เอเยนซี – กรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดันมาตรการสีเขียวไม่หยุด สั่งขึ้นบัญชีดำผลิตภัณฑ์อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 100 ชนิด ล่าสุดมาตรการต้านถุงพลาสติกออกผล โรงงานยักษ์ในเหอหนันเจ๊ง เหตุขายไม่ออก เจอกฎหมายเล่นงาน
เมื่อวันอังคาร (26 ก.พ.) กรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสั่งขึ้นบัญชีดำ ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันที่ส่งผลอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมรวม 141 ชนิดอาทิ “ยาเบื่อหนู, ดีดีที, และแบตเตอรี่ไนแคด (NiCad) ที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กอาทิ โน๊ตบุ๊ก” พันเยี่ยว์ รองผู้อำนวยการกรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเผย
“ผลิตภัณฑ์ในบัญชีดำ เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม อาทิกากตะกอนโครเมียม ที่เกิดจากกระบวนการผลิต มีคาร์ซิโนเจนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอยู่มาก นอกจากนี้ตะกอนโครเมียมยังเป็นสิ่งที่บำบัดได้ยาก”
“นอกจากควบคุมการผลิตสินค้าพวกนี้ เราควรยกเลิกการคืนภาษีด้วย เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม” พันกล่าว พร้อมเผยเป็นนัยว่า ทางกรมอาจยกเลิกการคืนภาษีส่งออกให้กับสินค้า 39 รายการที่อยู่ใน 141 บัญชีดำ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการค้าสีเขียวและกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก
เจ๊งสังเวยกฎเข้ม
ก่อนหน้านี้ปักกิ่งได้ทยอยเข็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นระยะๆ โดยมาตรการที่เริ่มออกผลชัดเจนคือ การสั่งจำกัดใช้ถุงพลาสติก
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ทางการได้ประกาศคุมเข้มห้างร้านงดแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2008 เป็นต้นไป
มาตรการดังกล่าวทำให้ หัวเฉียง ยักษ์ถุงพลาสติกของจีน ในมณฑลเหอหนันต้องปิดกิจการลงทันทีในวันที่ 18 ม.ค. เนื่องจากถุงพลาสติกที่หัวเฉียงผลิตกว่า 90% อยู่ในข่ายที่ทางการห้ามแจกจ่าย
ทางรัฐบาลระบุว่า ห้ามใช้ถุงพลาสติกขนาดบางกว่า 0.025 มิลลิเมตร แต่ทางหัวเฉียงดำเนินการผลิตถุงพลาสติกที่มีขนาดบางมาก ฉะนั้นจึงต้องปิดโรงงานไปในที่สุด
หัวเฉียงเป็นโรงงานที่มีศักยภาพในการผลิตถุงพลาสติกถึง 250,000 ตันต่อปี รวมมูลค่า 2,200 ล้านหยวน
นอกจากนำมาตรการสีเขียวมาใช้กับการผลิต และส่งออกผลิตภัณฑ์ด้วยการขึ้นบัญชีดำแล้ว ทางการจีนยังใช้มาตรการสีเขียวกับตลาดหุ้น, ธุรกิจประกัน และ การปล่อยกู้ โดยมาตรการเหล่านี้จะเน้นตรวจสอบว่าบริษัทต่างๆ สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมทั้งบังคับให้ธุรกิจเหล่านี้รับผิดชอบต่อสังคม อาทิ ระบบประกันสีเขียว ซึ่งจะบังคับใช้ในปี 2015 บังคับให้อุตสาหกรรม ที่ปล่อยสารพิษทำประกัน เพื่อนำเงินประกันดังกล่าวไปชำระให้กับเหยื่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของอุตสาหกรรม