ผู้จัดการออนไลน์ - นายกฯ เวิน เจียเป่า ลั่น มีหลักฐานพิสูจน์กลุ่มหนุนทะไล ลามะ อยู่เบื้องหลังการประท้วงเดือดต่อต้านการปกครองจีนในทิเบต พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำพลัดถิ่นของทิเบตออกมาประกาศเลิกความฝันแยกดินแดนหลังคาโลกเป็นอิสระ
เช้าวันนี้ (18 มี.ค.) เวิน เจียเป่า ที่เพิ่งได้รับเลือกจากสภาผู้แทนประชาชนจีนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คู่บารมีหู จิ่นเทา อีกสมัย ได้ออกมาแถลงข่าวต่อกรณีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่กรุงลาซาของทิเบตเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า “ตอนนี้เรามีหลักฐานมากมายที่ชี้ชัดว่า เหตุการณ์ประท้วงครั้งนี้ถูกชักใยโดยกลุ่มผู้สนับสนุน ทะไล ลามะ ผู้นำพลัดถิ่นของทิเบต และเป็นแผนการที่มีการไตร่ตรองและวางแผนมาล่วงหน้าอย่างรัดกุม” แต่ทางทะไล ลามะเองก็ได้ออกมาปฏิเสธก่อนหน้านี้ว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการก่อประท้วงครั้งนี้
ผู้นำจีนกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทะไล ลามะ แสดงตนว่าเป็นผู้ใฝ่สันติ และไม่ต้องการแยกทิเบตออกมาเป็นอิสระ เพียงต้องการสิทธิปกครองตนเองเท่านั้น แต่การประท้วงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในทิเบต และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศจีนโดยชาวทิเบตนั้น ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามันตรงข้ามกับสิ่งที่ทะไล ลามะแสดงออกมา
ตรงข้ามกับคำพูดของ บูชุง เซริง ตัวแทนเจรจาของทะไล ลามะ ในการหารือแก้ปํญหาประเด็นจีน-ทิเบตครั้งที่ 6 กับรัฐบาลปักกิ่งเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ที่กล่าวว่า ตลอดมาทะไล ลามะ ทรงแสดงจุดยืนว่าต้องการเพียงแค่สิทธิในการปกครองตนเองเท่านั้น และพระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามนั้นตลอดมา แต่ทางฝ่ายจีนกลับทำตรงกันข้าม พร้อมกล่าวว่า จีนควรตระหนักว่า ปัญหาเรื่องทิเบตนั้นสามารถแก้ไขได้ผ่านการเจรจาเท่านั้นไม่ใช่การใช้กำลัง
“หากผู้นำจีนห่วงสวัสดิภาพของชาวทิเบตอย่างจริงใจ จีนก็จะต้องมาคุยกันเพื่อหาทางแก้”
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 มี.ค.) เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของชาวทิเบตในกรุงลาซาเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อผู้ประท้วงจุดไฟเผาร้านค้าและบ้านเรือนของชาวจีน พร้อมทั้งขว้างปาก้อนหินใส่รถตำรวจ จนกระทั่งเหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดแตกหัก เมื่อทางการจีนตัดสินใจใช้กำลังสลายการชุมนุม ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ทางการจีนระบุมีผู้เสียชีวิต 13 ราย ขณะที่รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดียระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ราว 100 ราย หรืออาจมากกว่า 100 ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายจีนได้ออกมาปฏิเสธข่าวการใช้อาวุธร้ายแรงสลายการชุมนุม อันเป็นเหตุให้มีผู้บริสุทธิ์ถูกเผาและยิงเสียชีวิตนับสิบ พร้อมกล่าวว่าพลเรือนที่เสียชีวิตจากเหตุประท้วงนั้น เป็นฝีมือของกลุ่มผู้ประท้วงเอง และว่าจะคุยกะผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตต่อเมื่อทะไล ลามะเลิกล้มความคิดแยกตัวเป็นอิสระเท่านั้น
พร้อมกันนี้ เวินยังยืนยันว่าเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ไม่ควรถูกนำมาโยงเป็นประเด็นการเมือง เพราะผู้ประท้วงมีจุดประสงค์เพื่อต้องการบ่อนทำลายโอลิมปิกปักกิ่งที่จีนเป็นเจ้าภาพมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการยุโรปแม้ว่าจะแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในลาซา แต่ก็คัดค้านการบอยค็อตโอลิมปิกปักกิ่ง โดยโฆษกหญิงแห่งคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า “เรารู้สึกกังวลต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทิเบตเป็นอย่างมาก แต่สำหรับเรื่องโอลิมปิกแล้ว เราเห็นว่า การบอยค็อตไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสม”
ด้านบัน กีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงด้วยความอดทนอดกลั้น และหลีกเลี่ยงการปะทะและความรุนแรง เช่นเดียวกับอินเดีย ที่ต้องการให้จีนแสวงหาทางแก้ไขอย่างสันติ ขณะที่ทางการอังกฤษแสดงความคิดเห็นว่า ภาพลักษณ์การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของจีนอาจถูกทำลาย หากปัญหาในทิเบตทวีความรุนแรงมากขึ้น