รอยเตอร์ –ขณะที่ชาวโลกพากันตกตะลึงกับข่าวจีนปราบปรามผู้ก่อเหตุจลาจลในทิเบตอย่างรุนแรง แต่ในทัศนะของชาวจีนมากมายนั้น แทบไม่รู้สึกสงสารผู้ประท้วงชาวทิเบตเลย
บทบรรณาธิการที่ดุเดือดเผ็ดร้อนของหนังสือพิมพ์ทางการพรรคคอมมิวนิสต์ อาจสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของชาวจีนจำนวนมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
เมื่อเจ้าหน้าที่ในเขตปกครองตนเองทิเบตประกาศข่าวการจับกุมผู้ต่อต้านจีนได้หลายสิบคน ชาวจีนเชื้อสายฮั่นในกรุงปักกิ่งพากันปรบมือดีใจ
“เจ้าหน้าที่ควรกำจัดการจลาจลไม่ว่าด้วยกำลังตำรวจ หรือทหาร และนำอาชญากรตัวจริงเข้าคุก” จาง หมิง พนักงานวัย 25 ปีในกรุงปักกิ่งให้ความเห็น
“ผมไม่สงสารคนพวกนี้ซักนิด”
จางก็เหมือนชาวจีนเชื้อสายฮั่น ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศคนอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นว่าชาวทิเบตไม่มีความสุขอะไรภายใต้การปกครองของจีน
“ผมไม่คิดว่าชาวทิเบตต้องการเอกราช รัฐบาลจีนปฏิบัติต่อทิเบตอย่างดี ชาวทิเบตปกติทั่วไปน่าจะมีความสุขภายใต้การปกครองของจีน” จางกล่าว
นอกจากนั้น ประชาชนทั่วไปในจีนยังมีความเห็นตรงกันกับผู้นำของตนว่า ใครอยู่เบื้องหลังการก่อจลาจล
“โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันเชื่อว่าทะไลลามะอยู่เบื้องหลังการประท้วงครั้งนี้” แม่บ้านวัยปลดเกษียณ แซ่เกิ่ง กล่าว
“ดิฉันไม่เชื่อว่าเขาจะเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อรัฐบาลจีน”
ทั้งนี้ จีนประณามผู้นำแห่งจิตวิญญาณของทิเบตว่า นั่งวางแผนประท้วงอยู่ที่เมืองธรรมศาลาในอินเดีย ซึ่งเป็นที่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต
อย่างไรก็ตาม องค์ทะไลลามะทรงปฏิเสธข้อกล่าวหา และทรงระบุเมื่อวันพฤหัสฯ (20 มีนาคม) ว่า พระองค์ทรงพร้อมเจรจากับผู้นำจีน นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเรียกร้องให้ชาวทิเบตหลีกเลี่ยงการประท้วงที่ใช้ความรุนแรง และอาศัยอยู่ร่วมกับชาวจีน
“เขาถูกพรรคคอมมิวนิสต์ดึงลงจากเวที ตอนนี้ก็อยากจะกลับมา คนเคยมีอำนาจมากมาย ห้อมล้อมด้วยข้าทาสบริวาร แต่เดี๋ยวนี้ ไม่เหลืออะไร” นักธุรกิจวัยกลางคนจากมณฑลเหอเป่ย ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยชื่อ ให้ความเห็น
ทั้งนี้ จีนออกมาตอบโต้การจลาจลในทิเบตอย่างรวดเร็ว โดยการจลาจลปะทุขึ้นในกรุงลาซาเมื่อสัปดาห์ก่อน จากนั้น ลุกลามไปยังมณฑลใกล้เคียง และจีนได้ส่งกำลังทหารเข้าไปในทันที พร้อมกับกันนักข่าวออกจากพื้นที่
ด้านรัฐบาลชาติตะวันตก ซึ่งมีความเห็นอกเห็นใจองค์ทะไลลามะ โดยในส่วนของอังกฤษนั้น นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ จะพบปะกับองค์ทะไลลามะ ระหว่างการเสด็จเยือนอังกฤษในเดือนพฤษภาคมนี้ แผนการดังกล่าวเพิ่งประกาศเมื่อวันพุธ ( 19 มีนาคม) ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งแก่จีน
ชาวจีนยังมีการตั้งข้อสังเกตการลุกฮือประท้วง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าจะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งเพียง 4 เดือน
“คนพวกนี้ทำไปได้อย่างไร ทั้งที่จะมีการแข่งขันโอลิมปิก?” สตรีวัยกลางคนแซ่หลี่
ใส่อารมณ์ ขณะปัดเพื่อนให้ออกไปห่าง ๆ หลังจากเพื่อนเตือนไม่ให้เธอแสดงความเห็น
“เขาควรจะนึกถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมืองนะ”