xs
xsm
sm
md
lg

หากกล่าวหาพญามังกรคือภัยร้าย กรงเล็บอินทรีน่าสะดุ้งกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเชียไทมส์ – การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของจีน ปรากฎการณ์อันเหนือความคาดฝันนั้น ก่อคำถามขึ้นว่า เดี๋ยวนี้ จีนคือภัยคุกคามความมั่นคงของอภิมหาอำนาจสหรัฐฯในด้านเศรษฐกิจ ,การทหาร หรือทั้งสองด้านใช่หรือไม่?

คำตอบด้านเศรษฐกิจไม่ชัดเจนเท่าด้านการทหาร เพราะอย่างน้อย ๆ ส่วนหนึ่งนั้น มันสุดแล้วแต่จะว่ากันไปตามการทึกทักของพวกชาตินิยมจ๋า ซึ่งมองว่า อะไรก็ตาม ที่มีแนวโน้มจะท้าทายอำนาจการครอบงำทางเศรษฐกิจในโลกของสหรัฐฯแล้ว นั่นคือตัวอันตราย

จีนกำลังคุกคามความมั่นคงทางทหารของสหรัฐฯ หรือเปล่า? คำตอบก็คือไม่ แม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีหนังสือเกี่ยวกับแสนยานุภาพของกองทัพจีนออกมาหลายเล่ม เช่น Imagined Enemies: China Prepares for Uncertain War,แต่งโดยJohn Wilson LewisและXue Litai หรือ Showdown: Why China Wants War with the United States แต่งโดยJed Babbin และEdward Timperlake  แต่หนังสือเหล่านั้น รวมทั้งเรื่องแต่งทำนองเดียวกันอีกมากมายล้วนมีน้ำเสียงของกระต่ายตื่นตูม และขาดแคลนข้อเท็จจริงมาสนับสนุน

แค่เทียบจำนวน กองทัพจีนก็ถูกเคี้ยว
จีนเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นตัวเลข 2 หลักในช่วง 3 ปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในด้านการพัฒนาข้อมูล, อาวุธ และระบบการคมนาคมสื่อสาร ขณะเดียวกัน ยังลดกำลังพล ลงเกือบครึ่งหนึ่ง นอกจากนั้น ประมาณการณ์รายจ่ายของกองทัพจีนปี 2549 อยู่ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแค่ราวร้อยละ 7 ของงบประมาณกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งรวมสงครามอิรักและอัฟกานิสถานเข้าไปด้วย แม้ไม่บวกสงครามทั้งสอง งบประมาณกลาโหมของสหรัฐฯ ในขณะนี้ ก็ยังมากกว่าชาติอื่นทั้งหมดรวมกัน

เกือบแน่นอนว่า จีนใช้จ่ายสูงกว่าการประมาณการณ์ปี 2549 แต่ถึงจะเพิ่มรายจ่ายอีก 2 เท่าคือ70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ยังไม่ถึงร้อยละ 15 ของงบประมาณกลาโหมทั้งหมดของพี่กันอยู่ดี แถมยังน้อยกว่าเงินที่ลงไปในอิรักและอัฟกานิสถานเฉพาะเมื่อปีที่แล้วเสียอีก

หันมาดูกองกำลังภาคพื้นดินกันบ้าง กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมีกำลังพลปฎิบัติหน้าที่ 2 ล้าน 3 แสนนาย ส่วนสหรัฐฯ มี 1 ล้าน 4 แสนนาย ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 4 ของจำนวนประชากร จีนยังมีทหารกองหนุนอีก 1 ล้านนาย ซึ่งมีภารกิจหนึ่งคือลาดตระเวนตามแนวพรมแดนติดกับอินเดียกับรัสเซีย เป็นระยะทางไกลกว่า 8,000 ไมล์ ขณะที่สหรัฐฯ ไม่ต้องลาดตระเวนตามแนวพรมแดนที่ติดกับแคนาดาและเม็กซิโก นอกจากนั้น กองทหารสหรัฐฯยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ดีกว่าฝ่ายจีนมากมายนัก

ด้านขีดความสามารถกองทัพอากาศล่ะ! เมื่อเทียบรุ่นกันแล้ว พญามังกรจะกลายสภาพเป็นแค่มังกือตัวหนึ่งในชั่วพริบตา ไม่ว่าในเชิงป้องกัน หรือการรุกราน

