อาหารแสนอร่อยนั้นนอกจากให้คุณแล้วยังสามารถให้โทษได้ การรับประทานได้อย่างปลอดภัยและได้รับประโยชน์เต็มที่นั้นตอบสนองได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะวิเคราะห์ว่าอาหารที่เรากินนั้นมีอันตรายหรือไม่
หลายคนอาจไม่ทราบนิยามของอาหารที่รับประมานอยู่ทุกมื้อ ทั้งนี้ระหว่างการสัมมนา "สถานภาพของสินค้าไทยเพื่อการแข่งขันในเวทีการค้าโลก" ณ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.51 ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อาหารคือ สิ่งที่กิน ดื่ม อม เพื่อค้ำจุนชีวิต แต่หากเพื่อความสวยงามจัดอยู่ในเครื่องสำอาง และถ้าเพื่อรักษาโรคจัดว่าเป็นยา ทั้งนี้นอกจากการบริโภคตามปกติแล้วผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องกระเสือกกระสนหาความรู้ด้วย
ดร.ทิพย์วรรณ กล่าวว่า อย.คุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารของ อย.ใน 2 เป้าหมายคือ ความปลอดภัยซึ่งมี 3 ด้านคือ ความปลอดภัยด้านจุลินทรีย์ เคมีและกายภาพ และอีกเป้าหมายคือความสมประโยชน์ ซึ่งมี 2 ด้านคือ เอกลักษณ์และคุณค่าโภชนาการของอาหาร โดยการกำหนดค่ามาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนั้นต้องสามารถวัดหรือพิสูจน์ได้ด้วยวิธีวิเคราะห์ที่เป็นมาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมและสมประโยชน์ ทั้งนี้การกำหนดค่ามมาตรฐานของอาหารต่างๆ นั้นจำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการทดสอบ
"นมที่อ้างว่าช่วยพัฒนาสมองของเด็ก เด็ก 2 ขวบสามารถคิดเลขเลขได้เลย อาจจะยังเดินไม่ได้แต่คิดเลขได้แล้ว ต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยอมรับ" ดร.ทิพย์วรรณกล่าวและต่อเรื่องค่ามาตรฐานความปลอดภัยอาหารว่า ค่ามาตรฐานต่างๆ ที่ออกมานั้นต้องผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อคำนวณหาค่าความเสี่ยง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานมาก
ตอกย้ำความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการวัดมาตรฐานความลปลอดภัยอาหารด้วย นายประวิทย์ สันติวัฒนา กรรมการบริหาร บริษัทน้ำมันบริโภคไทย จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันรำข้าว "คิง" โดยได้ยกตัวอย่างกรณีเมื่อ 6-7 ปีที่ลูกค้ารายใหญ่ได้สอบถามว่าสามารถตรวจหาสาร PAHs ในน้ำมันได้หรือซึ่งสารดังกล่าวมีความเป็นพิษที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ ณ เวลานั้นยังไม่ผู้ตรวจสอบได้ และแม้แต่สหภาพยุโรปที่กำหนดมาตรฐานจำกดัสารชนิดนี้นั้นก็ยังมีห้องปฏิบัติการเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถตรวจสอบได้