xs
xsm
sm
md
lg

จีดีพีจีนQ1ชะลอตัวในแดนแข็งแกร่ง ชี้รบ.ยังต้องใช้นยบ.คุมเข้มพิชิตเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หญิงชาวปักกิ่งกำลังเลือกซื้อผักในตลาดปักกิ่งวันที่ 16 สิงหาคม วันเดียวกับที่ทางการประกาศการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง ที่ร้อยละ10.6  แต่ปัญหาเงินเฟ้อยังท้าทายน่ากลัว
เอเจนซี—แม้ผจญพายุหิมะมหาประลัยจู่โจมในฤดูหนาว และพิษจากวิกฤตสินเชื่อโลก เศรษฐกิจไตรมาสแรกของพญามังกรก็ยังขยายตัวแข็งแกร่งอย่างน่าประหลาดใจ ที่ร้อยละ 10.6 สร้างความยินดีแก่กลุ่มนักกำหนดนโยบายโลก ที่ฝากความหวังไว้ที่ตลาดเกิดใหม่อย่างจีน ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในยามที่สหรัฐอเมริกาอยู่บนปากเหวแห่งภาวะถดถอย

หลี่ เสี่ยวเชาโฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติ (เอ็นบีเอส)แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรก เมื่อวันพุธ(16 เม.ย.) ระบุผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีระหว่างช่วงสามเดือนแรกของปี 2008 ของประเทศ ขยายตัวที่อัตราร้อยละ 10.6 ลดลงจากอัตรา 11.2 ของไตรมาสสุดท้ายในปี 2007

อย่างไรก็ตาม อัตราเติบโตที่ร้อยละ 10.6 นี้ ก็ยังนับเป็นระดับที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงื่อนไขที่จีนเผชิญได้แก่ วิกฤตพายุหิมะ และปัญหาซับไพร์มสหรัฐฯที่ก่อภาวะสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค หรือซีพีไอซึ่งเป็นปรอทชี้วัดเงินเฟ้อในไตรมาสแรก ยังสูงที่ระดับร้อยละ 8.0 หลังจากที่เงินเฟ้อในเดือนมีนาคม ขยับลงเล็กน้อย โดยเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม เท่ากับร้อยละ 8.3 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ เงินเฟ้อจีน สูงกระฉูดในรอบเกือบ 12 ปี ที่ร้อยละ 8.7

สำหรับช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เงินเฟ้อในเขตเมืองขยายตัวร้อยละ 7.8 ขณะที่เขตชนบทขยายตัวร้อยละ 8.7

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนวิตกปัญหาเงินเฟ้อมากที่สุด เพราะกลัวว่าหากราคาสินค้าสูงขึ้นๆ จะจุดชนวนความไม่พอใจทั่วประเทศ และเพิ่มความเสี่ยงความไม่สงบในสังคม โดยขณะนี้ ราคาอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนจนมากสุดนั้น ทะยานสูงถึงร้อยละ 21 ในไตรมาสแรกนี้

ด้านกลุ่มผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ผู้นำจีนยังวิตกที่จะผ่อนปรนนโยบายเศรษฐกิจ แม้กลัวเรื่องแนวโน้มการส่งออก

“ตัวเลขจีดีพี ชะลอตัวอยู่ในแดนที่แข็งแกร่ง แม้ว่าเผชิญพายุหิมะ และคุมเข้มนโยบายในไตรมาสแรกแล้วก็ตาม และนี่เอง จะเป็นเหตุผลให้รัฐบาลยังรักษานโยบายคุมเข้มต่อไปอีก” เคลวิน ลู นักเศรษฐศาสตร์แห่งสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงก์ในฮ่องกงกล่าว

ที่จริง ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของจีน ได้ก่อปฏิกิริยาในทันที โดยธนาคารกลางจีน ประกาศเพิ่มอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ อีก 0.5 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 16 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนนี้ นับเป็นการประกาศเพิ่มครั้งที่ 16 นับจากกลางปี 2006

จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศจีน (บีโอซี) ระบุว่า แรงกดดันด้านราคาจะยังกดทับอยู่ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ราคาผู้บริโภคอาจดีดตัวสูงถึงร้อยละ 8 เนื่องจากราคาสินค้าที่หน้าโรงงานแพงขึ้น บวกกับราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารโลกที่ทะยานสูง

นอกจากนี้ บีโอซีระบุว่าแรงกดดันเงินเฟ้อ ไม่ได้มาจากราคาอาหารเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับปริมาณเงินล้นเกิน โดยขณะนี้มีเงินร้อนทะลักเข้ามาในจีนไม่หยุดหย่อน

นายจู เป่าเหลียงนักเศรษฐศาสตร์ประจำศูนย์ข้อมูลแห่งรัฐ เผยว่าระหว่างไตรมาสแรก มีทุนเก็งกำไรมากกว่า 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้ามายังจีน เทียบกับปริมาณเงินร้อน 120,000 เหรียญสหรัฐ ที่ไหลเข้าจีนตลอดทั้งปีที่แล้ว

หง เหลียง และอี๋ว์ สงที่ปรึกษาประจำโกลด์แมน ซาคส์ ย้ำว่าช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่จีนจะต้องคงนโยบายคุมเข้มต่อไปเพื่อพิชิตปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารกลางจะต้องคุมเข้มสินเชื่อ ผลักดันอัตราแลกเปลี่ยนหยวนให้แข็งขึ้นเร็วกว่านี้ และยังอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกสองหนภายในปีนี้

สำหรับดัชนีเศรษฐกิจตัวหลักอย่างการลงทุนภาคสินทรัพย์ถาวร ที่สะท้อนการใช้จ่ายภาครัฐ โตร้อยละ 24.6 ในไตรมาสแรก ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรม มาตรวัดระดับความคึกคักของโรงงาน ขยายตัวร้อยละ 16.4 และยอดค้าปลีก เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6

ทั้งนี้ กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก จะทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 3 แทนที่เยอรมนีภายในปีนี้ แต่ผลผลิตต่อหัวประชากร 1,300 ล้านคน ของจีน ยังอยู่แค่ราว 2,500 เหรียญ ต่อหัว/ปี เทียบกับ ระดับ 46,000 เหรียญ ในสหรัฐฯ.
กำลังโหลดความคิดเห็น