เครื่องบินหลายลำในกองทัพอากาศจีนเป็นรุ่นเก๋ากึ้ก อายุกว่า 40 ปี ถึงจะข่มขู่ไต้หวันได้ ทว่าก็มิควรประมาทกองทัพอากาศอันทันสมัยของอีกฝ่าย

แสนยานุภาพทางทะเล

กองทัพเรือเป็นห่วงโซ่ทางการทหารที่อ่อนแอที่สุดของจีน ทุกวันนี้ จีนไม่มีกองเรือสำหรับปฏิบัติภารกิจในมหาสมุทรเปิด

ปัจจุบัน มีเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ปฏิบัติการณ์ในโลกทั้งหมด 21 ลำ โดย 12 ลำเป็นของอเมริกา รวมพื้นที่สำหรับเครื่องบินลงจอดทั้งสิ้น 187.5ไร่ ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินที่เหลือมีลานจอดรวมกัน37.5ไร่ และไม่มีลำใดเป็นของจีนเลย ฉะนั้น เขี้ยวเล็บทางทะเลระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จึงเท่ากับ 12 ต่อ 0 ส่วนขุมกำลังเรือดำน้ำนั้น ภาพคล้ายคลึงกัน

บทความใน Atlantic Monthlyเมื่อปี 2548 โรเบิร์ต แคพแลน เตือนไว้น่ากลัวมากว่า “ตะวันออกกลางเป็นแค่ปัญหาจิ๊บจ๊อย การแข่งขันแสนยานุภาพทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเป็นสิ่งกำหนดศตวรรษที่ 21 และจีนจะเป็นปรปักษ์ที่น่าครั่นคร้ามยิ่งกว่าที่รัสเซียเคยเป็น”

เขาข้อเท็จจริงที่ว่า “จีนกำลังลงทุนด้านเรือดำน้ำทั้งเรือดำน้ำพลังดีเซล และพลังนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนว่า จีนไม่เพียงแต่ต้องการป้องกันชายฝั่งทะเลของตนเท่านั้น แต่ยังต้องการขยายอิทธิพลไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย”

แต่มันจะเป็นไปได้จริงหรือ?

ประการแรกนั้น การขยายอิทธิพล จีนคงจะต้องฟันฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะเหลียวไปทางไหนในแปซิฟิก จะเห็นแสนยานุภาพของสหรัฐฯ ทะมึนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกองทหารอเมริกัน 18,000 นายในอะลาสก้า 60,000 นายในฮาวาย 37,000 นายในญี่ปุ่น 5,000 นายในกวม และ30,000 นายในเกาหลีใต้ โดยปัจจุบัน สหรัฐฯ มีฐานกำลังทางทหารในต่างแดนมากกว่า 700 แห่ง ขณะที่จีนไม่มีสักแห่ง
การคาดคะเนของแคพแลนอิงข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบัน จีนมีเรือดำน้ำอยู่แล้ว 55 ลำ และกำลังก่อสร้างอีกจำนวนหนึ่ง

ทว่าเรือดำน้ำ 50 ลำในจำนวนนี้ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงดีเซล พอสองสามวันที ก็ต้องโผล่เหนือผิวน้ำ หรือใกล้ผิวน้ำ เพื่อเติมอ็อกซิเจน ทำให้ถูกดาวเทียมจารกรรมสหรัฐฯ ตรวจจับ หรือถูกทำลายได้ง่ายกว่าเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ นอกจากนั้น ยังไม่อาจตั้งรับการทะลุทะลวงจากเทคโนโลยีล้ำสมัยของอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลกไปได้ ดังนั้น หากพิจารณาในแง่การสกัดกั้น จึงไม่น่าประหลาดใจ ที่จีนจะต้องแสวงหาเรือดำน้ำนิวเคลียร์เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ 5 ลำ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันชายฝั่งอยู่ในเวลานี้

ฝ่ายสหรัฐฯ นั้นเล่าก็มีเรือดำน้ำทั้งสิ้น 72 ลำ ล้วนแล้วแต่ใช้พลังนิวเคลียร์ แถมยังกำลังต่อในอู่อีกหลายลำ มีเรือพิฆาตชั้นเวอร์จิเนียรวมอยู่ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรือที่ออกแบบมาสำหรับภารกิจป้องกันบางทีสิ่งที่จีนควรพรั่นพรึงมากที่สุดน่าจะเป็นขีดความสามารถใต้น้ำของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งกองเรือดำน้ำทางยุทธศาสตร์ถึง 2 ใน 3 ของสหรัฐฯ ตรึงกำลังไว้

“เรือดำน้ำเหล่านี้อย่างน้อย ๆ 2 ลำอยู่ในภาวะเฝ้าระวังตลอดเวลา พร้อมยิงขีปนาวุธภายใน 15 นาที หลังได้รับคำสั่ง” ไคร์ ลีเบอร์ และดาริล เพรสส์ เขียน

“เรือดำน้ำแต่ละลำบรรทุกขีปนาวุธ 24 ลูก ซึ่งติดหัวรบนิวเคลียร์ ขีปนาวุธลูกหนึ่งมีหัวรบเฉลี่ย 6 หัวรบ ฉะนั้น พวกผู้บังคับการเรือจึงมีหัวรบเกือบถึง 300 หัวรบ พร้อมจะงัดมาใช้ได้ทันที มากเกินพอสำหรับระดมยิงถล่มคลังขีปนาวุธ ซึ่งมีทั้งหมด 18 แห่งของจีน ซึ่งผู้นำจีนอาจไม่ทราบการเตือนการโจมตี หรือทราบน้อยเต็มที”

ประการสุดท้าย จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ 100-400 หัวรบ แต่ที่สามารถยิงไกลถึงสหรัฐฯ มีอยู่ในคลังแสงที่ว่าเท่านั้น ซึ่งปฏิบัติการไม่ว่องไว นอกจากนั้น อาจถูกทำลายง่ายๆเว้นเสียแต่จะเป็นฝ่ายจู่โจมก่อน ขณะที่สหรัฐฯ ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์เกือบ 10,000 หัวรบ อาวุธประลัยกัลป์เหล่านี้สามารถทำลายล้างเมือง ที่มีผู้คนอาศัยตั้งแต่ครึ่งล้านคนขึ้นไปในจีน นอกจากนั้น ยังมีคลังสำรองอาวุธอีกมากจนเกินพอสำหรับสยบให้ชาติอื่น ไม่กล้าหือ

ใครกลัวใครกันแน่?

จีนจึงมีเหตุผลที่จะกลัวสหรัฐฯมากกว่าที่สหรัฐฯจะเป็นฝ่ายกลัว ทั้งในแง่สมรรถนะของกองทัพ หรือในแง่ความพร้อมและความตั้งใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสามเหล่าทัพของจีนเวลานี้ตั้งมั่นอยู่ภายในพรมแดนของจีนเอง และไม่ได้ยิงใคร ผิดกับสหรัฐฯ ที่กว่า 1 ใน 4 ของกำลังทหาร ระจำการณ์ในต่างแดนพรั่งพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ และระบบขนส่งลำเลียงเทียบเท่าขีดความสามารถของชาติอื่น ๆ ในโลกรวมกัน
ถ้าในอนาคตสหรัฐฯ ไม่เป็นฝ่ายยั่วยุแล้ว จีนก็ไม่น่าจะพยายามสร้างแสนยานุภาพทางทหารให้เท่าเทียมกับสหรัฐฯ อย่างที่สหภาพโซเวียตเคยทำ เนื่องจากประการแรกนั้น มีอุปสรรคด้านต้นทุน ยกตัวอย่าง การสร้างกองเรือในมหาสมุทรเปิด นอกจากต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินแล้ว ยังต้องมีกองเรือบริวาร นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ อีก เช่นการซ่อมบำรุง , เงินเดือนและสวัสดิการของกำลังพล
ถึงแม้เศรษฐกิจจีนสามารถรองรับรายจ่ายเหล่านี้ได้ก็จริง แต่กองทัพเรือจีนจะไร้ประสิทธิภาพไปพอสมควรทีเดียว หากไม่มีฐานทัพหลายแห่งในต่างแดนสำหรับเติมน้ำมันและเสบียงให้กองเรือ

นอกจากนั้น นับตั้งแต่เริ่มศตวรรษใหม่เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าจีนมีบทบาทเชิงรุกในการจัดตั้งเขตการค้าและทำข้อตกลงการค้ากับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เพื่อพัฒนาตลาดใกล้บ้าน แทนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ลดต้นทุนการขนส่ง และลดค่าใช้จ่ายด้านการทหาร อีกทั้งการกระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นยังจะสร้างผลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้แก่จีนอีกด้วย หากจีนรักษาภาพลักษณ์กองทัพเพื่อการป้องกันตนเองเอาไว้ การทำมาค้าขายกับชาติเหล่านี้ รวมทั้งอินเดียย่อมสะดวกขึ้น

หันหน้าเข้าหากัน

บางที เหตุผลดีที่สุดที่อธิบายว่าทำไมจีนจึงไม่แสวงหากองทัพเรือสำหรับมหาสมุทรเปิดนั้น ก็คืออาจเนื่องมาจากข้อเสนอของพลเรือเอกไมเคิล มุลเลน อดีตผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐฯ ที่ให้จัดตั้ง “กองทัพเรือพันลำ” (TSN) อันเป็น”บทใหม่แห่งความร่วมมือ ซึ่งเน้นการบริหารผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกันของทุกชาติที่อยู่ติดทะเล”

จีนอาจกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในTSN และสามารถรักษาเส้นทางขนส่งทางทะเลของตนให้ปลอดภัยได้โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้น เมื่อคำนึงถึงว่าการค้าทั่วโลกร้อยละ 90 และน้ำมันดิบทั้งหมดเกือบร้อยละ 70 ต้องขนส่งทางทะเลแล้ว จึงนับเป็นความจำเป็นอย่างชัดเจนที่สหรัฐฯ กับจีนต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาเส้นทางทะเลให้ปลอดภัย

ทว่าน่าเสียดายที่การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เน้นเชิงรุกอย่างมาก และความเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารอย่างล้นเหลือของสหรัฐฯ ทำให้จีนมีเหตุผลที่ดีมาก ที่ยังไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ รวมทั้งTSN

ฉะนั้น สหรัฐฯ จึงต้องสร้างความริเริ่มใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีนและแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อประเด็นไต้หวัน

สหรัฐฯ ควรแสดงให้จีนเห็นด้วยว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับนานาชาติมากขึ้น เช่นการลดคลังอาวุธนิวเคลียร์ และประกาศไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีก่อนดังที่จีนเคยทำมานานแล้ว นอกจากนั้น สหรัฐฯ ควรลงนาม และให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเลของยูเอ็น หลังจากมีการประกาศเมื่อปี2525 และ 155 ชาติ ซึ่งรวมทั้งจีน ได้ให้สัตยาบันไปแล้ว

สหรัฐฯ ต้องยุติการยึดครองอิรัก และให้กองกำลังทหารของตนในอัฟกานิสถานอยู่ภายใต้การควบคุมของยูเอ็น ตลอดจนลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีเหนือ หลังจากข้อตกลงหยุดยิงผ่านมานาน 55 ปีแล้ว นอกจากนั้น ควรยื่นช่อมะกอกให้อิหร่าน และเลิกสนับสนุนอิสราเอลตามลำพังแต่ฝ่ายเดียวเสียที

เมื่อสหรัฐฯ เองเป็นฝ่ายลดละการทำตัวเป็นภัยคุกคามต่อโลกได้แล้ว โอกาสเผชิญหน้ากับจีนก็ย่อมจะน้อยลง และการอ้างเหตุผลใดก็ตามในการเพิ่งงบประมาณกองทัพของจีนก็จะมีน้ำหนักเบา การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความมั่นคงให้แก่จีนและสหรัฐฯ แล้ว แต่ก่อให้เกิดความมั่นคงแก่โลกอีกด้วย




แปลและเรียบเรียงจาก “China threat. What threat?” ในเอเชียไทมส์ โดย

เฮนรี่ โรสมอนต์ จูเนียร์ ( Henry Rosemont, Jr) ศาสตราจารย์เกียรติคุณของเซนต์ แมรี่ส์ คอลเลจ แห่งแมรี่แลนด์ และนักวิชาการรับเชิญของแผนกศาสนศาสตร์,มหาวิทยาลัยบราวน์ เขายังเป็นนักเขียนให้กับ Foreign Policy in Focus อีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น