบียงอาหาร การต่อสู้หลายครั้งชาวจีนสู้จนวินาทีสุดท้าย แต่เรื่องราวของวีรบุรุษจำนวนมากกลับเลือนหายไปกับควันไฟ ขณะที่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นแม้มีเป้าหมายในการบันทึกที่ต่างกัน แต่กลับรักษาเรื่องราวของชาวจีนจำนวนมากที่ยอมพลีชีพเพื่อชาติที่ควรค่าแก่การสรรเสริญไว้ นอกจากนี้ในหนังสือเล่มนี้ยังรวบรวมภาพถ่ายที่ทางญี่ปุ่นถ่ายไว้จำนวนมาก

4. 《云山几盘江流几湾》 (ขุนเขาวกวนสายธารคดเคี้ยว) โดยจางไต้เหอ (章诒和) ลูกสาวของจางป๋อจวิน หนึ่งในผู้นำกลุ่มสนับสนุนฝ่ายขวา ได้ออกหนังสือเล่มนี้เมื่อปีที่แล้วซึ่งเป็นปีครบรอบ 50 ปีการต่อต้านฝ่ายขวา เพื่อเป็นกระจกสะท้อนแง่มุมต่างๆ ของประวัติศาสตร์ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่คดเคี้ยวไปมาก่อให้เกิดคุ้งน้ำมากมาย เนื้อหากล่าวถึงเสิ่นจวินหรู่ บุคคลแรกที่เสนอและเผยแพร่แนวคิดการเมืองระบบรัฐธรรมนูญตามลัทธิประชาธิปไตย ซึ่งในอดีตถูกต่อต้าน แต่ในปัจจุบันทั้งข้าราชการและประชาชนจีนต่างกล่าวชื่นชมประชาธิปไตย

5. 《摸著石头过河的困惑》 (ความน่ากังขาของการคลำหินข้ามแม่น้ำ) โดยหวังเสี่ยวเฉียง (王小强) นักเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการปฏิรูปโครงสร้างแห่งประเทศจีน หนังสือเล่มนี้แม้จะตอกย้ำการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน แต่ก็ชี้ให้เห็นผลเสียของการเปิดประเทศ ผู้เขียนชี้ว่าผลกำไรก้อนโตที่บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีน บริษัทเอกชน และบริษัทของรัฐได้รับนั้น ล้วนได้มาโดยการขูดรีดขูดเนื้อจากแรงงานชนบทราคาถูก ซึ่งพวกเขาไม่มีแม้ประกันสังคมและยังถูกสังคมดูถูก ผู้เขียนได้ย้ำคำถามที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า “การคลำหินข้ามแม่น้ำไม่ใช่วิธีที่ผิด แต่คำถามคือฝั่งอยู่ที่ไหน ไม่ใช่คลำไปคลำมาก็กลับมาที่เดิม”

6. 《亲爱的安德烈》 (แอนเดรียที่รัก) โดยหลงอิงไถ (龙应台) นักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงในกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก นำจดหมายที่เขียนติดต่อกับลูกชายที่ชื่อว่าแอนเดรียซึ่งเป็นลูกครึ่งจีน-เยอรมันมารวบรวมเป็นเล่ม เนื้อหาครอบคลุมถึงการพินิจพิเคราะห์ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศีลธรรมจรรยา และการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงแง่คิดมุมมองดีๆ ที่แม่มีถึงลูกชาย เช่น มีตอนหนึ่งหลงอิงไถได้เตือนลูกชายว่า หากนักอุดมคติที่สูงส่งต้องการได้รับการยอมรับ ต้องดูเมื่อเขามีอำนาจอยู่ในมือว่าสามารถผ่านบททดสอบได้หรือไม่

7. 《丧家狗》 (หมาจนตรอก) โดยหลี่หลิง (李零) อาจารย์ภาควิชาภาษาจีนแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พาผู้อ่านเข้าสู่จิตใจส่วนลึกของขงจื้อปรมาจารย์ของจีน และเข้าถึงโลกของ “หลุนอี่ว์” (论语) ที่เป็นจริงและมีชีวิต หลี่หลิงได้แจกแจงให้ผู้อ่านเห็นความเป็นคนธรรมดาของขงจื้อ ขงจื้อเป็นคนที่ชอบศึกษาตำรับตำราโบราณ และชอบสั่งสอนผู้คนเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมโบราณและสอนให้คนอ่านตำรา ขงจื้อเป็นคนมีความรู้มีศีลธรรมแต่ไม่มีอำนาจบารมีที่กล้าวิจารณ์ผู้ปกครอง ขงจื้อเป็นคนที่จำต้องเร่ร่อนตลอดเวลา รู้สึกวิตกกังวลแทนผู้ปกครอง และพยายามสุดชีวิตที่จะเปลี่ยนผู้ปกครองให้เป็นคนดี ขงจื้อยังเป็นคนไร้ที่พักพิง ต้องเร่ร่อนลำบากยากแค้น เหมือนกับสุนัขจรจัดที่ไร้บ้าน ผู้เขียนจึงเปรียบขงจื้อเป็นดอน กิโฮเต (Don Quixote)

8. 《张学良、宋子文档案大揭秘》 (เปิดแฟ้มจางเสียว์เหลียงและซ่งจื่อเหวิน) โดยหลินป๋อเหวิน (林博文) นักข่าวและนักประวัติศาสตร์ ได้พลิกค้นและชุบชีวิตเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้รับความสนใจขึ้นมาใหม่

