xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเบื้องหลังเจรจาจีน-ทิเบต สัญญาณแง่บวก ที่ต้องจับตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวทิเบตในอินเดียที่กำลังเดินขบวนเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยทิเบต และบอยคอตโอลิมปิกปักกิ่ง
เอเยนซี – หลังการเจรจาระหว่างผู้แทนจากจีนและผู้แทนขององค์ทะไล ลามะ ผ่านพ้นไปเมื่อวันอาทิตย์ (4 พ.ค.) กระทั่งมาปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันจันทร์ แม้ดูเหมือนว่าการเจรจาครั้งนี้อาจไม่มีอะไรคืบหน้านัก ทว่าหากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่า ท่าทีของจีนเปลี่ยนไป

สำหรับการเจรจาระหว่างผู้แทนของทั้ง 2 ฝ่ายตั้งแต่ปี 2002 ผ่านมาแล้ว 6 ครั้งไม่เคยปรากฏเป็นข่าวบนหน้าสื่อจีน ทว่าการเจรจาครั้งล่าสุดกลับปรากฏเป็นข่าวบนหน้าสื่อจีนเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นสัญญาณแง่บวกสำหรับหลายฝ่าย

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ที่ทำการสังเกตการใช้ถ้อยคำ และท่าที่ของฝ่ายจีนยังชี้ว่าการใช้ภาษาและท่าทีเปลี่ยนไป เริ่มด้วยการที่ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาออกมาให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนที่จะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในวันอังคาร โดยระบุว่า “หวังว่าการหารือในครั้งนี้ จะสามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ในด้านบวก” ซึ่งประโยค “ผลลัพธ์ในด้านบวก” นี้ทางประธานาธิบดีหู จิ่นเทาไม่เคยพูดถึงมาก่อน และครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรก ที่ฝ่ายจีนกล่าวถึงทิศทางที่ดี นอกจากนี้ภาษาที่สื่อของทางการใช้รายงานข่าวยังใช้คำว่า “กลุ่มทะไล ลามะ” แทนที่การใช้คำว่า “พวกทะไล ลามะ” และ “พวกแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งเป็นภาษาในเชิงลบที่ถูกใช้ก่อนหน้านี้อย่างแพร่หลาย

รายงานข่าวเมื่อวันจันทร์จะระบุว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเปิดประตูเจรจาต่อ แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าเมื่อใด หลังจากการเจรจาที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองในทิเบตได้

แม้บางฝ่ายอาจมองว่า การเจรจาครั้งนี้ เป็นเพียงความพยายามเพื่อกู้ชื่อเสียง เอาตัวรอดก่อนมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โดยเฉพาะเมื่อการเจรจาดังกล่าวถูกจัดขึ้นก่อนหน้าการเดินทางเยือนญี่ปุ่น ของประธานาธิบดีหู จิ่นเทาไม่กี่วัน ทว่าเมื่อมองจากสัญญาณแง่บวกต่างๆ ที่ถูกส่งออกมาจากทางฝ่ายจีนแล้ว แสงแห่งความหวังที่ริบหรี่จึงส่องประกาย เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยนี้ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างไรก็ตามนักการทูตตะวันตกรายหนึ่งเตือนว่า อย่างเพิ่งด่วนสรุปเร็วนัก “แน่นอนว่า พวกเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อยากให้จีนใช้แนวทางประนีประนอมมากขึ้น ทว่าคุณก็ต้องชั่งน้ำหนักเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตด้วย ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจีนไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า หรือเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้สักนิด” นักการทูตอาวุโสรายหนึ่งกล่าว

ที่จริงแล้วองค์ทะไล ลามะเพียงต้องการให้ทิเบตมีอำนาจเป็นเพียงเขตปกครองตนเอง ที่มีอิสระระดับหนึ่ง แต่ยังคงอยู่ใต้อธิปไตยจีน อย่างไรก็ตามข้อตกลงที่ทำให้ฝ่ายจีนรับไม่ได้คือ เขตปกครองตนเองทิเบตนั้น ต้องมีอาณาเขตรวมถึงพื้นที่บางส่วนในมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน), ชิงไห่, ซื่อชวน (เสฉวน) และกันซู่ ซึ่งมีชาวทิเบตอาศัยอยู่ การขีดเส้นแบ่งดินแดนใหม่นี้ จะทำให้จีนต้องเสียพื้นที่รวมแล้วราว ¼ ของพื้นที่ประเทศ แบ่งไปให้เขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งเป็นเรื่องที่ปักกิ่งรับไม่ได้ เพราะอาจนำไปสู่กระแสคลั่งชาติโจมตีปักกิ่งว่าอ่อนแอเกินไป

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องชาวฮั่นจำนวนมากที่เข้าไปอาศัยอยู่ในทิเบต รวมทั้งการตั้งฐานทัพในบริเวณดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ต้องมีการเจรจาต่อไปอีกยาว

ทางด้านฝ่ายจีนเองก็เผชิญปัญหาภายในที่ทำให้ไม่สามารถเจรจากับทะไล ลามะได้เต็มที่ เพราะที่ผ่านมาสื่อรัฐรายงานป้ายสีให้ทะไล ลามะเป็นปีศาจ ไร้เหตุผล ฉะนั้นการทำให้มติมหาชนจีนเชื่อว่าทะไล ลามะเป็นบุคคลที่สามารถเจรจาพูดคุยได้จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

หวง จิง นักวิชาการรับเชิญ ของสถาบันเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ชี้ว่า ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นเรื่องแก้ไขยาก คือปัญหาเชิงสถาบัน เจ้าหน้าที่จำนวนมากซึ่งทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับปัญหาทิเบตอาทิ เจ้าหน้าที่ในฝ่ายการแนวร่วมกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน, กระทรวงพิทักษ์สันติราษฏร์, กระทรวงการต่างประเทศ, ฝ่ายการศาสนา, พรรคคอมมิวนิสต์ทิเบต, ฝ่ายกิจการชนชาติส่วนน้อย พวกเขาใช้เวลาทั้งชีวิตจมอยู่กับการต่อสู้เพื่อป้องกันการแบ่งแยกดินแดน พวกเขาคิดไม่ออกหรอกว่า จะมีหนทางอื่นที่ดีกว่าไม้แข็ง นอกจากนี้ถ้านโยบายเปลี่ยนไปพวกเขาก็กังวลว่า ตนเองอาจจะต้องตกงาน “ฉะนั้นหน่วยงานทั้งหมดที่ดูแลเรื่องทิเบตจึงมีจุดยืนต่อต้านแนวทางประนีประนอม” หวงกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น