xs
xsm
sm
md
lg

“ทะไล ลามะ”ลั่นสละบัลลังก์หากทิเบตยังเดือด ชี้เหยื่อม็อบดับอีก 19 -กลุ่มประท้วงลามทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้นำจีนประกาศ สถานการณ์ม็อบทิเบตในกรุงลาซาสงบแล้ว แต่กระแสประท้วงนอกทิเบตและต่างประเทศยังระอุ รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นเผยมีผู้ประท้วงชาวทิเบตในมณฑลกันซู่ถูกยิงเสียชีวิต 19 รายเช้าวันนี้ ด้านทะไล ลามะลั่นไม่คิดแยกทิเบตออกจากจีน และพร้อมออกจากตำแหน่งหากความไม่สงบในทิเบตยังรุนแรงขึ้น ฟากต่างชาติทยอยออกมาแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อ ชาติตะวันตกไม่กล้าแทรกแซง เพราะหวั่นกระทบการค้ากับจีน

นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าของจีนออกมาประกาศเมื่อวันนี้ (18 มี.ค.) ว่า สถานการณ์ในกรุงลาซาของทิเบตกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตามดูเหมือนม็อบทิเบตจะไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ภายในประเทศจีนเท่านั้นเสียแล้ว เพราะมีข่าวว่าชาวทิเบต ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย เนปาล อินเดีย ได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้จีนยุติเหตุการณ์รุนแรงในทิเบต

ขณะเดียวกันรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นเผย เมื่อเช้าวันนี้ได้เกิดเหตุผู้ประท้วงชาวทิเบต 19 รายใน “หม่าชีว์” พื้นที่ปกครองตนเองชนชาติทิเบต ในมณฑลกันซู่ ถูกยิงเสียชีวิต ส่งให้ยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ประท้วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 99 ราย

วันเดียวกัน ทะไล ลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณของทิเบตได้เรียกร้องสันติภาพในดินแดนหลังคาโลก พร้อมตรัสว่าทรงต้องการปรับความเข้าใจกับจีน ทั้งยังย้ำว่าไม่ได้ต้องการแยกทิเบตออกจากการปกครองของรัฐบาลปักกิ่ง และประกาศพร้อมสละบัลลังก์ผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นหากความไม่สงบในทิเบตรุนแรงขึ้น
       
แม้ว่านานาชาติจะออกมาแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่อีเบอร์ฮาร์ด แซนชไนเดอร์ นักวิจัยจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งเยอรมนีมองว่า “ชาติตะวันตกเคลื่อนไหวต่อประเด็นที่จีนใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในทิเบตน้อยมาก เนื่องจากจีนมองว่านี่เป็นเรื่องภายใน และใครก็ตามที่พร้อมจะสอดขาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของจีน ก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่จะตามมาด้วย”

“หนทางเดียวที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้คือ การคุยกับรัฐบาลจีนให้พยายามหาทางแก้ปัญหานี้” แซนชไนเดอร์กล่าว พร้อมเตือนว่า มีพื้นที่น้อยนิดให้ต่างชาติแทรกตัวเข้าไปได้

แม้ว่ายุโรปกับสหรัฐฯ จะเปิดประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกับรัฐบาลปักกิ่ง แต่พวกเขาก็ยังต้องคำนึงถึงธุรกิจนับพันล้านที่ลงทุนในจีนด้วย ดังเช่นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นิโคลาส์ ซาร์โกซี่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเดินทางเยือนจีน พร้อมลงนามสัญญา 20,000 ล้านยูโร (31,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) กับจีน เช่นเดียวกับกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่สัญญาเพิ่มการลงทุนระหว่างจีน-อังกฤษเป็น 50% ภายในปี 2010

การทำสัญญาการค้ากับจีนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชาติตะวันตก ซึ่งที่ผ่านมาขาดดุลการค้าอย่างหนักกับจีน เฉพาะสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วก็ขาดดุลการค้ากับจีนไปมากถึง 256.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.2%



กำลังโหลดความคิดเห็น