เดือนมิถุนายนปี 2006 มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แห่งนิวยอร์ก ได้เปิดเผยแฟ้มและคำให้การของจางเสียว์เหลียง นายพลหนุ่มแห่งก๊กมินตั๋ง ผู้มีบทบาทสำคัญในกรณีซีอันปี 1936 ที่จับกุมตัวเจียงไคเช็ก ผู้นำในยุคสาธารณรัฐจีน เพื่อบีบบังคับให้ยุติการเข่นฆ่าพรรคคอมมิวนิสต์และหันมาร่วมมือกันทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น และก่อนหน้านั้นเดือนเมษายนปี 2004 มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดแห่งแคลิฟอร์เนียได้เปิดเผยแฟ้มของซ่งจื่อเหวิน พี่เขยของเจียงไคเช็ก ซึ่งคุมกระทรวงการคลังในยุคสาธารณรัฐจีนเช่นกัน ซ่งจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา มีนิสัยตรงไปตรงมา และไม่อ่อนข้อให้เจียงถึงกับเคยทะเลาะกันรุนแรงเพราะซ่งไม่เห็นด้วยที่จะให้เจียงใช้เงินจำนวนมากไปกับการทหาร

การศึกษาเรื่องราวของ 2 คนนี้ถือได้ว่าช่วยคลี่คลายความคลุมเครือของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน (1840-1919) หลินป๋อเหวิน เป็นคนกลุ่มน้อยที่ได้ศึกษาเอกสารเหล่านี้ เขาไม่เพียงวิเคราะห์เจาะลึกถึงผลกระทบเชิงลึกของประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ยังนำลักษณะเด่นของบุคคลเหล่านี้กลับคืนมา และเข้าใกล้ความเป็นจริงของบุคคลในประวัติศาสตร์เหล่านี้ นอกจากนี้ภายในหนังสือยังรวบรวมภาพถ่ายที่มีค่าไว้เกือบร้อยรูป รวมทั้งโทรเลขและจดหมายเขียนด้วยลายมือโต้ตอบกันระหว่างจางเสียว์เหลียง ซ่งจื่อเหวิน และเจียงไคเช็ก ให้ผู้อ่านได้ย้อนอดีตภาพประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่ของจีน

9. 《四代香港人》 (คนฮ่องกงสี่ยุค) โดยหลี่ว์ต้าเล่อ (吕大乐) นักสังคมวิทยาซึ่งเป็นคนฮ่องกงมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนฮ่องกง โดยแบ่งคนฮ่องกงเป็นสี่ยุค ผู้แต่งกล่าวถึงคนฮ่องกงยุคที่สองว่าเป็นกลุ่มคนที่เกิดมาในยุคเบบี้บูมหลังสงครามโลก (ปัจจุบันมีอายุราว 40-60 ปี) เติบโตมาท่ามกลางการแก่งแย่งชิงดี เห็นการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อคนกลุ่มนี้เติบโตกลายเป็นผู้นำในองค์กรและเป็นพ่อแม่ ค่านิยม “ไม่พูดเรื่องอุดมการณ์ คุยแต่เรื่องผลประโยชน์” หรือ “จำต้องพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน” ก็ยิ่งได้รับการส่งเสริม ผู้เขียนกล่าวด้วยความสำนึกเพราะตนเองก็เป็นคนยุคที่สองว่า คนยุคนี้ได้บีบให้คนอีก 2 ยุคถัดมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีทางเลือกมากนัก ไม่ว่าแนวคิดคนสี่ยุคของหลี่ต้าเล่อจะได้รับการยอมรับหรือไม่ แต่หนังสือเล่มนี้ ก็ทำให้ผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นคนฮ่องกงหรือไม่ใช่คนฮ่องกงได้เข้าใจคนฮ่องกงในอีกแง่มุมหนึ่ง

10. 《老师的十二样见面礼》 (ของขวัญต้อนรับ 12 อย่างจากคุณครู) โดยเจี่ยนเชิง (简媜) ได้แรงบันดาลใจจากของขวัญที่คุณครูให้แก่ลูกชายและนักเรียนทั้งชั้นในวันเปิดเทอม สิ่งของแต่ละอย่างไม่ใช่ของมีค่าแต่ทุกสิ่งเป็นสัญลักษณ์แทนแง่คิดดีๆ ที่ต้องการปลูกฝังให้แก่นักเรียน เช่น ไม้จิ้มฟัน-จงมองหาและพูดถึงแต่สิ่งดีๆ ของผู้อื่น กระดาษทิชชู่-เตือนให้เราช่วยซับน้ำตาให้ผู้อื่น ปากกา-ให้เขียนความปรารถนาในแต่ละวันของเราออกมา หนังยาง-จงมีความยืนหยุ่นแล้วทุกเรื่องจะลุล่วงไปได้ ยางลบ-ทุกคนทำผิดกันได้ทั้งนั้นแต่ไม่เป็นไร หมากฝรั่ง-ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้น เมื่อคุณได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ คุณจะสนุกไปกับมัน สำลีก้อน-ห้องเรียนนี้เต็มไปด้วยความอบอุ่นและการพูดคุยกันด้วยความกลมเกลียว เงินเหรียญ-จงรำลึกเสมอว่าคุณเป็นคนพิเศษและมีคุณค่า เป็นต้น จุดเด่นที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือการกระตุ้น “ความสุข” ระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และการนำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาพลิกมองในมุมที่เป็นแนวทางความคิด
กำลังโหลดความคิดเห็น