xs
xsm
sm
md
lg

จีนยังคุมเข้มระวังศึกวุ่นวายทิเบต ทะไลลามะ-หนุ่มสาวทิเบตแตกคอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี –จีนย้ำใช้มาตรการเข้มงวดรับมือสถานการณ์ตึงเครียดในทิเบต ฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตเริ่มแตกคอกันเอง ทะไลลามะโดนจวกยับ ชี้ 3 ผู้นำจีน คีย์แมนสำคัญออกค่ำสั่งปราบจลาจล

เมื่อวันจันทร์ (17 มี.ค.) สำนักข่าวเอพีรายงานยืนยันว่า เมื่อวันอาทิตย์ สถานการณ์จลาจลในทิเบตได้ลุกลามไปยังมณฑลใกล้เคียงคือ ซื่อชวน (เสฉวน), ชิงไห่ และกันซู่ โดยชาวทิเบตในมณฑลดังกล่าวได้ก่อเหตุต่อต้าน จนเจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังเข้าปราบปราม เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต

ทางการจีนได้ระดมกำลังเข้าปราบปรามเหตุจลาจลในทิเบต พร้อมทั้งประกาศสงครามประชาชน ขีดเส้นตายยุติการก่อความไม่สงบภายในเที่ยงคืนวันจันทร์ มิฉะนั้นจะใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาด

ด้านผู้ว่าการเขตปกครองตนเองทิเบต เชียงบา ปันค็อก กล่าวปฏิเสธว่า มิได้มีการใช้อาวุธหนัก นอกจากนี้เจ้าหน้าก็มิได้เปิดฉากยิงใส่ฝูงชน พร้อมกันนี้ผู้ว่าการทิเบตยังกล่าวว่า “มีผู้บริสุทธิเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 13 ราย หากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวสำนึกผิด มอบตัวภายในเที่ยงคืนวันนี้ (17) เราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างละมุนละม่อม อย่างไรก็ตามพวกเขามีสิทธิถูกลงโทษด้วยการส่งไปรับการศึกษาใหม่ในค่ายแรงงาน ส่วนคนอื่นๆที่ไม่มอบตัวจะเจอโทษทัณฑ์ที่หนักหน่วง”

นอกจากนี้สถานีวิทยุซี.อาร์.ไอ. ปักกิ่ง (China Radio International) ซึ่งกระจายเสียงเป็นภาษาต่างๆรวมทั้งภาษาไทย ได้ออกรายงานข่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเขตปกครองตนเองทิเบตได้ใช้มาตรการเข้าจัดการกับสถานการณ์จลาจลอย่างมีประสิทธิผลและเหมาะสมตามกฎหมาย โดยได้รักษาเสถียรภาพของสังคม รวมถึงศักดิ์ศรีแห่งกฎหมาย และผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ขณะนี้ สถานการณ์ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติในขั้นต้นแล้ว

อย่างไรก็ตามเอเอฟพีรายงานอ้าง แถลงการณ์รัฐสภาทิเบตพลัดถิ่นในธรรมศาลาว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวหลายร้อยราย โดยองค์ทะไล ลามะได้ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลจีน ทว่าพระองค์ยังคงสนับสนุนให้จีนเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกต่อไป ทำให้ผู้นำสภาเยาวชนทิเบต (Tibetan Youth Congress) ออกมากล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางสายกลาง สันติวิธีของทะไล ลามะ นับเป็นการเผยให้เห็นความแตกแยกระหว่าง ชาวทิเบตที่เคลื่อนไหวเพื่อเอกราช และอิสรภาพทางวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน

“ผมไม่เห็นด้วยกับวิถีทางขององค์ทะไล ลามะ หลังจาก 6 ปีที่เราทนเจรจากับจีน ไม่มีอะไรคืบหน้า ชาวทิเบตรู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน แนวทางขององค์ทะไล ลามะควรถูกนำมาทบทวน” เซวัง ริกซิน ประธานสภาเยาวชนทิเบตเผย

ทั้งนี้เหตุรุนแรงในทิเบตได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น โดยกิจการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทิเบตมูลค่าหุ้นลดลง เมื่อเปิดตลาดเช้าวันจันทร์หุ้นของบริษัทท่องเที่ยว ทิเบต เซิ่งตี้มูลค่าร่วงราว 10% เหลือ 13.80 หยวน ขณะที่หุ้นเทคโนโลยี ทิเบต แกแล็คซี ร่วงลง 8.52% เหลือ 9.13 หยวน เป็นต้น

เผยแกนนำผู้ออกคำสั่งปราบเด็ดขาด

ทางสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานบทวิเคราะห์ว่า มีผู้นำระดับสูง 3 คนเป็นผู้ออกคำสั่งปราบอย่างเด็ดขาด ถึงขั้นประกาศสงครามประชาชน

รอยเตอร์อ้างว่าแม้ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา มิได้ออกหน้าในเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเป็นทางการ แต่ด้วยประสบการณ์ของหู ที่คลุกคลีและเติบโตมากับทิเบต หูน่าจะเป็นหนึ่งในผู้ออกความเห็นให้ใช้กำลังอย่างมิต้องสงสัย โดยในปี 1988 -1992 ระหว่างที่หูดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเขตปกครองตนเองทิเบต หูเคยสั่งใช้กำลังปราบปรามการประท้วงของชาวทิเบตในปี 1988-1989 อย่างเด็ดขาด จนเข้าตาผู้นำอย่างเติ้ง เสี่ยวผิง หูเพิ่งพูดกับสมาชิกทิเบตในรัฐสภาในเดือนนี้ ว่า “เสถียรภาพในทิเบต มีส่วนอย่างสำคัญต่อเสถียรภาพดินแดนจีนทั้งหมด”

นอกจากนี้ โจว หย่งคังอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพิทักษ์สันติราษฏร์ ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงพิทักษ์สันติระหว่างปี 2002 -2007 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในมุขมนตรี และคณะกรรมการประจำกรมการเมืององค์กรสูงสุดของพรรคฯ โจวเป็นอีกผู้หนึ่งที่ตัดสินใจใช้กำลังปราบอย่างเด็ดขาด ด้วยโจวมักเลือกใช้แนวทางที่แข็งกร้าว กับความพยายามแบ่งแยกดินแดนของชนชาติต่างๆ

ท้ายที่สุดคือจาง ชิ่งหลี เลขาธิการพรรคฯ เขตปกครองตนเองทิเบตคนปัจจุบัน ซึ่งเข้ามาคุมทิเบตในปี 2005 ก่อนหน้านี้จางอยู่ในเขตล่อแหลมต่อการเกิดศึกวุ่ยวายชนชาติส่วนน้อย เขาเติบโตมากับ บริษัทซินเจียง โปรดักชั่น แอนด์ คอนสตรัคชั่น คอร์ป ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งทหารของรัฐ ที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงในซินเจียงด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เมื่อเข้ามาบริหารทิเบต จางได้ใช้มาตรการที่แข็งกร้าวสยบความวุ่นวายในพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น